วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นักเคลื่อนไหวพม่าร้อง โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายควรโปร่งใส



นักเคลื่อนไหวพม่าจากสมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association -DDA) ที่เข้าร่วมงานเสวนาเรื่องโครงการทวาย - ความมั่นคงของมนุษย์และธรรมาธิบาลการลงทุนข้ามชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เรียกร้องให้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมีความโปร่งใสและเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ไม่กระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่และในด้านสิ่งแวดล้อม

 



 

ตั้นสิ่น หนึ่งในผู้ประสานงานของกลุ่ม DDA ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่กล่าวว่า ความโปร่งใสและความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับโครงการที่จะเกิดขึ้นในเมืองทวาย ทางภาคใต้ของประเทศพม่า โดยตั้นสิ่นกล่าวว่า ในขณะที่ผู้นำพม่าและไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการพัฒนาทวายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลับพบว่า ชาวบ้านในเมืองทวายกลับไม่ได้รู้อะไร และความคิดเห็นของชาวบ้านก็ยังไม่ถูกนำไปพิจารณา

 

“ถึงแม้ว่าเราจะเป็นองค์กรเล็กๆ แต่เราก็แจ้งให้ชาวบ้านทราบว่าเรากำลังทำอะไร โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นโครงการใหญ่ และจะทำให้ชาวบ้านกว่า 3 หมื่นคนต้องอพยพย้ายที่ไปอยู่ที่อื่น ดังนั้นรัฐบาลพม่าควรแจ้งให้เราทราบว่า ข้อตกลงระหว่างไทยและพม่าเกี่ยวกับโครงการพัฒนาทวายมีอะไรบ้าง ” ตั้นสิ่นกล่าว

 

ขณะที่ภายในงานเสวนาครั้งนี้ มีการแสดงภาพเกี่ยวกับความเสียหายของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งมีสาหตุมาจากโครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย  ด้านโก เล ลวิน อีกหนึ่งผู้ประสานงานของกลุ่ม DDAกล่าวว่า เริ่มเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการไม่ได้รับเงินชดเชยที่เป็นธรรม เช่นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของแม้น้ำทวายได้รับเงินชดเชยเพียงครึ่งเดียวเป็นต้น

 

นอกจากนี้ชาวบ้านเริ่มไม่พอใจที่ทางการท้องถิ่นไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านร้องเรียนและเจรจากับทางบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ( มหาชน ) โดยตรง อีกทั้งทางการเริ่มจำกัดพื้นที่จับปลา ทั้งที่อาชีพประมงเป็นอีกอาชีพหลักของชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำไร่ทำนาบนที่ทำกินของตัวเอง หากทางการประกาศว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย นักเคลื่อนไหวพม่ายังเตือนว่า จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านโครงการทวายอย่างรุนแรงจากชาวบ้าน หากทางการก่อสร้างเขือนบริเวณที่ชื่อนาบูเล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแผนจะสร้างโครงการเพราะจะทำให้หมู่บ้านโกโลนตาต้องจมอยู่ใต้น้ำ

 

โก เล ลวิน กล่าวว่า การพัฒนาควรหมายถึงการช่วยเหลือคนในท้องถิ่นเป็นอันดับแรก ไม่ใช่การจัดการและหนุนหลังให้โครงการของต่างชาติเข้ามาทำลายวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

 

“หากประธานธิบดีเต็งเส่งเคารพประชาชน เขาคงไม่ทำลายวิถีชีวิตและสภานแวดล้อมของเรา เราตั้งใจที่จะให้ชาวบ้านรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เช่นในประเด็นการถูกยึดที่ การไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม การถูกย้ายให้ไปอยู่ที่อื่น และปัญหามลพิษ นั่นจึงทำให้เรามาที่นี่ ” โก เล ลวินยังกล่าวแสดงความเป็นห่วงว่า ชาวบ้านในเขตโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะได้รับผลกระทบเหมือนเช่นที่คนไทยได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

“เรารู้สึกว่า มาบตาพุดเหมือนส้วมจากประเทศไทย และขณะนี้กำลังจะมาตั้งอยู่ในเมืองทวายของเรา” นักเคลื่อนไหวพม่ากล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy/Kaowao News

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น