หมู่บ้านอะลวนโซ, ประเทศพม่า - ชื่อของหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากย่างกุ้ง 25 กิโลเมตรแห่งนี้มีหมายถึง ความคิดถึง ซึ่งนอกจากมันจะเป็นความหมายของชื่อหมู่บ้านแล้ว ยังเป็นความรู้สึกของชาวนาที่นี่ ที่มีต่อที่ดินที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นของตน และช่วงเวลาที่เคยอยู่ที่นี่เมื่อหลายปีมาแล้ว
เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐได้แจ้งให้ชาวบ้าน3,000 คนจากหมู่บ้านอะลวนโซและและหมู่บ้านใกล้เคียงอีก 5 หมู่บ้านให้ออกจากหมู่บ้านและทิ้งที่นาไว้ เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวไปสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษกว่า 2,400 เฮคเตอร์ หรือราว 15,000 ไร่ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 500 เมกกะวัตต์ และสวนอุตสาหกรรมในโครงการ หากชาวบ้านไม่ยอมย้ายออกไปจากพื้นที่ภายใน 2 สัปดาห์จะถูกจำคุก 30 วัน
ชาวบ้านหลายคนได้เวนคืนที่ดินได้แล้วตั้งแต่ปี 1996 ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลได้จ่ายค่าชดเชยให้เพียง 20 ดอลลาร์ หรือ แค่ประมาณ 600 บาทสำหรับที่ดินที่น้อยกว่าครึ่งเฮกเตอร์ หรือ ประมาณ 3 ไร่เศษ พวกเขาไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนจึงอยู่ที่เดิมต่อไป และอยู่จนถึงวันนี้ ซึ่งกำหนดวันที่จะต้องออกจากพื้นที่คือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ได้ผ่านไปแล้ว
"ตอนนี้เรากลัวว่าเจ้าหน้าที่จะเข้ามาพร้อมกับรถแทรกเตอร์และทำลายหมู่บ้านเก่าแก่ของเรา" ลุงมิ้นหล่าย ชาวนาวัย 58 ปี กล่าว เขาเกิดที่อะลวนโซเช่นเดียวกับบรรพบุรุษของเขา และใช้ชีวิตอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่ ปลูกข้าว เลี้ยงแกะ เลี้ยงไก่ เช่นเดียวกับปู่ย่าตาทวด
ทุกวันนี้ เขาพยายามหาความรู้เรื่องกฎหมายของพม่าจากในหนังสือ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ได้เข้ามาปักป้ายสีเขียวในทุ่งนาทั่วหมู่บ้านอะลวนโซโดยมีข้อความว่า "ที่ดินแห่งนี้เป็นของรัฐบาล ห้ามเข้าไปทำงานหรือถ่ายทุกข์" แต่ลุงมิ้นหล่ายและชาวบ้านคนอื่นๆ ก็ตอบโต้โดยเขียนป้ายสีแดงที่ใหญ่กว่า ข้อความว่า ที่ดินเหล่านี้เป็นของพวกเขา มีการจ่ายภาษีให้แก่รัฐ และภายใต้กฎหมายพม่า ที่ดินใดๆ ที่ยึดไปเพื่อโครงการพัฒนา หากไม่กระทำภายใน 6 เดือน ที่ดินนั้นจะต้องกลับคืนไปเป็นของเจ้าของเดิม
กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนพม่ากว่า 60 ล้านคน เป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ชาวนาคือกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดและไม่มีอำนาจ ในช่วงหลายทศวรรษที่ประเทศถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ดินของชาวนาถูกเจ้าหน้าที่ยึดอยู่บ่อยครั้ง ในบางครั้งคำสั่งก็มีเพียงประกาศออกทางเครื่องขยายเสียงเท่านั้น โดยมีการจ่ายค่าชดเชยให้น้อยมาก หรือไม่ก็ไม่มีการจ่ายค่าชดเชยเลย ที่ดินมากกว่า 8 แสนเฮกเตอร์ หรือกว่า 5 ล้านไร่ ถูกถ่ายโอนไปให้แก่บริษัทเอกชนที่มีผู้มีอิทธิพลในรัฐบาลเป็นเจ้าของ ซึ่งมักจะถูกนำไปสร้างเขตอุตสาหกรรมและโครงการบ้านจัดสรรค์
ปัจจุบัน ชาวนาต้องเผชิญกับทั้งการขาดแคลนที่ทำกินและหนี้สิน รายงานในปี 2011 โดยฮาร์วาดเคเนดีสคูล ระบุว่า ชาวนาจำนวนมากในพม่ามีหนี้สินมากกว่ารายได้ที่คาดว่าจะหาได้ทั้งปี เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐมนตรีชลประทานและเกษตรกรรมได้ออกมากล่าวว่า ชาวนาควรจะกินข้าวเหลือแค่วันละมื้อจึงจะสามารถใช้หนี้ที่ติดตัวได้ (การออกมากล่าวเช่นนี้สร้างความสับสนแก่ประชาชนเนื่องจากเมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ออกมาให้คำมั่นว่าจะให้เงินช่วยเหลือชาวนาเพื่อแบ่งเบาภาระ)
เท่าที่ทราบ ชาวนาไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมไปเป็นอุตสาหกรรม แต่ไม่พอใจที่ดินของพวกเขาจะต้องถูกยึด แม้ว่าการลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาในพม่าจะก่อให้เกิดการจ้างงาน แต่ชาวนาจำนวนมากเชื่อว่า อย่างดีที่สุดพวกเขาก็คงเป็นได้แค่ลูกจ้างผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมเท่านั้น
และแล้วการประท้วงก็เกิดขึ้นแพร่ขยายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคกลางของพม่า อย่าง ย่างกุ้งและพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี อู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ซึ่งบางครั้งก็มีการใช้ความรุนแรงในการปราบปราม แม้ว่ารัฐบาลพม่าจะได้รับคำชมเชยว่าได้เปลี่ยนแปลงประเทศไปอย่างมาก แต่พวกเขาก็ยังไม่ทิ้งนิสัยเดิมในการใช้ไม้แข็งกับผู้ประท้วง
เหตุการประท้วงครั้งใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาที่เหมืองแร่ทองแดงในภาคกลางของประเทศ ซึ่งเหมืองแร่ดังกล่าวดำเนินการโดยบริษัทที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ หลังจากชาวบ้านและพระสงฆ์ปักหลักประท้วงในพื้นที่เหมืองแร่อยู่หลายสัปดาห์ เพื่อเรียกร้องให้มีการปิดเหมืองแร่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่รัฐได้จุดไฟเผาแค้มป์ของผู้ประท้วงส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหลายราย
และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในตำบลหนึ่งในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระสดี ชาวนากว่า 300 คนพยายามที่เรียกร้องที่ดินที่พวกเขากล่าวว่าถูกยึดไปโดยไม่สมัครใจในสมัยเผด็จการทหาร ซึ่งได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้มีตำรวจเสียชีวิต 1 คนและมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 40 คน
การประท้วงของชาวนาทำให้ผู้คนสนใจและรู้สึกเห็นใจเป็นจำนวนมาก เพราะประชาชนธรรมดาๆ ทั่วไปต่างก็กังวลว่า การหลั่งไหลเข้ามาของการลงทุนจากต่างชาติจะเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะกองทัพและนักธุรกิจระดับสูงเท่านั้น
แรงจูงใจหลักๆ ของบรรดานายผลในการปฏิรูปประเทศ หลังจากประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงมาหลายทศวรรษก็เพื่อทำให้สถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมเงียบลง แต่ก็ไม่ได้สละอำนาจทางการเมืองและการผูกขาดผลประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศแต่อย่างใด แต่เมื่อชาวนาออกมาประท้วง นอกจากเรื่องราวร้องทุกข์จะยังคงอยู่ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำนั้น จะพูดว่าเอารัดเอาเปรียบก็ยังถือว่าน้อยไป
แปลจาก Occupy Rice Paddy โดย Swe Win
New York Time 5 มีนาคม2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น