วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

นักโทษการเมืองตกค้าง กับ สัญญาที่ยังคงทวงถาม

kachin1

มิตจีนา ประเทศพม่า - เมื่อประธานาธิบดีเต็งเส่งให้คำมั่นว่า นักโทษการเมืองพม่าทุกคนจะได้รับการปล่อยตัวภายในสิ้นปีที่ผ่านมา ควอน นัน เชื่อว่า สามีของเธอจะเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

 

บราง ยัง วัย 25 ปี ถูกกองทัพจับกุมเมื่อเดือนมิถุนายน 2012 ขณะกำลังต้อนวัวใกล้ๆ กับค่ายผู้พลัดถิ่น ที่ที่ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ เขากับ ละไพ กัม ชายชาวคะฉิ่นวัย 52 ปีอีกคนหนึ่งถูกทรมานร่างกายและละเมิดทางเพศเพื่อบังคับให้ยอมรับสารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกองกำลังกลุ่มต่อต้าน

 

เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวนหลายร้อยคนจริง เป็นการส่งสัญญาณครั้งล่าสุด ถึงการเปลี่ยนแปลงจากการปกครองแบบเผด็จการที่มีมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ จนมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายกฎหมายที่เข้มงวดต่อสื่อ

 

ทว่า ชายเลี้ยงวัวทั้งสองคนที่กล่าวมาข้างต้น ยังคงอยู่ในคุก แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้ทำตามที่ได้สัญญาไว้แค่เพียงบางส่วน ขณะที่กลุ่มเพื่อสิทธิกล่าวว่า อดีตนักโทษการเมืองยังเป็นเป้าหมายที่จะถูกจับกุมอีกได้ทุกเวลา และยังมีคนจำนวนมากที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกจากกฎหมายการจับกุมชาวบ้านไม่เลือกหน้า โดยมีชาวคะฉิ่นและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกตัดขาดโดยการสู้รบเป็นเป้า

 

"ชีวิตของประชาชนถูกทำลาย และไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้" แมทธิว สมิท ผู้อำนวยการ Fortify Rights องค์ที่ปรึกษาในกรุงเทพ กล่าว "นี่ไม่ใช่การปฏิรูป"

 

ข้อมูลจากองค์กรช่วยเหลือนักโทษการเมือง หรือ Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) ระบุว่า มีนักโทษการเมืองที่ยังคงถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 33 คน โดยมีนักโทษ166 คน กำลังรอการพิจารณาคดี ขณะที่มีนักโทษอย่างน้อย 10 คน เพิ่งถูกจับกุมเมื่อต้นปีมานี้ ส่วนหนึ่งถูกจับกุมภายใต้กฎหมายเดียวกับที่คนอื่นๆ กำลังขอนิรโทษกรรมอยู่

 

ด้านนักเคลื่อนไหวกล่

าวว่า มาตรการหลายข้อที่ถูกใช้ในการจับกุมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมในการกระทำผิดกฎหมาย ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมประชาชนได้โดยไม่ต้องมีการตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ

 

นักเคลื่อนไหวเห็นว่า กฎหมายดังกล่าว ที่มีมานานตั้งแต่สมัยอาณานิคม กำลังถูกใช้คุกคามประชาชนที่อยู่ในรัฐคะฉิ่น ดินแดนเหนือสุดของพม่าอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว มีการสู้รบปะทุขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2011 ระกว่างกองกำลังเอกราชคะฉิ่นกับกองทัพพม่า หลังจากที่มีการลงนามในสัญญาหยุดยิง มานานกว่า 17 ปี โดยที่กองกำลังคะฉิ่นต้องการอำนาจในการปกครองตนเองในแบบสหพันธรัฐ

 

 

ในจำนวนประชาชนนับแสนคนที่ต้องอพยพหนีตายเพราะสงครามนั้น มีชาวบ้านกว่า 7 พันคง อาศัยอยู่ในค่ายอพยพผู้พลัดถิ่นภายในที่ตั้งอยู่รอบๆ เมืองมิตจีนา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายรัฐบาลได้เข้าควบคุม ท่ามกลางเหตุระเบิดลึกลับหลายครั้งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ กลุ่มองค์กรเพื่อสิทธิระบุว่า มีชายชาวคะฉิ่นหลายสิบคนถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและถูกทำร้ายโดยไมมีความผิด

 

 

เมื่อเดือนมิถุนายน 2012 ที่ผ่านมา บราง ชอว์ง ชาวนาวัย 26 ปี ถูกจับกุมในเขตที่ค่ายผู้ลี้ภัยตั้งอยู่ หลังจากหนีภัยการสู้รบที่เกิดขึ้นใกล้ๆ กับหมู่บ้านของเขามาได้ไม่นาน เขาเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองทรมานร่างกายเขาเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน บังคับให้เขายอมรับสารภาพโดยที่เขาไม่ได้ทำผิด เขาถูกมัดไม้กับเก้าอี้ ถูกทุบตี ก่อนที่จะถูกมีดที่เผาไฟมาร้อนๆ นาบลงที่แก้ม ต้นขา และสะดือ ซึ่งยังมีรอยแผลเป็นให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้

 

 

บราง ชอว์ง ถูกส่งตัวไปยังเรือนจำเป็นเวลา 2 ปี ในข้อหาเป็นทหารของกองกำลังคะฉิ่นและมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด มาร์ คาร์ ทนายความของเขาบอกว่า คำสารภาพของเขาในชั้นต้นได้รับการปฏิเสธจากผู้พิพากษาเนื่องจากมีหลักฐานว่าถูกขู่บังคับ แต่มีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาใหม่

 

“ผมไม่มีทางเลือก จึงรับสารภาพไปอีกครั้ง” บราง ชอว์ง กล่าว เขากกลัวว่าจะถูกทรมานร่างกายอีก

 

 

แรงกดดันจากสาธารณะชนช่วยให้ บราง ชอว์ง ได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม หนึ่งสัปดาห์หลังจากประธานาธิบดีเต็งเส่งประกาศเรื่องการนิรโทษกรรม แต่มาร์ คาร์ กล่าวว่า เขามีคดีความที่คล้ายๆ กันต้องสะสางอีกหลายคดี ซึ่งมีแต่เรื่องที่สร้างความไม่พอใจในกลุ่มชาวคะฉิ่นต่อรัฐบาลกลางมากขึ้น

 

เฉพาะในปี 2012 เพียงปีเดียว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย ได้บันทึกว่า มีคดีถึง 36 คดีที่ประชาชนในรัฐคะฉิ่นถูกจับกุมและทรมานร่างกายโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐ โดยกล่าวหาว่า มีการติดต่อกับกองกำลังคะฉิ่น

 

 

บราง ยัง และละไพ กัม คนเลี้ยงวัว 2 คนที่ถูกจับกุมถูกกล่าวหาว่าเชื่อมโยงกับกองกำลังคะฉิ่นและเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดหลายครั้ง มาร์ คาร์ กล่าวว่า ในขณะที่พวกเขาถูกทหารควบคุมตัวไป พวกเขาถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้ายืนและบังคับให้มีเพศสัมพันธุ์กันแบบผิดธรรมชาติ ขณะที่ทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้ไปให้ปากคำกับศาล

 

 

เมื่อเดือนที่ผ่านมา หน่วยงานจากองค์การสหประชาชาติ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องการจับกุมโดยพละการ ได้แถลงคำวินิจฉัยว่า “ศาลทหาร หรือการให้กองทัพมีบทบาทในการเป็นผู้ตัดสินความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ต่ำกว่าหลักสิทธิมนุษยชนสากล”

 

kachin2

 

นอกจากนี้ยังระบุว่า ละไพ กัม ถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการพิจารณาตามกระบวนการทางกฎหมาย และเรียกร้องให้มีได้รับการปล่อยตัวในทันที ในขณะที่ชี้ว่า รัฐบาลพม่าไม่ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาในการทรมานร่างกาย

 

ขณะที่ตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย ได้ได้ติดต่อลับหลังจากได้มีการโทรศัพท์ไปขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ที่ผ่านมา หน้าเฟซบุ๊คของนาย เยทุต โฆษกรัฐบาลได้โพสต์ข้อความว่า “ประธานาธิบดีได้ทำตามที่ให้สัญญากับประชาชนแล้ว”

 

ขณะที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในพื้นที่โต้แย้งว่า การจับกุมที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การยัดข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง และการทรมานร่างกาย เป็นส่วนหนึ่งในแผนการขู่ขวัญผู้พลัดถิ่นภายในชาวคะฉิ่นจำนวนหลายหมื่นคน ให้ไม่กล้ากลับบ้านที่อยู่ในเขตที่รัฐบาลควบคุมไว้ ในขณะที่ความช่วยเหลือจากนานาชาติถูกจำกัดนับตั้งแต่การสู่รบเริ่มขึ้น

 

บางส่วนมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การใช้อำนาจศาลเป็นเครื่องมือหาความชอบธรรมให้กับตนเองของกองทัพพม่าเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐภายของรัฐบาลเต็งเส่งยอมโอนอ่อนผ่อนตาม กองกำลังของรัฐภาคเหนือ ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของประธานาธิบดีในการหยุดยิง

 

สำหรับญาติๆ ของนักโทษที่ถูกคุมขัง ที่อาศัยอยู่ในค่ายอพยพรอบเมืองมิตจีนา การรอคอยของพวกเขาถูกยืดเวลาออกไปอีก

 

ลาชิ ลู วัย 45 ปี ภรรยาของ ละไพ กัม อาศัยอาหารที่ได้รับแจกในการประทังชีวิจ และยังหางานทำไม่ได้ ครั้งล่าสุดที่เธอพบกับสามีในคุก เธอต้องสะเทือนใจกับอาการป่วยที่ย่ำแย่ลงของเขา และยิ่งไปกว่านั้นคือสุขภาพจิตที่เสียจากการถูกลงโทษ

 

“บางทีวันหนึ่ง เขาอาจจะได้รับการปล่อยตัวอีกครั้ง” เธอบอก “แต่เขาอาจจะไม่เหมือนคนเดิมอีกต่อไป”

 

แปลจาก A promised political amnesty in Burma remains incomplete
โดย Jason Motlagh
www.washingtonpost.com
24 กุมภาพันธ์ 2557


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น