ย่างกุ้ง ประเทศพม่า - บรรดาทนายความในพม่าต่างก็คุ้นเคยกับการติดสินบนเจ้าหน้าที่ในศาลและผู้พิพากษากันเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่เป็นที่รู้กัน แต่เมื่อมีข่าวแพร่สะพัดเมื่อปีที่แล้วที่ ภรรยาของผู้พิพากษาคนหนึ่งได้เรียกเงินค่าสินบนถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 4.5 ล้านบาท) เพื่อให้ตินสินคดีตามที่ต้องการ ทำให้แม้แต่ทนายความที่เฉื่อยชาที่สุดก็ให้ความสนใจตามคดีดังดล่าวเป็นพิเศษ
ภรรยาของผู้พิพากษามาที่บ้านของฉันและเรียกเงิน ดอว์จาพู ชาวบ้านจากย่างกุ้งที่เกี่ยวข้องกับคดีเรื่องที่ดินที่ยืดเยื้อมานาน กล่าว
"ภรรยาผู้พิพากษาบอกว่า 'เรื่องคดี ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฉัน'" ดอว์จาพู กล่าว เธอจ่ายเงินตามที่ขอแต่ก็ได้คืนหลังจากที่คดีจะเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ประชาชน
แม้แต่รัฐบาลเองก็ออกมายอมรับว่า การคอรัปชั่นยังคงฝังรากลึกในพม่า เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการคณะกรรมการตุลาการในรัฐสภาได้รับเรื่องร้องเรียนกว่า 1 หมื่นเรื่อง โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่น
พม่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายๆ ด้าน นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคของรัฐบาลเปด็จการทหารที่ปกครองประเทศมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ ในสภาก็มีการถกกันเกี่ยวกับปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน ด้านสื่อมวลชนก็มีการยกเลิกการเซ็นเซอร์ ความหวาดกลัวว่าจะถูกทำร้ายหรือจับกุมจากตำรวจหรือทหารก็ลดลง แต่ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมนั้นกลับทำให้นักกฎหมายจำนวนมากมีความรู้สึกในด้านลบต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศตามที่โอ้อวดนักหนา
"วิธีเดียวที่จะรักษาระบบนี้ได้ก็คือ ทำลายมันซะแล้วก็เริ่มสร้างมันขึ้นมาใหม่" ทูทูอ่อง ทนายความวัย 29 ปี กล่าว เธอเปิดเผยว่า มีการจ่ายเงินกันแทบจะทุกคดีที่เธอดูแล
ในเวลาที่พม่าเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศเช่นนี้ หลักนิติธรรมที่อ่อนแอเป็นหนึ่งในอุปสรรคหลายๆ อย่างของบริษัทต่างชาติ ซึ่งทำให้ปริมาณการลงทุนไม่มากเท่าที่รัฐบาลคาดหวังไว้
"บริษัทต่างชาติกลัวศาล" Daniel Aguirre ที่ปรึกษาของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (The International Commission of Jurists: ICJ) ในพม่า กล่าว "การที่จะให้กิจกรรมทางเศรษกิจดำเนินไปได้ต่อเนื่อง คุณต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่ทำงานได้จริง"
ในพม่าแทบจะไม่มีการฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวกับการติดสินบนในศาล แม้แต่กรณีของดอว์จาพู ซึ่งอูบูเลย์ ผู้พิพากษาคนที่เกี่ยวข้องถูกบังคับให้เกษียณไปเมื่อปีที่แล้ว แต่เขากับภรรยากลับไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ ด้านเจ้าหน้าที่ศาลในย่างกุ้งที่ผู้พิพากษาคนดังกล่าวประจำอยู่ กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้ติดต่อเขาและไม่มีเบอร์ติดต่อเขาได้
ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดก็ไม่ได้ตอบกลับเพื่อแสดงความคิดเห็นกับกรณีดังกล่าวหรือแม้แต่เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม
ทนายความต่างกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการติดสินบนแทบจะทุกขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่เสมียน ผู้บันทึกข้อความ คนจดชวเลข ไปจนถึงผู้พิพากษา ทั้งค่าน้ำชาสำหรับคนจดชวเลข ค่าธรรมเนียมปลดล็อคสำหรับการบันทึกถ้อยคำในศาล และค่าบรรณาการสำหรับผู้พิพากษา
ทนายความหลายคนกล่าวว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการคอรัปชั่นคือรายได้ของผู้พิพากษาที่ค่อนข้างต่ำ โดยอยู่ที่ประมาณ 150 ดอลลาร์ (ประมาณ 4,500 บาท)
"พวกเขาอยู่ไม่ได้กับรายได้เท่านั้น พวกเขาจึงต้องหาเงินจากที่อื่น" โรเบิร์ต ซานอ่อง ทนายความอาวุโสคนหนึ่งในพม่ากล่าว "ความยุติธรรมจะตกเป็นของผู้ที่จ่ายเงินมากที่สุด"
อูมินเส่ง ทนายความในย่างกุ้งที่ทำงานมาทั้งแต่ช่วงปี 1970 กล่าวว่า มีการให้เงินผู้พิพากษาจากฝ่ายที่ชนะคดีเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ
"ลูกความจะเข้าไปหาผู้พิพากษาเพื่อขอบคุณ" มินเส่ง กล่าว "มันเป็นธรรมเนียมของชาวพม่า"
ขิ่นวุทยีอู ทนายความรุ่นใหม่ที่มีสำนักงานอยู่ในใจกลางเมืองย่างกุ้ง กล่าวว่า คดีไหนที่ไม่มีการจ่ายเงินจะได้รับการดำเนินการอย่างล่าช้า
"ถึงแม้ว่ามันจะค่อนข้างชัดเจนว่า ลูกความคนนี้จะชนะคดี แต่คุณก็ต้องจ่ายเงินอยู่ดี" เธอกล่าว ลูกความคนหนึ่งของเธอที่ปฏฺเสธไม่จ่ายใต้โต๊ะให้กับผู้พิพากษาในคดีที่ดินต้องแพ้คดี แต่ก็ชนะอุทธรณ์ในเวลาต่อมา
กระบวนการทางกฎหมายในพม่าที่อิงอยู่กับกฎหมายของอังกฤษ ต้องตกต่ำลงในช่วง 5 ทศวรรษที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า
โดยถูกทำลายในช่วงปี 1970 โดยนายพลเนวิน ผู้ที่นำระบบผู้พิพากษาของประชาชนมาใช้ โดยทหารพม่าและผู้ที่ไม่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย
"พวกเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายเลย" ซานอ่อง กล่าว เขาเคยถูกจับขังคุกถึง 6 ครั้งจากการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในช่วงของรัฐบาลทหาร "เขารู้จักอย่างเดียวคือ เงิน"
ในปี 1963 บทสรุปทางกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองโดยศาลสูงสุดของประเทศ ซึ่งปกติจะเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลของนักกฎหมาย มีจำนวนมากกว่า 1000 หน้า แต่สิบปีหลังจากนั้น ในยุคของผู้พิพากษาของประชาชน เหลือแค่หนังสือเล่มเล็กๆ จำวน 43 หน้า
ในช่วงที่เผด็จการทหารเข้ายึดอำนาจในปี 1988 เป็นระบบ "ยื่นซอง" โดยบรรดานายพลทั้งหลายจะเป็นผู้กำหนดผลการตัดสินคดี โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แล้วส่งซองคำตัดสินไปให้ผู้พิพากษาอ่านในศาล
ข้อมูลจากรายงานเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (The International Commission of Jurists: ICJ) ปัจจุบัน พม่ามีรัฐบาลพลเรือน แต่ยังคงได้รับอิทธิพลจากคนสำคัญในกองทัพอยู่ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้ลดอุปสรรคที่กีดขวางในกระบวนการยุติธรรมได้มากแล้ว แต่รายงานฉบับดังกล่าวก็ได้สรุปว่า บรรดาเจ้าหน้าที่ยังคงใช้อิทธิพลอย่างไม่เหมาะสมและนั่นทำให้การคอรัปชั่นยังคงเกิดขึ้นเหมือนที่กล่าวขานกัน
การขาดแคลนทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรมของพม่าเห็นได้จากศาลสูง ที่เป็นอาคารทรุดโทรมสมัยอาณานิคม เต็มไปด้วยต้นไม้รกๆ ตามผนังถูกปกคลุมไปด้วยไลเคน ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่างกุ้ง ที่ห้องพิจารณาคดีติดหลอดไฟฟูโอเรสเซ้นท์อยู่บนเพดานที่มีสายไฟพันกันยุ่งเหยิง เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีด นั่งอยู่บนโต๊ะไม้ที่ดูเก่าพอๆ กับอาคารหลังนี้
ทนายความขิ่นวุทยีอู กล่าวว่า ในห้องพิจารณาคดีมีการจ่ายเงินแลกเปลี่ยนเงินกันอย่างฉลาด สินบนเจ้าหน้าที่มักจะถูกสอดไว้ในหนังสือที่อยู่บนโต๊ะ เป็นต้น ผู้พิพากษาแทบจะไม่ได้เป็นคนคุยเรื่องเงินด้วยตัวเอง แต่จะมีเสมียนทำหน้าที่เป็นตัวกลาง
ทนายความขิ่นวุทยีอู กล่าวว่าระดับของการคอรัปชั่นไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ประเทศจะมีเสรีภาพมากขึ้นก็ตาม "สิ่งที่แตกต่างที่เห็นหลักๆ คือ ผู้พูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น"
ทว่า การพูดก็ยังคงเป็นเรื่องที่เสี่ยงอยู่ คนที่พยายามจะรายงานเรื่องการคอรัปชั่นก็เสี่ยวที่จะถูกตั้งข้อหาคอรัปชั่นเสียเอง
ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีคดีความเกี่ยวกับการหย่าร้างกำลังถูกจำคุก 3 ปีหลังจากเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีเต็งเส่งและเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ เพื่อร้องเรียนให้ดำเนินคดีกับผู้พิพากษาที่เรียกเก็บเงินเพื่อให้ตัดสินเข้าข้างเธอ
ผู้หญิงคนดังกล่าวก็คือ ดอว์ชูชูนวย เธอกล่าวว่า เสมียนของผู้พิพากษาบอกเธอว่า "คดีของคุณจะไปได้สวยก็ต่อเมื่อคุณจ่ายเงิน" เธอจึงจ่ายเงินให้เสมียนคนนั้นไป 500 ดอลลาร์ (15,000 บาท) แต่เมื่อเรื่องดังกล่าวรู้ถึงหูเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ในศาล เธอบอกว่า เธอได้รับเงินคืนส่วนการตัดสินคดีดังกล่าวกลับเป็นไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเธอ
ผู้พิพากษาคนหนึ่งได้แจ้งข้อหาคอรัปชั่นกับโชโชนวยและเสมียนคนดังกล่าว ในขณะที่ผู้พิพากษาคดีของเธอรอดตัว ไม่่ถูกแจ้งข้อหาใดๆ
"พวกเขารับเงิน พวกเขาทุจริตคอรัปชั่น" เธอกล่าว "แต่พวกเขาไม่อยากให้ประชาชนรับรู้ พวกเขาใช้อำนาจปิดบังไว้"
แปลจาก Myanmar’s Opening Up Hasn’t Loosened Graft in Courts โดย THOMAS FULLER
www.nytimes.com 24 ตค 57
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น