พม่าเตรียมสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2014 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี และยังเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งทั่วไปสมัยหน้าในปี 2015 ที่ประชาชนต่างหวังว่าจะได้มาซึ่งรัฐบาลของประชาชนที่แท้จริงอีกด้วย ทั้งนี้รัฐบาลทหารชุดก่อนไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยพม่าเคยทำการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดเมื่อปี 1983 มาแล้ว ส่วนประชาชนที่เกิดหลังปีดังกล่าวไม่เคยได้รับการสำรวจ การสำรวจสำมะโนประชากรที่ถูกต้องจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของการปฏิรูปทางการเมืองไปพร้อมๆ กับปัจจัยขับเคลื่อนหลักอื่นๆ
การสำรวจสำมะโนประชากรจะทำให้การประเมินทางเศรษฐกิจต่างๆ มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น GDP รายได้ประชาชาติ ข้อมูลที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมสำหรับการพัฒนาประเทศ และการวางแผนเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในการวางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ระบบสุขภาพ อาคารสงเคราะห์ การจ้างงาน การสุขาภิบาล การคมนาคมขนส่ง รวมถึงการสื่อสาร เป็นต้น ทั้งนี้การสำรวจสำมะโนประชากรยังเป็นเรื่องจำเป็นในการแบ่งเขตการเลือกตั้งเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้ตัวแทนประชาชนของทุกชนชาติทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศอย่างยุติธรรม ซึ่งจะเริ่มทำการสำรวจในเดือนเมษายน 2014 ก่อนการเลือกตั้งสมัยหน้า โดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund - UNFPA) ตกลงที่จะให้การช่วยเหลือ
ย้อนรอยสำมะโนประชากรพม่าในอดีต
ที่ผ่านมา บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องพม่าต้องใช้ข้อมูลประชากรของรัฐบาลพม่าซึ่งไม่มีความน่าเชื่อถืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปี 1983 การสำรวจสำมะโนประชากรไม่ได้นับรวมประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยหลายพื้นที่ ก่อนหน้านั้น การสำรวจสำมะโนประชากรที่น่าเชื่อถือได้ครั้งสุดท้ายมีดำเนินการเมื่อปี 1931ในช่วงที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ส่วนการสำรวจครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 1981 ห้าปีหลังจากอังกฤษรวมดินแดนทางภาคเหนือของพม่า ทั้งนี้ สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการปฏิรูปประเทศคือปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย รัฐบาลพม่าได้ลงนามในสัญญาหยุดยิง 18 ฉบับกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ทว่า การแก้ปัญหายังต้องอาศัยเรื่องการเมืองอยู่
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายต่างเกรงว่าการสำรวจสำมะโนประชากรจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความแปลกแยกให้กับชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาลพม่า
การสำรวจสำมะโนประชากรกับประเด็นโรฮิงยา
เมื่อเอ่ยถึงการสำรวจสำมะโนประชากรในพม่า คำถามที่นักจะตามมาเสมอคือประเด็นเกี่ยวกับชาวโรฮิงยา ซึ่งมีจำนวนนับล้านคนในรัฐอาระกัน พวกเขาไม่ได้ถูกนับรวมเป็นหนึ่งใน 135 ชนชาติในพม่า หรือแม้กระทั่งพลเมืองของประเทศ พวกเขาถูกตัดออกจากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 1983 ความไร้รัฐของพวกเขาส่งผลให้เกิดปัญหาการเข่นฆ่าคุกคาม ทำให้ชาวโรฮิงยากว่า 2 แสนคนต้องหนีออกจากพม่าลี้ภัยอยู่ในบังกลาเทศ
ในปี 1982 กฎหมายการเป็นพลเมืองพม่าได้ทำให้ชาวโรฮิงยามีสถานะเป็นคนต่างด้าว แม้พวกเขายืนยันว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในประเทศพม่ามาหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม ในเหตุการณ์รุนแรงครั้งล่าสุดในรัฐอาระกันระหว่างชาวพุทธและชาวโรฮิงยา มีชาวโรฮิงยาเสียชีวิตมากกว่า 200 คน และพลัดถิ่นอีกหลายพันคน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อชาวมุสลิมกลุ่มอื่นๆในพม่าด้วย
รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวแต่ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้หลังจากเลยกำหนดไปถึงสองครั้งแล้ว ประธานาธิบดีได้ให้คำมั่นว่าจะพิจารณาเรื่องสิทธิของชาวโรฮิงยาแต่ไม่ได้ให้สถานะความเป็นพลเมืองตามที่คาดไว้ นอกจากนี้ ความคาดหวังว่านางอองซาน ซูจีจะออกมาเป็นปากเสียงให้กับปัญหาเรื่องโรฮิงยาก็ถูกปฏิเสธไป
พลเมืองเชื้อสายอินเดีย
นอกเหนือจากชาวโรฮิงยาแล้ว ยังมีชาวชินจำนวนกว่า 1 แสนคนที่หนีการถูกกดขี่ข่มเหงไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ชายแดนติดกับรัฐมิโซแรม ประเทศอินเดีย ทั้งนี้ ประชาชนที่อยู่บนพื้นที่สูงห่างไกลและยากที่จะเข้าถึงก็ควรจะต้องได้รับการสำรวจสำมะโนประชากรเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่เกิดในประเทศพม่าและไม่ใช่ชนดั้งเดิมของประเทศอย่างเช่น ชาวเชื้อสายอินเดียที่ยังตกสำรวจและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งสำมะโนประชากรในปี 1983 ระบุว่ามีกลุ่มคนเชื้อชาติอินเดียในพม่าจำนวน 428,000 แต่ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการคาดว่าอาจมีจำนวนถึง 2.5 ล้านคน แม้กลุ่มคนเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในพม่ามากว่าสี่ชั่วอายุคนแล้วแต่ก็ไม่มีเอกสารประจำตัวตามที่กฎหมายการเป็นพลเมืองปี 1982 ระบุ พวกเขาจึงต้องมีสถานะเป็นคนไร้รัฐ แต่ทั้งนี้ มีหลายคนได้ยื่นขอแปลงสัญชาติหลังจากรัฐบาลเปิดโอกาสให้ในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา
นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่ท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือการเตรียมฝึกอบรมผู้ที่จะไปทำการสำรวจ ซึ่งหากดำเนินการสำรวจได้อย่างถูกต้องครอบคลุมและเป็นไปตามมาตรฐานสากลแล้วจะเป็นการเสริมให้ประชาชนที่เป็นชนกลุ่มน้อยมีพลังขึ้นมาไม่น้อยเลยทีเดียว
อูขิ่นยี ประธานคณะกรรมการประชากรและการพัฒนา กล่าวว่า การสำรวจสำมะโนประชากรที่ประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สมาชิกรัฐสภา ภาคสังคม ภาคเอกชนและองค์กรนานาชาติ
และเพื่อให้การสำรวจเป็นไปอย่างครอบคลุมทุกชนชาติจึงจำเป็นต้องมีการทบทวนกฎหมายการเป็นพลเมืองฉบับปี 1982 ให้เป็นไปตามหลักสากลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสัญชาติ ร่วมด้วยการใช้หลักการจากกติกาสัญญาปี 1954 ว่าด้วยเรื่องสถานะของบุคคลไร้รัฐและกติกาสัญญา ปี 1961 ว่าด้วยการลดความไร้รัฐ
นอกจากนี้ พม่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากประชาธิปไตยเชิงรูปแบบมาเป็นประชาธิปไตยที่มีแก่นสารด้วย หากการดำเนินสำรวจสำมะโนประชากรของพม่าเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้ลัทธิเสียงส่วนใหญ่เป็นอุปสรรคในกระบวนการดังกล่าวเช่นกัน
จาก Myanmar’s census a crucial democracy test
The Hindu 27 พฤศจิกายน 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น