การใช้ภาษานับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งและเป็นสิ่งที่รัฐบาลพม่ารู้ดี ทั้งนี้ภาษาที่ใช้บรรยายเหตุการณ์รุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในรัฐอาระกัน ช่างคล้ายกับวิธีการเล่าเรื่องเหตุการณ์อันเหี้ยมโหดครั้งหนึ่งในอดีตที่รัฐบาลเป็นผู้ก่อไม่มีผิด
ในปี 2003 รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าพยายามลอบสังหารนางอองซาน ซูจี มีการลำเลียงอันธพาลจำนวนหลายร้อยคนเพื่อโจมตีขบวนรถของนางอองซาน ซูจี ขณะที่นางกำลังเดินทางไปยังเมืองเดพายิน รถที่นางโดยสารมาสามารถหนีรอดไปได้ แต่ผู้สนับสนุนนางกว่าร้อนชีวิตถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “การสังหารหมู่ที่เดพายิน” ในครั้งนั้นนางอองซาน ซูจีถูกจับกุมได้ห่างจากจุดเกิดเหตุไม่กี่ไมล์ และถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2010 ที่ผ่านมานี้เอง
ความจริงหลายประการในเหตุการณ์ครั้งนั้น บัดนี้เป็นที่ยอมรับโดยไม่มีการโต้แย้งแล้ว แต่สิ่งที่สื่อมวลชนรายงานในเวลานั้นแตกต่างออกไป โดยสื่อใช้คำว่า “การตะลุมบอล” “การปะทะกัน” และ “การต่อสู้” ดังที่สำนักข่าว AFP รายงานว่า “เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนนางอองซาน ซูจีและกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน”
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช้การปะทะกัน แต่เป็นการซุ่มโจมตีและการพยายามลอบสังหาร และในครั้งนั้นก็ไม่ได้มีผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 4 คน แต่มากกว่า 70 คน
เมื่อได้อ่านข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในรัฐอาระกันตอนนี้ ทำให้ผมนึกไปถึงเหตุการณ์ลอบสังหารเดพายิน ว่าความจริงได้ถูกปิดบังเอาไว้อย่างไรบ้าง
เหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐอาระกันยังคงถูกเรียกว่าเป็นการปะทะกันของคนสองกลุ่ม ซึ่งอาจใช้ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนั่นก็ผ่านมานานพอสมควรแล้ว ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ล่าสุดเป็นการร่วมมือกันโจมตีชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงยา หมู่บ้านชาวโรฮิงยาถูกล้อมไว้อย่างมีแผน ผู้คนในหมู่บ้านถูกทำร้าย ถูกขับไล่ หรือไม่ก็ถูกสังหาร ในเมื่อฝ่ายหนึ่งโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว มันจึงไม่ใช่การปะทะกันแน่นอน
ขณะที่องค์กรชาวโรฮิงยาของผมที่ตั้งอยู่ในอังกฤษได้รับรายงานจากในพื้นที่ว่า มีชาวโรฮิงยาหลายพันคนเสียชีวิตจากการถูกโจมตี แต่รัฐบาลพม่ากลับยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตแค่หยิบมือเดียว
สิ่งที่คล้ายกับเหตุการณ์เดพายินอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐบาลไม่ได้ใช้กองทัพและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐเป็นผู้ลงมือโจมตี ในเหตุการณ์เดพายิน รัฐบาลเผด็จการพูดถึงพรรคเอ็นแอลดีและนางอองซาน ซูจีเป็นต้นเหตุที่ไปยั่วยุให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ประชาชนในพื้นที่ วันนี้ในรัฐอาระกัน รัฐบาลก็ใช้ถ้อยคำที่คล้ายๆ กัน คือ อ้างถึงความต้องการของประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐพูดถึงคนต่างด้าวชาวเบงกาลีที่เข้ามายั่วยุคนในพื้นที่ให้เกิดความโกรธแค้น และปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัว
อย่างในเดพายิน จะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นถ้ารัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดขึ้น พวกเขาไม่สามารถอ้างว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และอยู่ตรงกลางระหว่างคนสองกลุ่ม ถึงแม้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง แต่รัฐบาลพม่าก็สามารถหยุดไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ไม่ยาก พม่ามีกองกำลังทหารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกำลังตำรวจและเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยจำนวนมาก ความจริงก็คือ พวกเขาปล่อยให้เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเพราะมันตรงกับความต้องการของรัฐบาลอยู่พอดี
รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการปลุกปั่นเหตุการณ์ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์เดพายิน เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและกองทัพไม่เพียงแต่ ไม่ยุติการปะทะกันเท่านั้น แต่ยังมีเอี่ยวด้วย กองทัพของเต็งเส่งกำลังกวาดล้างผู้นำชุมชนโรฮิงยาและควบคุมตัวไว้
รัฐบาลกำลังเป็นผู้ที่แบ่งแยกชนชาติเสียเองโดยนำชาวโรฮิงยาพลัดถิ่นไปอยู่ที่ค่ายพักพิงแคบๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐคอยกีดกันความช่วยเหลือที่ส่งไปยังค่ายและชุมชนชาวโรฮิงยา นอกจากนี้ ประธานาธิบดีเต็งเส่งยังได้ขอการสนับสนุนจากนานาชาติในการขับชาวโรฮิงยาออกนอกประเทศด้วย โดยจะต้องอยู่ในค่ายจนกว่าจะถูกส่งตัวออกนอกประเทศ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นใต้จมูกของนานาชาติ
เต็งเส่งไม่ใช่คนโง่ที่จะส่งทหารเข้าไปกวาดล้างชาวโรฮิงยาเอง แต่คอยปลุกระดมและปล่อยให้ประชาชนจัดการกันเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกประณาม แม้จะเป็นนโยบายของเขาก็ตาม
จึงเป็นสิ่งที่ยากสำหรับสื่อที่จะหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในรัฐอาระกันในวันนี้ แม้ว่าในที่สุดแล้วความจริงก็จะต้องถูกเปิดเผยในวันหนึ่ง แต่กว่าจะถึงตอนนั้นมันก็สายไปเสียแล้วสำหรับหลายร้อยชีวิตที่ต้องเสียไปและอีกนับแสนชีวิตที่ต้องพลัดถิ่นและอยู่ในค่ายพักพิง แต่อย่างน้อยในตอนนี้เราควรจะเลิกพูดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกันเป็น “การปะทะกัน” กันเสียที.
จาก บทความ Clashes or ethnic cleansing? โดย TUN KHIN www.dvb.no
1 พฤศจิกายน 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น