วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555
ความหวังของพยาบาลตัวเล็กๆ แห่งปากแม่น้ำอิรวดี
ผ้าซิ่นสีแดงเลือดนก เสื้อแขนยาวเข้ารูปสีขาว บวกกับหมวกพยาบาลที่สวมไว้อย่างเรียบร้อย ทำให้ขิ่นเอนวย ดูราวกับนางพยาบาลในโรงพยาบาลที่ทันสมัย ทว่าในความเป็นจริง รองเท้าของเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ผู้นี้กำลังย่ำไปมาอยู่บนพื้นซีเมนต์ฝุ่นเขลอะของคลินิกโทรมๆ แห่งหนึ่งในเขตปากแม่น้ำอิระวดี ประเทศพม่า
เธอต้องดูแลผู้คนกว่า 3 พันคนในพื้นที่ 15 หมู่บ้าน ทั้งทำคลอด ฉีดวัคซีนให้กับเด็กๆ รวมถึงให้การรักษาตั้งแต่โรคขาดสารอาหารไปจนถึงโรคมาลาเรียในพื้นที่ดังกล่าวที่มีเด็กเล็กและหญิงมีครรภ์กว่า 80 เปอร์เซ็นต์มีภาวะโลหิตจาง
เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่หน้าที่ดังกล่าวไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลทหาร ที่ทุ่มงบประมาณแผ่นดินส่วนใหญ่ไปกับกองทัพ ในปัจจุบัน พม่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงมีความหวังว่ามากมายในการปรับปรุงให้ดีขึ้น ในช่วงที่ประเทศปกครองด้วยทหาร รัฐบาลได้เจียดงบประมาณน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ให้กับการสาธารณสุขในช่วงปี 2008 หากไม่นับเงินบริจาค และมีงบประมาณในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอยู่ในอันดับท้ายทุกตาราง
แม้กระนั้น นวยและกลุ่มผู้หญิงที่อุทิศตนกลุ่มเล็กๆ ยังคงกระจายกันไปช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยในพื้นที่ที่เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศแห่งนี้ พวกเธอทั้งเดินเท้า ขึ้นรถ ลงเรือ ควบมอเตอร์ไซค์ เพื่อไปหาผู้ป่วยที่ไม่มีหนทางอื่นในการรักษา
มันเป็นงานที่เหนื่อย และนวยก็รู้ดีว่า ถึงจะพยายามมากแค่ไหนก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือชาวบ้านได้ทั้งหมดทุกคน แต่เธอก็ยังคงไม่ละทิ้งความหวัง “ฉันยังไม่เห็นมัน ฉันยังไม่เห็นการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงเลย แต่ก็หวังว่ามันจะเกิดขึ้นในอนาคต” นวยกล่าว
บรรยากาศอันน่าตื่นเต้นที่ตามมาหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการมาเยือนของนานาชาติจะเห็นได้ในเฉพาะเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่น ย่างกุ้งเท่านั้น ซึ่งที่นั่นเราจะเห็นเสื้อยืดพิมพ์ภาพของนางอองซาน ซูจีวางขายตามข้างทางทั่วบ้านทั่วเมือง และโรงแรมที่เต็มไปด้วยนักธุรกิจชาวตะวันตก
แต้ถ้าขับรถซักครึ่งวันออกไปยังบริเวณปากแม่น้ำอิรวดี เราแทบจะไม่รู้สึกถึงบรรยากาศดังกล่าวเลย ชาวบ้านที่นี่มีฐานะยากจนหาเช้ากินค่ำ อาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่ริมฝั่งแม่น้ำสีเหมือนกาแฟ และตามทุ่งนา
หลังจากที่ประเทศถูกโดดเดี่ยวจากโลกภายนอกมายาวนาน หลายคนเคยชินกับการที่ไม่ได้คาดหวังอะไรมากนักกับประเทศที่น้ำประปาและไฟฟ้าถือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยในหลายพื้นที่
เป็นเวลาหลายปีที่สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลพม่าเพื่อกดดันให้รัฐบาลทหารสะสางประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ความช่วยเหลือจากนานาชาติถูกส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกัมพูชาได้รับเงินบริจาค 52 ดอลลาร์ต่อหัว เวียดนามได้รับ 34 ดอลลาร์ และลาวได้รับ 67 ดอลลาร์ต่อหัวในปี 2010 ส่วนพม่าได้รับเงินช่วยเหลือจากนานาชาติเฉลี่ยเพียง 7 ดอลลาร์ต่อหัวเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้บวกกับเพิกเฉยของรัฐบาลพม่า ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศจึงต้องควักเงินจ่ายเพื่อให้ได้รับการบริการทางการแพทย์ซึ่งไม่เพียงพอและขาดแคลน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการทุจริตและการบริหารงานที่ผิดพลาดที่ทำให้ระบบการบริการสุขภาพของพม่าย่ำแย่ที่สุดเป็นอันดับสองในปี 2010 จัดอันดับโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งรัฐบาลพม่าจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพน้อยที่สุดในโลกในปี 2009
สิ่งที่ประชาชนในพม่าต้องก้มหน้ารับกรรมมีดังนี้
-พม่ามีอัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิด ทารก และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
-โรคเอดส์ได้คร่าชีวิตประชาชนปีละ 18,000 และพม่ายังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้ป่วยได้รับการรักษายากที่สุด
-พม่ามีอัตราผู้ป่วยวัณโรคมากเกือบ 3 เท่าตัวของอัตราค่าเฉลี่ยของโลก และมีตัวเลขการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคมาลาเรียสูงที่สุดในภูมิภาค
-มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของหญิงตั้งครรภ์ และ 70 เปอร์เซ็นต์ของเด็กในพื้นที่ชายฝั่ง ปากแม่น้ำ เป็นโรคพยาธิ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของโรคขาดสารอาหาร
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เคยเป็นที่น่าอิจฉาในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านมาก่อน
“การที่รัฐบาลไม่จัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพอย่างเพียงพอกว่าทศวรรษ บวกกับความล้มเหลวของระบบการศึกษา และการเซ็นเซอร์ ทำให้ระบบสาธารณะสุขของพม่าย่ำแย่ ขาดบุคลากรที่ได้รับการอบรมหรืออุปกรณ์สำหรับให้บริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐาน” ดร.วิทย์ สุวรรณวานิชกิจ จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปสกินส์ กล่าว
การละเลยด้านสุขภาพของพม่านั้นเห็นได้ชัดในโรงพยาบาลเจอเนอรอลย่างกุ้ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักของประเทศ ด้านหน้าตัวอาคารที่ทำด้วยอิฐสีแดงโรงพยาบาลก่อสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณานิคม แต่พื้นกลับสกปรกและเต็มไปด้วยหญ้า ที่มีแผงขายขนมราคาถูกให้กับญาติของผู้ป่วยใกล้กับท่อระบายน้ำเสีย
ที่หอผู้ป่วยแห่งหนึ่ง มีผู้ป่วยหลายคนแออัดกันอยู่ในห้องที่เปิดอยู่ บางคนกำลังหลับๆ ตื่นๆ ขณะที่คนอื่นๆ กำลังเจ็บปวดอย่างทรมานโดยมีญาติคอยพัดให้
ประเทศพม่าได้เปิดประตูต้อนรับโลกภายนอกอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา นายบารัก โอบามา ได้มาเยือนพม่า เป็นสัญญานของยุคใหม่ได้มาถึงแล้ว
บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากองค์กรด้านสุขภาพของโลกได้ตบเท้ากันเข้ามาในพม่าเพื่อเข้ามาตรวจสอบเรื่องระบบสุขภาพและรับปากว่าช่วยเหลือปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยองค์กร UNAIDS ได้ขนานนามนางอองซาน ซูจี ว่าเป็นผู้สนับสนุนระดับโลกที่ได้สร้างความตระหนักถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากลัวของประเทศอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้พม่ากำลังเริ่มเดินหน้าไปโดยรัฐมนตรีสาธารณะสุขคนใหม่คือ ดร.เพ เต็ด ขิ่น กุมารแพทย์ที่มีความรู้เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวโดยตรง
เขากล่าวในสหรัฐอเมริกาช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศจะสามารถปรับปรุงคุณภาพระบบสาธารณะสุขของประเทศได้ นอกจากนี้ยังกล่าวว่า สุขภาพของทารก เด็ก และสตรีมีครรภ์ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
เขากล่าวว่า พม่ากำลังผลิตแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เพียงพอแล้วแต่คุณภาพอาจจะได้แค่พอใช้เพราะขาดงบประมาณสนับสนุน “เศรษฐกิจ ก็อย่างที่คุณรู้ มันไม่ค่อยดีมา 20 หรือ 30 ปีมาแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการคว่ำบาตร แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาด”
รัฐบาลชุดใหม่ได้เพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพขึ้นมา 4 เท่า แต่ก็ยังถือว่าต่ำ และงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากเป็นค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาสถานการณ์ในประเทศเพื่อให้ได้ภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่ชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสู้รบกับชนกลุ่มน้อยมายาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นพื้นที่ต้องห้าม
“ระบบสาธารณสุขที่นี้ล้าหลังมาก” Eamonn Murphy ผู้ประสานงาน UNAIDS กล่าว พม่าเคยมีระบบสาธารณะสุขและการศึกษาที่แข็งแกร่งซึ่งสามารถฟื้นคืนกลับมาได้ “เพียงแต่ต้องใช้เวลาและต้องได้รับมอบหมายอย่างจริงจังจากนานาชาติ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณเท่านั้น แต่เป็นเรื่องเทคนิคด้วย”
เส้นทางที่เต็มไปด้วยหินและฝุ่นในมุนเล็กๆ มุมหนึ่งหนึ่งในพื้นที่ปากแม่น้ำอิระวดี ซึ่งเป็นสถานที่ที่นวย เจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ทำงานอยู่ องค์กร Unicef ได้จัดทำโครงการแจก Sprinkle ซึ่งเป็นวิตามินและเกลือแร่ซอง ให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี จำนวน 3,000 คน โดยใช้ผสมลงในอาหารเพื่อลดภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ประสบภัยนาร์กิสเมื่อปี 2008 ที่คร่าชีวิตประชาชนมากกว่าแสนคน
จำนวนเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์ที่มากกว่านี้ สิ่งอำนวยความสะดวกและการเดินทางของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่ดีกว่านี้ เหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่นวยหวังว่าจะได้เห็นสักวัน
เรียบเรียงจาก Burma health care broken under military rule By AP News
17 ธันวาคม 2555
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น