วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การสลายการชุมนุมในมงหยั่ว ธาตุแท้รัฐบาลเต็งเส่ง



 

หลังจากภาพการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมประท้วงเหมืองแร่ทองแดงในมงหยั่วทางตอนกลางของพม่าออกสู่สายตาชาวโลก หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวว่า ในที่สุดเราประธานาธิบดีเต็งเส่งและรัฐบาลของเขาก็เผยธาตุแท้ออกมาให้เห็นจนได้

 

ภาพของอดีตนายพลเต็งเส่งกำลังถูกล้อเลียนบนโซเชียลมีเดีย โดยถูกล้อเลียนว่าได้รับรางวัลสันติภาพสูงสุดจากองค์กร International Crisis Group นักเคลื่อนไหวออนไลน์คนหนึ่งนำภาพ เต็งเส่ง มาเคียงคู่กับ ตานฉ่วย แล้วบรรยายภาพว่า ผู้สังหารพระสงฆ์ จากเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงปราบปรามการประท้วงของพระสงฆ์เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา

 

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในช่วงเช้ามืดเจ้าหน้าที่ได้บุกเข้าสลายการชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก

 

ความตึงเครียดในเหมืองทองแดงเริ่มปะทุขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ผู้ประท้วงร่วมกับคนงานเหมืองจับมือกันขวางไม่ให้รถบรรทุกเข้าไปในเขตก่อสร้างเหมืองและค่ายที่สร้างขึ้นอยู่ใกล้ๆ ทั้งนี้ที่ดินกว่า 7,800 เอเคอร์ (31.56 ตร.กม) กินพื้นที่ของ 26 หมู่บ้านที่อยู่ในที่ราบใกล้ภูเขาแล็ตปะด่อง ถูกยึดเพื่อนำไปสร้างโครงการเหมืองทองแดงที่มีบริษัทจีนเป็นผู้ดำเนินงานตั้งแต่ปีที่แล้ว

 

ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันประท้วงให้มีการปิดเหมืองเนื่องจากได้รับผลกระทบทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การบังคับให้ย้ายออกจากพื้นที่ และการยึดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเหมืองทองแดงแห่งนี้ เป็นเพียงหนึ่งในหลายโครงการในลักษณะเดียวกันของรัฐบาลพม่าที่มีแผนการก่อสร้าง

 

ทั้งนี้ การประท้วงเหมืองแร่ดังกล่าวมีนักเคลื่อนไหวคนสำคัญๆ มาร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย อาทิ สมาชิกของกลุ่มนักศึกษาปี 88 เป็นต้น

 

โครงการเหมืองแร่ทองแดงดังกล่าวเป็นโครงการร่วมระหว่างบริษัท Union of Myanmar Economic Holdings Ltd (UMEH) ที่มีรัฐบาลเผด็จการทหารเป็นเจ้าของ กับ Wan Bao Company ของจีน ซึ่งนักเคลื่อนไหวต่างเรียกร้องให้มีการเปิดเผยสัญญาข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายต่อสาธารณะ นอกจากนี้ที่น่าเป็นห่วงคือ Wan Bao  เป็นบริษัทในเครือของ North Industries Corporation ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาวุธรายสำคัญของจีน

ในขณะที่อิทธิพลของจีนต่อพม่าไม่ควรที่จะลดทอนลง กลุ่มที่ต่อต้านจีนก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน พม่าได้เปิดประตูต้อนรับนักลงทุนจากตะวันตก ประกอบกับการผ่อนคลายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและการเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูต สิ่งทำให้จีนตื่นตระหนกไม่น้อย

 

อย่างไรก็ตาม การสลายการชุมนุมเกิดขึ้นเพียง 2 สัปดาห์หลังนายบารัก โอบามา เดินทางเยือนพม่าครั้งประวัติศาสตร์ ตอบรับการเปลี่ยนแปลงในประเทศที่น่าพอใจ แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็กำลังจับตามองอยู่เช่นกัน

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อ่องมินรัฐมนตรีในสำนักประธานาธิบดี ได้เข้าเยี่ยมพื้นที่โครงการเหมืองแร่เพื่อพบปะกับชาวบ้านที่ทำการประท้วง โดยเขายอมรับอย่างเปิดเผยว่า กลัวรัฐบาลจีนเรียกร้องค่าเสียหายขึ้นมา ซึ่งลำพังการระงับการก่อสร้างเขื่อนมิตซงที่ผ่านมา ก็อาจจะต้องจ่ายค่าชดเชยถึง 3 พันล้านดอลลาร์แล้ว

 

รัฐบาลจีนได้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่ามาอย่างยาวนาน โดยสนับสนุนอาวุธและปกป้องพม่าจากการประณามของนานาชาติมาโดยตลอด โดยเฉพาะมติสภาความมั่นคงของยูเอ็น

 

“เราไม่กล้ามีปัญหากับจีน” นายอ่องมินกล่าวก่อนที่จะมีการสลายการชุมนุมเพียงไม่กี่วัน เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ตัดสินใจสลายการชุมนุมแล้ว

 

ตอนนี้ประชาชนชาวพม่าต่างอย่างรู้ว่าใครเป็นผู้ออกคำสั่งให้จู่โจมและเหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงบุกเข้าไปในค่ายและทำร้ายผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธ

 

การสลายการชุมนุมครั้งนี้เป็นเครื่องบ่งบอกอีกครั้งว่ารัฐบาลที่อ้างว่าจะเปลี่ยนแปลงและฟังเสียงประชาชน แท้จริงก็เป็นเพียงแค่การปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น

 

ด้านนางอองซาน ซูจี ที่ได้เดินทางลงพื้นที่ไปเยี่ยมชาวบ้านมงหยั่ว ได้เรียกร้องให้มีการลงทุนที่มีความรับผิดชอบและรัฐบาลมีความโปร่งใส แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลเต็งเส่งได้ตัดสินใจอยู่ข้างเดียวกับบริษัท UMEH ของรัฐบาลทหารและ Wan Bao ของจีนไปแล้ว

 

การปราบปรามการประท้วงที่โหดร้ายและน่าเกลียดครั้งนี้จะเป็นรอยด่างที่ไม่มีวันลบเลือนของรัฐบาลเต็งเส่งไปอีกนาน และก็เข้าใจแล้วว่า การเมืองในพม่าที่กำลังเปิดกว้างนั้น สามารถกลับลำได้ทุกเมื่อ

 

จาก Monywa Crackdown—Old Habits Die Hard
irrawaddy.org 29 พฤศจิกายน 2555

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น