"จะไม่มีนักโทษการเมืองในพม่าอีกต่อไป" นี่คือสิ่งที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่งให้สัญญากับประชาคมโลกว่าจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปีนี้
รัฐบาลของเขาได้วางมัดจำสิ่งที่เขาให้คำมั่นสัญญาไว้ก่อน โดยการปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวน 73 คนเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากการเดินทางเยือนยุโรป โดยในครั้งนี้ได้ไปเยือนถนนดาวนิ่งสตรีทเพื่อพบปะกับนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษด้วย
แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ซึ่งรวมถึงอดีตนักโทษการเมือง ว่ามีเหตุผลหลายประการที่ทำให้รู้สึกเคลือบแคลงอยู่ไม่น้อย อีกประการหนึ่ง ยังคงมีประชาชนถูกจับกุมจากกิจกรรมทางการเมืองอยู่ อาทิ การประท้วงเหมืองแร่ทองแดงที่ดำเนินการโดยบริษัทจีน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ที่ผ่านมา
การปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่มีขึ้นหลายครั้ง ตั้งแต่มีการเปลี่ยนจากรัฐบาลทหารไปเป็นรัฐบาลพลเรือนในปี 2011 มักจะเกิดขึ้นในช่วง ก่อนหรือหลังการพบปะครั้งสำคัญกับผู้นำยุโรปและอเมริกา
"มันเป็นข่าวดี แต่เราก็มีข้อสงสัย" ตีฮา วินติ่น อดีตนักโทษการเมือง กล่าว เคยถูกจำคุก 3 ปีจากโทษทั้งหมด 5 ปี หลังจากการทำกิจกรรมทางการเขาเมืองในช่วงที่มีการประท้วงรัฐบาลนำโดยพระสงฆ์เมื่อปี 2007 เขาได้รับการปล่อยตัวเป็นรุ่นแรกๆ เมื่อปี 2011 "บางครั้งพวกเขาก็เล่นเกมทางการเมืองเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีต่อนานาชาติ"
อดีตนักโทษวัยยี่สิบกว่าผู้นี้เป็นสมาชิกขององค์กรนักศึกษา All Burma Federation of Student Unions หรือ ABFSU องค์กรใต้ดินที่สนับสนุนให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง
ทั้งนี้ทั้งนั้นนับว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจากเมื่อสองปีที่แล้วที่เต็งเส่งออกมาปฏิเสธว่าพม่าไม่มีนักโทษการเมือง
หนังสือพิมพ์เดอะนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ สื่อของรัฐฉบับภาษาอังกฤษ ได้รายงานเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า การนิรโทษกรรมมีขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ความสำคัญกับหลักมนุษยธรรมและต้องการให้อดีตนักโทษสามารถทำงานเพื่อผลประโยชน์ของชาติหลังจากที่เข้าใจความปราฐนาดีของรัฐ
นอกจากนี้ยังเป็นการเบี่ยงประเด็นในช่วงดังกล่าวอีกด้วย นายบันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติที่ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพม่าเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการต่อต้านชาวมุสลิมโรฮิงยา รู้สึกยินดีกับการประกาศปล่อยตัวนักโทษการเมืองของรัฐบาลพม่า "เขาหวังว่าการปล่อยตัวนักโทษการเมืองครั้งนี้รวมถึงมาตรการอื่นที่ได้ดำเนินการที่ผ่านมาในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจะเป็ฯการเสริมสร้างความพยายามในกระบวนการทำข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศและการปรองดองในพม่า" โฆษก กล่าว
ประเด็นเรื่องนักโทษการเมืองนั้นยังคงเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับสหรัฐอเมริกาเรื่อยมา ด้านสหภาพยุโรปได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ต่อพม่าแล้ว สำหรับรัฐบาลสหรัฐแม้ได้ผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร แต่นักโทษการเมืองเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ประธานาธิบดีโอบามาตัดสินใจไม่ยกเลิกการคว่ำบาตรโดยสิ้นเชิง
เป็นเรื่องยากที่จะทราบได้ว่ายังมีนักโทษการเมืองหลงเหลืออยู่ในเรือนจำพม่าจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีความโปร่งใส แต่โดยประมาณการณ์แล้วคาดว่ามีอยู่มากกว่า 100 คนอาจจะมากถึงหลายร้อยคน
สำหรับนิยามคำว่านักโทษการเมืองนั้น บางส่วนเห็นว่า ควรจะนับเฉพาะนักโทษที่ถูกจำคุกจากการทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างสันติ บางส่วนก็เห็นว่าควรจะรวมสมาชิกของกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารมายาวนานตามแนวชายแดน รวมไปถึงชาวบ้านที่ถูกจับกุมโดยไม่เจตนาจากเหตุพิพาททางการเมืองด้วย
-------------------------------------
แปลจากบทความ "?"โดย Joseph J. Schatz Correspondent 24 กรกฎาคม 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น