ผากั้น รัฐคะฉิ่น- "พวกเขากินภูเขาหมดไปหลายลูกเหมือนกับเขมือบขนมเค้ก เนินเขาสูง 3 พัน 4 พันฟุตเหลือแค่พื้นที่ราบ หรือแม้แต่กลายเป็นหลุมลึก 300 ฟุต ที่ที่เคยเป็นภูเขา ตอนนี้กลายเป็นทะเลสาบไปแล้ว" อูโช ชาวบ้านในเมืองผากั้นที่เลื่องชื่อเรื่องเหมืองหยกของรัฐคะฉิ่น กล่าว
อูโชเป็นพ่อค้าหยกเช่นเดียวกับหลาย ๆ คนที่นี่ แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยากที่จะทำใจยอมรับความเสียหายที่เกิดจากการทำเหมืองหยกในพื้นที่นี้ได้
""พวกเขาใช้ระเบิดไดนาไมท์ระเบิดภูเขาทั้งลูก ภูเขาถล่มลงมาเเหมือนกับตึกเวิร์ดเทรดในเหตุการณ์ 9/11 เทคโนโลยีที่ทันสมัยสามาถทำให้ภูเขาลูกหนึ่งกลายเป็นพื้นราบได้ภายในเวลาเดือนเดียว" เขาบอก
เมืองผากั้นอยู่ห่างจากมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของพม่าไปทางทิศเหนือประมาณ 350 กิโลเมตร และเป็นแหล่งแร่หยกคุณภาพดีที่สุดของโลก พื้นที่ดังกล่าวล้อมรอบไปด้วยภูเขาที่มีทั้งหยกและทองคำ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ใต้ดิน ซึ่งคนที่นี่บอกว่า พวกเขาเคยหาหยกได้แม้กระทั่งตอนที่สร้างบ้าน หรือขุดบ่อน้ำ
ทว่า การสกัดแร่ได้ทำให้ทัศนียภาพที่นี่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หลงเหลือแต่ซากความเสียหาย อย่างรอบๆ หมู่บ้านโลงคิน มะมอท และซายตอง ภูเขาหลายลูกถูกแทนที่ด้วยกากแร่ที่ถูกกองสุมไว้ ขณะที่น้ำเสียจากแอ่งน้ำที่ถูกขุดขึ้นซึ่งมีแต่โคลนสร้างมลพิษให้แก่ลำน้ำอูรุ ที่ไหลผ่านใจกลางเมืองผากั้น
"ในสมัยก่อน คุณจะสามารถมองเห็นก้อนหินที่ก้นแม่น้ำอูรุ มันสะอาดมาก ตอนนี้ น้ำทั้งขุ้นและปนเปื้อนสารพิษเพราะการทำเหมืองหยก มันกำลังจะตาย" อูหม่องตาน ชาวบ้านผากั้นอีกคนหนึ่งกล่าว
มังมยิต พ่อค้าหยกอีกรายก็เข้ามาร่วมลงสนทนาด้วย "ตอนที่เราเป็นเด็ก ปู่ย่าตายายของเราบอกว่า เนินเขาและภูเขาที่นี่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่" เขาบอก "พวกเขาได้ยินเสียงเสือตอนกลางคืน อากาศก็หนาวมาก ต้องนอนห่มผ้าแม้กระทั่งในหน้าร้อน"
ผลตอบแทนจากสันติภาพ
แม้ว่าวันคืนเหล่านั้นจะผ่านไปนานแล้ว สถานการณ์ก็ยังไม่ได้ร้อนแรงขึ้นจนกระทั่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อองค์กรเอกราชคะฉิ่น หรือ KIO (Kachin Independence Organization) กลุ่มติดอาวุธชาวคะฉิ่นได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าในตอนนั้น ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวถูกใช้เพื่อหาประโยชน์เป็นวงกว้าง
จากนั้นเป็นต้นมา มีบริษัทอย่างน้อย 500 รายได้จดทะเบียนเพื่อทำเหมืองในผากั้น และนอกจากกำลังคนนับแสนแลัว ผู้ประกอบการรายใหม่ได้นำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้ามาด้วยเพื่อทำให้การถล่มภูเขาได้ง่ายขึ้น
หนึ่งในบริษัทรายใหญ่ที่เข้ามาทำเหมืองแร่ในพื้นที่ได้แก่ Union of Myanmar Economic Holdings Ltd (UMEHL) ของรัฐบาลทหารพม่าที่มีครอบงำเศรษฐกิจหลายภาคส่วนของประเทศ เชื่อว่านายพลบางคนและครอบครัวมีส่วนเกี่ยวข้องโดยส่วนตัว อย่างเช่น ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า ดอว์จ่ายจ่าย ภรรยาของอดีตผู้นำกองทัพนายพลตานฉ่วยมีบริษัทหนึ่งแห่งที่นี่ ขณะที่ส่วนใหญ่จะพบเห็นนักธุรกิจชาวจีน ที่ทำงานในบริษัทตัวแทนหรือหุ้นส่วนกับธุรกิจของรัฐจำนวนมากกเป็นผู้ควบคุมธุรกิจค้าหยกที่นี่
จึงไม่แปลกใจเลยที่จีนเป็นผู้นำเข้าแร่เจไดต์ หรือหยกเนื้อแข็งจากพม่านับตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา ปัจจุบัน 90 เปอร์เซ็นต์ของแร่เจไดต์ในโลกมาจากเหมืองหยกในเขตผากั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะขายให้กับจีน ฮ่องกง และไต้หวัน เนื่องจากหยกเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภและความดีงาม จึงมีความต้องการหยกจำนวนมากเพื่อผลิตของที่ระลึกสำหรับการจัดงานกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง
แม้ว่ามูลค่าจะมีจำนวนมหาศาล แต่มีจำนวนน้อยนิดที่ซื้อหยกจากพม่าได้รับการบันทึกไว้ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พม่าสามารถสกัดหยกได้มากกว่า 43 ล้านกิโลกรัม ในช่วงปีงบประมาณ 2011/2012 แต่สร้างรายได้แค่ 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการส่งออกอย่างถูกกฎหมายนั้น ห่างไกลจากมูลค่าที่ควรจะเป็นคือ 8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทางสำนักข่าวรอยเตอร์ได้อ้างข้อมูลจาก Harvard Ash Center
เติมเชื้อไฟ
ภายใต้ข้อตกลงที่ระบุในสัญญาหยุดยิง ทั้งรัฐบาลพม่าและ KIO จะแบ่งการควบคุมในเขตผากั้นเท่าๆ กัน นับเป็นการปูทางไปสู่การผลาญทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืนแต่ประการใด
ในขณะเดียวกันหลายฝ่ายที่พยายามเจรจาเพื่อสันติภาพโต้แย้งว่า การเพื่อการลงทุนในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยจะช่วยคลายความตึงเครียดลง ทว่าที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1988 มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง หรือ FDI กว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของพม่าไหลเข้าสู่ 3 รัฐซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังคงมีความขัดแย้งต่อเนื่อง จากรายงานของสถาบัน Transnational Institute ประเทศเนเธอแลนด์เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2013 ระบุว่า รัฐคะฉิ่นเป็นรัฐที่มีการลงทุน FDI มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งคือ 8.3 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่า FDI ของทั้งประเทศมามากกว่า 25 ปี ตามมาด้วยรัฐอาระกันมีมูลค่า FDI 7.5 พันล้านดอลลาร์ และรัฐฉาน 6.6 พันล้านดอลลาร์
ในกรณีของรัฐคะฉิ่น ผลกระทบของการลงทุนไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสันติภาพที่ยั่งยืนด้วย
“มีหลายเหตุผลที่จะสู้รบกัน และเราพูดได้ว่า เรื่องธุรกิจก็เป็นหนึ่งในนั้น” นายพลกันมอว์ รองประธานคณะเสนาธิการทหารของกองกำลังเอกราชคะฉิ่น หรือ KIA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอิสรภาพคะฉิ่น หรือ KIO กล่าวถึงสิ่งที่นำไปสู่การฉีกสัญญาหยุดยิงในรัฐคะฉิ่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2011
เมื่อการสู้รบกลับมาอีกครั้งในรัฐคะฉิ่น KIO ได้สูญเสียอิทธิพลในผากั้นไปมาก เหมืองแร่ขนาดใหญ่ถูกระงับเนื่องจากยังมีการสู้รบกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า ในเมืองผากั้นยังคงมีสายลับทั้งจาก KIO และรัฐบาลพม่า เรียกว่าเป็น “พื้นที่สีน้ำตาล” ที่การปะทะกันระหว่างสองฝ่ายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ความเสียหายจากการลงทุน
ในขณะที่รัฐบาลพม่ากับ Kio กำลังแบ่งผลประโยชน์มหาศาลที่ได้จากการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมอยู่นั้น ชาวบ้านกลับต้องสูญเสียมากกว่าสิ่งที่ได้มา เช่นเดียวกับอีกหลายพื้นที่ในประเทศนี้ คนจำนวนมากถูกบังคับให้ออกจากที่ทำกินของตัวเองเพื่อปูทางให้กับบรรดาบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ค่าชดเชยเพียงน้อยนิด หรือไม่ได้เลย
“ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นี่หลายคนรู้สึกเจ็บปวดมาก แต่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้เพราะบริษัทที่เข้ามาต่างก็มีใบอนุญาตจากรัฐบาลทั้งนั้น” ซุดดู ยุบ โซ คอง หัวหน้าจากบริษัท Jade Land หนึ่งในบริษัททำเหมืองแร่รายใหญ่ในผากั้น กล่าว
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทเหล่านี้ต้องจ่ายภาษี 3 แบบ ( 10 เปอร์เซ็นต์จากการชนะประมูลในการสัมปทาน 10 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าหยกที่หาได้ และ 10 เปอร์เซ็นต์จากการมูลค่าการขายหยกให้กับรัฐ) แต่รายได้เหล่านี้แทบจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้กับคนในพื้นที่
ผากั้นตั้งอยู่ห่างจากมิตจีนา หลวงของรัฐคะฉิ่นราว 77 กิโลเมตร และในช่วงหน้าฝนสามารถเดินทางเข้าไปโดยรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น ที่นี่จึงดูเหมือนหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ห่างไกล มากกว่าจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมมูลค้าหลายพันล้านดอลลาร์ แม้แต่โทรศัทพ์เองก็ยังใช้ไม่ค่อยได้ที่นี่
“ผากั้นเป็นที่ที่ผู้คนเดินทางมาหาเงินและเอาแล้วก็ออกไปที่อื่น แม้แต่เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นเองยังไม่สนใจจะพัฒนาพื้นที่เลย” เบอร์ทิล ลินเนอร์ อดีตนักข่าวกล่าว เขาเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับประเทศพม่า ซึ่งรวมไปถึง หนังสือเรื่อง “Land of Jade: A Journey from India through Northern Burma to China.” (ดินแดนแห่งหยก : การเดินทางจากอินเดียผ่านตอนเหนือของพม่าสู่ประเทศจีน)
ฌอน เทอร์แนล นักเศรษฐศาสตร์ และนักสังเกตการณ์เศรษฐกิจของพม่ามาเป็นเวลานาน กล่าวว่า หยกเคยเป็นแหล่งรายได้หลักจากต่างประเทศเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และในปัจจุบันยังคงเป็นอันดับสองรองจากก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซฉ่วย ที่มีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซข้ามชายแดนไปยังมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เขากล่าวว่า ธรรมชาติของหยกทพให้อุตสาหกรรมการทำเหมืองหยกมีความโปร่งใสน้อยกว่าอุตสากรรมด้านพลังงานของพม่า
“หยกเป็นทรัพย์สินที่สามารถเก็บเพื่อรักษามูลค่าไว้ได้ และสามารถขนย้ายข้ามชายแดนได้ โดยตลอดทางสามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้อย่างง่ายดาย ตามหลักแล้ว มันคือตลาดการเงินใต้ดินที่ยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวาง เพราะ (พม่า) ยังไม่มีตลาดการเงินที่เป็นทางการและมีประสิทธิภาพ” เขากล่าว
อาชญากรรม – ยาเสพติดระบาดในพื้นที่
เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด ที่การฉีกข้อตกลงหยุดยิงและการระงับการดำเนินการเหมืองแร่ กลับทำให้คนหาแร่ในท้องถิ่นและเหมืองแร่ขนาดเล็กมีโอกาสทำกำไรได้ในช่วงนี้ พวกเขาใช้อุปกรณ์ดั้งเดิม และใช้เครื่องเมือหนักในการชะล้างหน้าดินเพื่อหาแร่สีเขียว
แต่การทำเหมืองแร่แบบนี้ นอกจากจะทำได้ยากและอันตรายแล้ว ยังผิดกฎหมายอีกด้วย ซึ่งปกติแล้วจะถูกจับกุม แต่ในเมืองที่ไร้กฎหมายอย่างที่นี่ ไม่มีใครมาห้ามได้
“ถ้าทหารของรัฐบาลมา เราก็หนี” ข่าย หม่อง โด คนขุดแร่ชาวอาระกัน เผย “พวกเขามัดจะเข้ามาวันละสองครั้ง เราก็แค่หยุดทำและหนีไป ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะถูกจับและโดนปรับ”
คนที่โชคร้ายถูกจับก็จะต้องเสียค่าปรับราว 0 หมื่น ถึง 1 แสนจั๊ต (50 – 100 ดอลลาร์) ให้กับเจ้าหน้าที่ที่จับกุมโดยตรง จากนั้นก็กลับไปขุดต่อ
ในประเทศที่การคอรัปชั่นดูเหมือนเป็นเรื่องปกติเช่นนี้ แต่สำหรับผากั้นมีตัวเลขที่สูงกว่าที่ไหนๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาชญากรรมต่างๆ ตั้งแต่การลักขโมย การขายบริการทางเพศ การพนันไปจนถึงการค้ายาเสพติดและการฆาตกรรม ระบาดอย่างรุนแรง แต่แม้จะมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่สนใจจะดำเนินการ
โรงนวดและบ่อนการพนันเกิดขึ้นเรียงรายอยู่ตามถนนสายหลักในหมู่บ้านมะมอต ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของผากั้น ในขณะที่ หมู่บ้านซายตอง ตั้งอยู่อีกฝากหนึ่งของแม่น้ำอูรุ ซึ่งเป็นที่ที่ผู้ติดเฮโรอีนสามารถฉีดยาเข้าเส้นกันอย่างเปิดเผย
“ผากั้นเหมือนฮ่องกงสอง” อูวินทุนทุน พ่อค้าหยกในพื้นที่ กล่าว “ที่นี่ คุณจะได้ในสิ่งที่คุณต้องการ ผู้หญิง ยาบ้า เฮโรอีน คนที่นี่กว่าครึ่งติดยา”
อูฉ่วยเต่ง ประธานสาขาพรรคสันนิบาตประชาธิปไตยแงชาติพม่า หรือ เอ็นแอลดี ที่นี่กล่าวว่า เขาได้ยื่นข้อเสนอให้มีการแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดที่ผากั้น แต่พวกเขาก็ทำเป็นหูทวนลม
“ผมเสนอโครงการปราบปรามยาเสพติดไป แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า พวกเขาทำได้แค่ลดการใช้ยาเสพติดลงเท่านั้น” เขากล่าว “แม้ว่าเฮโรอันและยาเสพติดชนิดอื่นๆ มีการซื้อขายกันโดยบุคคลธรรมดา แต่ผมรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะพวกเขาเป็นผู้ดูแลเมืองนี้”
เขากล่าวว่า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกไม่มีอำนาจ “พวกเขาเหมือนเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ พวกเขาไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครเมื่อมีปัญหา”
สิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือ คนทั่วประเทศกำลังเพิกเฉยไม่ได้ตระหนักในสิ่งที่เกิดขึ้นในผากั้น
“มันแย่ยิ่งกว่าที่แล็ดปะด่อง” เขากล่าวถึงพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการก่อสร้างเหมืองแร่ทองแดงโดยบริษัทจีนในภาคสะกาย ที่ผู้คนทั่วประเทศต่างให้ความสนใจ “เราสูญเสียภูเขาไปลูกแล้วลูกเล่า แต่เหมือนไม่มีใครสนใจเลย”
จาก From Jade Land to a Wasteland โดย SAW YAN NAING
THE IRRAWADDY 21 กุมภาพันธ์ 2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น