หลังจากพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา คว้าที่นั่งในสภามาได้ทั้งหมด 43 ที่นั่งสร้างความยินดีปรีดาให้แก่บรรดาประชาชนกลุ่มผู้สนับสนุนทั่วทั้งประเทศมาแล้ว แต่แล้วล่าสุด พรรคเอ็นแอลดีกลับประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมประชุมสภาในวันที่ 23 เมษายน เนื่องด้วยไม่พอใจในถ้อยคำปฏิญาณตนเพื่อเข้ารับตำแหน่ง ที่มีเนื้อหาระบุให้ “ปกป้อง” รัฐธรรมนูญ ซึ่งทางพรรคเอ็นแอลดีได้เรียกร้องให้เปลี่ยนจากคำว่า “ปกป้อง” มาเป็น “เคารพ” แทน ทว่า กลับไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลพม่า การประชุมสภาในวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมาจึงไร้เงานางอองซาน ซูจี และส.ส.ใหม่ทั้ง 43 คน
[caption id="attachment_4254" align="alignleft" width="448" caption="ภาพจาก facebook ของ พรรคเอ็นแอลดี"][/caption]
“เราไม่ได้บอยคอต เพียงแต่กำลังรอคอยเวลาที่เหมาะสมอยู่” นางอองซาน ซูจี กล่าวถึงการไม่เข้าร่วมสาบานตนในครั้งนี้
อะไรอยู่เบื้องหลังการเดินหมากของพรรคเอ็นแอลดีในครั้งนี้ ? นักบรรดาวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กันไปต่างๆ นานาว่า ทั้งคาดว่าอาจเกิดจากรอยร้าวภายในพรรคเอง หรือแม้กระทั่งวิเคราะห์ไปว่า นางอองซาน ซูจีอาจตัดสินใจไปโดยไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมก็เป็นได้
หรือมิเช่นนั้น ก็เป็นไปได้ว่า พรรคเอ็นแอลดีอาจกำลังแสดงให้พรรค USDP ของรัฐบาลพม่าและบรรดาผู้นำเผด็จการทั้งหลายเห็นว่า พรรคเอ็นแอลดีนั้น ใช่ว่าจะยอมอ่อนข้อให้ง่ายๆ ในสภาได้
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุมสภานั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันที่สหภาพยุโรป หรือ อียู กำลังพิจารณาระงับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า ซึ่งเป็นเวลาที่ประเทศยุโรปทั้งหลายกำลังยกย่องชมเชยกับกระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศพม่า เช่นเดียวกับบรรดานักธุรกิจต่างชาติที่กำลังจะกรูกันเข้ามาลงทุนในพม่าในไม่ช้า ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดคำถามตามมาว่า ในเวลาเช่นนี้ จุดยืนของพรรคเอ็นแอลดีในครั้งนี้ถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่ ? ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่บรรดาผู้นำรัฐบาลพม่าต่างก็ช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปตามๆ กัน
ด้านนักวิเคราะห์เป็นห่วงว่า หากพรรคเอ็นแอลดียอมถอยหลังมาก้าวหนึ่ง เพื่อสาบานตนว่าจะ “ปกป้อง” แทนที่จะเป็น “เคารพ” รัฐธรรมนูญ อย่างที่เคยเรียกร้องนั้น เส้นทางการต่อสู้ในสภาของพรรคเอ็นแอลดีเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่ไม่เป็นธรรมจะต้องพบกับงานหนักกว่านี้หลายเท่า ซึ่งพรรค USSP เสียงข้างมากพร้อมกับบรรดาผู้นำก็อาจจะใช้คำสาบานเป็นเครื่องมัดตัวพรรคเอ็นแอลดีไม่ไห้แตะต้องรัฐธรรมนูญ และเขี่ยส.ส. พรรคเอ็นแอลดีให้ตกจากเก้าอี้ในสภาหากยังคงยืนกรานขัดขืนแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญของพม่ากำลังพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ ซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
ก่อนที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งจะออกเดินทางไปประชุมร่วมกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงที่ประเทศญี่ปุ่น เขาและนางอองซาน ซูจีได้พบปะหารือกันถึงเรื่องดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันจันทร์ที่ 23 ที่ผ่านมา สำนักข่าว AP ได้รายงานคำพูดของ ประธานาธิบดีเต็งเส่งว่า เขายินดีต้องรับนางอองซาน ซูจีเข้าสู่สภาแต่นางอองซาน ซูจีควรตัดสินใจเองว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม
มีหลายกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรคเอ็นแอลดีกำลังเสียเวลาอยู่กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนนางอองซาน ซูจีและพรรคยังคงเคารพการตัดสินใจในครั้งนี้ ส่วนประชาชนธรรมดาทั่วไปที่ตั้งความหวังไว้กับพรรคเอ็นแอลดีให้เป็นตัวแทนนำประเด็นปัญหาต่างๆ เข้าไปแก้ไขในสภานั้นต่างรู้สึกผิดหวังกับการไม่เข้าร่วมประชุมสภาของพรรคเอ็นแอลดีในครั้งเป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้มีการถกเถียงกันเป็นวงกว้างทั้งในสังคมออนไลน์ อย่าง facebook เช่นเดียวกับสื่อท้องถิ่นและสื่อต่างประเทศที่ต่างกล่าวถึงประเด็นนี้
หากพรรคเอ็นแอลดีไม่สามารถจัดการกับเรื่องนี้ได้ ก็นับว่าอันตราย เพราะฝ่ายรัฐบาลทั้งกองทัพและพรรค USDP ก็จะใช้เหตุการณ์นี้เป็นเครื่องมือเล่นงานพรรคเอ็นแอลดีได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวพม่าตาดำๆ ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคเอ็นแอลดี กำลังรอคอยให้ตัวแทนที่ตัวเองเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในสภาเพื่อแก้ไขปัญหา พรรคการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มก็กำลังรอคอยพรรคเอ็นแอลดีเพื่อสร้างความมั่นใจในอีกระดับหนึ่ง
ชาวพม่ากำลังรอคอยให้มีการหยิบยกประเด็นต่างๆ เข้าหารือในสภา อาทิ สุขภาพ การศึกษา การจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน รวมไปถึง โครงการเมกกะโปรเจ็คสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ลงทุนโดยประเทศจีนด้วย ซึ่งปัจจุบัน ประชาชนกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ในประเทศยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่ ไฟฟ้าจากโครงการต่างๆ ที่ว่ามา กลับถูกส่งออกไปยังประเทศจีนและไทย
อีกประเด็นหนึ่งที่ประชาชนอยากให้นำเรื่องเข้าสภาคือ โครงการท่าเรือและท่อก๊าซฉ่วยในรัฐอาระกัน ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่จากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทว่ารายได้มหาศาลและผลประโยชน์ยังคงเป็นเรื่องลับลมคมในอีกทั้งยังขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องนักโทษการเมือง การปรองดองแห่งชาติ กฎหมายที่เป็นธรรม และผู้ลี้ภัยอีกจำนวนมากในประเทศเพื่อนบ้านที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์อยากให้นางอองซาน ซูจีและส.ส.พรรคเอ็นแอลดีหยิบยกเข้าหารือในสภา
ในขณะที่ต่างประเทศกำลังชื่นคมความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่า แต่ ณ จนถึงป่านี้ ประชาชนชาวพม่ายังไม่เห็นการหยิบยกประเด็นสำคัญๆ ที่ว่ามาถูกนำขึ้นสภาแม้แต่เรื่องเดียว
ในขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่า การตัดสินใจของพรรคเอ็นแอลดีในครั้งนี้เป็นเรื่องผิดพลาดและอาจทำให้กระบวนการเมืองเป็นต้องถอยมาอยู่ที่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่ทว่า การประท้วงถ้อยคำในการปฏิญาณตนก็อาจเป็นแค่กลยุทธ์นำร่องอย่างแรก ก่อนจะเจอกับศึกหนักอีกหลายยกเมื่อเข้าไปในสภา
เรียบเรียงจาก NLD’s Principled Stance Could Backfire จาก irrawaddy 23 เมษายน 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น