เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ตัวแทนของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู ได้ร่วมเจรจากับรัฐบาลพม่าเป็นครั้งที่สอง โดยได้ร่วมลงนามข้อตกลงซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นแรกของการหยุดยิง ซึ่งจะเห็นภาพของตัวแทนทั้งสองฝ่ายเจรจากันด้วยรอยยิ้มและดำเนินไปในทางบวก
[caption id="attachment_4163" align="alignleft" width="305" caption="ภาพจาก AFP"][/caption]
ในระหว่างการเจรจากับนางซิปโปร่า เส่งเลขาธิการของเคเอ็นยู และคณะ ณ กรุงเนปีดอว์ เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้แสดงทัศนะที่มีต่อเคเอ็นยูซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิม ดูเหมือนว่า อยู่ๆ บรรดาผู้คณะรัฐบาลอดีตนายพลทั้งหลายเกิดเปลี่ยนใจขึ้นมาอย่างกะทันหัน ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ หรือสันติภาพในพม่ากำลังอยู่ใกล้แค่เอื้อม ?
ทว่า หากพิจารณาตัวแทนที่เข้าร่วมในการเจรจาในครั้งนี้มีข้อสังเกตหลายอย่างที่ไม่ชอบมาพากล
ประการแรก ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลในวันนั้นมี นายอ่องมิน รัฐมนตรีกระทรวงรถไฟ ทำหน้าที่ประธานในการเจรจา นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน อุตสาหกรรมหนัก และกระทรวงไฟฟ้า เข้าร่วมด้วย ซึ่งทำให้ชาวกะเหรี่ยงทั่วไปอาจคิดไปได้ว่า รัฐบาลดูเหมือนจะให้ความสนใจเรื่องเขื่อน เรื่องโครงการท่าเรือน้ำลึก มากกว่าเรื่องสันติภาพและการปรองดองในชาติเสียอีก
ประการที่สอง รัฐบาลพม่ามอบหมายให้หน่วยงาน Myanmar Egress ซึ่งเป็นเอ็นจีโอในพื้นที่เป็นตัวกลางในการเจรจา ก่อตั้งโดยนักธุรกิจและนักวิชาการที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลพม่า แรกเริ่มเดิมที Myanmar Egress เป็นหนึ่งในไม่กี่องค์กรที่จดทะเบียนเป็นเอ็นจีโอทำงานในพื้นที่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างสันติภาพให้แก่พม่า และมีส่วนร่วมในการเป็นสื่อกลางการเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่ากับเคเอ็นยูมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ซึ่งตัวแทนคนสำคัญของ Myanmar Egress บางส่วนได้เดินทางไปกับนายอ่องมินเพื่อพบกับตัวแทนเคเอ็นยูอยู่หลายครั้ง แม้อำนาจหน้าที่ของ Myanmar Egress จะไม่ชัดเจนและไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าเป็นตัวกลางหรือเป็นผู้เจรจาเองกันแน่ แต่ก็เห็นได้ชัดถึงการปรากฏตัวและการมีเสียงในการเจรจากับเคเอ็นยูในแต่ละครั้ง ซึ่งนั่นทำให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงทั้งในและนอกประเทศรับรู้ได้ว่า ธุรกิจ คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการรีบร้อนเจรจาสันติภาพของรัฐบาลพม่า
ประการที่สาม บทบาทของ Myanmar Egress กับเรื่องธุรกิจนั้นมีนัยซ่อนเร้นอยู่ เพราะเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลที่ต้องการเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์หลายพันล้านในโครงการพัฒนาพื้นที่ควบคุมของเคเอ็นยู ยกตัวอย่างเช่น นายหง่วยโซ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนจาก Myanmar Egress ที่เข้าร่วมเจรจาหยุดยิงในครั้งล่าสุดด้วย เขาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวายปริ๊นเซส ซึ่งได้ร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย และเป็นเสมือนแหล่งข้อมูลคนสำคัญให้แก่นายอ่องมินในการเจรจากับเคเอ็นยู เบื้องหลังการเจรจาที่มีกลุ่มคนที่จะได้ผลประโยชน์ทางธุรกิจจากการหยุดยิงเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ตัวแทนจากฝ่ายเคเอ็นยูจำนวนมากต่างกำลังวิตกกังวล
ถึงแม้ว่าถ้ามีลงนามในข้อตกลงหยุดยิงแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง 6 ข้อ จาก 11 ข้อ อาทิ การหยุดยิงทั่วประเทศ รับประกันว่าจะไม่มีการคุกคามประชาชน และตรวจสอบกระบวนการเพื่อสันติภาพ
อย่างไรก็ตาม ความเปราะบางและการพลิกกระดานของการหยุดยิงครั้งใหม่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยความจริงที่ว่า สัญญาตกลงหยุดยิงกับองค์กรอิสรภาพคะฉิ่นเมื่อ 14 ที่แล้วก็ยังถูกรัฐบาลพม่าฉีกทิ้งเมื่อไม่นานมานี้ และนั่นคงเป็นเหตุผลมากพอที่จะต้องระมัดระวังไว้ให้ดี หัวใจสำคัญของการการปรองดองแห่งชาติคือการแก้ปัญหาการเมือง ลำพังการหยุดยิงและการให้คำมั่นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นยังไม่เพียงพอ แต่ที่แน่ๆ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการเจรจากันทางการเมืองเกิดขึ้นเลย
ความแตกต่างของขั้นตอนที่จะนำไปสู่การปรองดองแห่งชาติของทั้งสองฝ่ายยังคงมีอยู่ ทัศนะของเคเอ็นยูในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพม่าคือการหยุดยิงและการถอนกำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลออกไปจากพื้นที่ปกครองของเคเอ็นยู การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองโดยตรงนอกสภาโดยไม่ต้องใช้ตัวแทน รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพม่ากำลังพยายามผลักดันแผนการโร้ดแม็บเพื่อประชาธิปไตยของตัวเองอยู่ ซึ่งเริ่มจากการหยุดยิงเป็นอันดับแรก ตามด้วยการพัฒนา โดยปราศจากการแก้ปัญหาการเมือง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะใช้การเลือกตั้งและสภาเป็นเครื่องมือ เมื่อมีความแตกต่างของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็คงต้องเตรียมตัวรับมือกับงานหนักในการเจรจาครั้งต่อๆ ไป
หากขั้นตอนการเจรจาหยุดยิงที่มีจุดประสงค์เพื่อสันติภาพของชาวกะเหรี่ยงและพม่าเป็นไปในทางเดียวกัน ประธานาธิบดีเต็งเส่งและตัวแทนทั้งหลายจำเป็นต้องพิจารณาบทบาทของตัวกลางอย่าง Myanmar Egress ให้เป็นไปอย่างยุติธรรม รวมทั้งลดผลประโยชน์ของบรรดานักธุรกิจที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจาหยุดยิงด้วย หากทำไม่ได้ การเจรจาหยุดยิงก็อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ และในเมื่อปราศจากสันติภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจก็คงเป็นแค่ฝันที่ไกลเกินเอื้อม.
(แปลจาก The economic forces at work behind the Karen ceasefire โดย Saw Kapi นักวิชาการจาก CaliforniaStateUniversity อดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวกะเหรี่ยง จากIrrawaddyวันที่ 6 เมษายน 2555)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น