วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555
เต็งเส่งหารือตัวแทน KNU ที่เนปีดอว์
ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้พบกับตัวแทนจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู(Karen National Union) ที่กรุงเนปีดอว์ เมื่อวันเสาร์(7 เมษายน) ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายลงนามข้อตกลงสันติภาพร่วมกัน 13 ข้อ
เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้พบกับตัวแทนกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อย นับตั้งแต่ที่เรียกร้องที่จะเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเป็นเวลากว่า 1 ชัวโมง โดยผู้อยู่ในการประชุมด้วยรายงานว่า การพบกันระหว่างทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างอบอุ่นและเปิดกว้าง
ทั้งนี้เคเอ็นยูเปิดเผยว่า จะดำเนินการเจรจาสันติภาพร่วมกับรัฐบาลพม่าต่อไปจนเสร็จสิ้น และจะเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆเข้าร่วมทำงานเพื่อให้เกิดสันติภาพในพม่า ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้บอกกับเคเอ็นยูว่า รัฐบาลของเขามองเคเอ็นยูเป็นเหมือนพี่น้องมากกว่าเป็นศัตรู
“อาวุธที่อยู่ในมือไม่ควรที่จะนำมาใช้ต่อสู้กันและกัน แต่ควรที่จะนำมาต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศ” เต็งเส่งกล่าวกับตัวแทนจากเคเอ็นยู โดยเต็งเส่งยังระบุว่า รัฐธรรมนูญสามารถที่จะแก้ไขได้ ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นด้วยที่จะลงนามข้อตกลงสันติภาพร่วมกัน 13 ข้อ ทั้งนี้ในที่ประชุม เคเอ็นยูได้เรียกร้องให้เต็งเส่งดำเนินการหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศ แต่มีรายงานว่า เต็งเส่งยังไม่ได้รับปากเรื่องนี้ แต่ระบุว่า สันติภาพทั่วประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับพม่า นอกจากนี้ทางตัวแทนเคเอ็นยูยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติกล่าวหาว่าเคเอ็นยูเป็นองค์กรผิดกฎหมาย ซึ่งในเรื่องนี้ประธานาธิบดีเต็งเส่งก็ไม่ได้รับปาก เพียงแต่กล่าวว่า รัฐบาลของเขาจะดำเนินการเป็นขั้นตอนเพื่อให้การเจรจาสันติภาพบรรลุผล
ทั้งนี้ เคเอ็นยูถือเป็นกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่เก่าแก่ที่สุดอีกกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยได้ถือปืนต่อสู้กับรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี 1949 (2492) รวมระยะเวลากว่า 63 ปี โดยเคเอ็นยูเพิ่งลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ขณะที่หลังจากเสร็จสิ้นการหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่งแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เคเอ็นยูได้เดินทางเข้าพบกับนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีที่บ้านพักในกรุงย่างกุ้งเมื่อวานนี้ เพื่อหารือถึงอนาคตทางการเมืองของพม่า โดยใช้เวลาหารือกันเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ทั้งนี้ นางซูจีระบุว่า การลงนามหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยเป็นเพียงก้าวแรกของสันติภาพ แต่พม่ายังมีกระบวนการอีกหลายอย่างที่ต้องเร่งดำเนินการ อย่างไรก็ตาม การพบกันระหว่างทั้งสามฝ่ายเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แปลและเรียบเรียงจาก Mizzima /www.karennews.org 9 เมษายน 55
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น