วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

Ban That Scene! หนังสั้นกล้าท้าแฉวงการแผ่นฟิล์มพม่า

เมื่อผู้กำกับภาพยนตร์ชาวพม่าอย่าง ทุนซอว์วิน หรือ วิน ลุกขึ้นมาสร้างหนังตลกเสียดสีวงการภาพยนตร์ในประเทศ ที่กว่าจะมาสู่สายตาประชาชนต้องผ่านขั้นตอนที่ทั้งแปลกประหลาดอะไรมาบ้าง  เขารู้ดีว่าสิ่งที่จะถูกหยิบมาใส่ในหนังเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นใน ชีวิตจริง” นี่แหละ 

 

หนังสั้นเรื่อง Ban That Scene! (ตัดฉากนั้นซะ!)  กล้าท้าทายล้อเลียนคณะกรรมการเซ็นเซอร์หนังได้อย่างเจ็บแสบ ซึ่งคณะกรรมการแต่ละคนในเรื่อง พยายามจะปกป้องภาพพจน์ของประเทศกันสุดฤทธิ์ได้อย่างฮา

 

เมื่อคณะกรรมการแต่ละคนนั่งประจำที่ลงบนเก้าอี้เบาะนวม เผชิญหน้ากับเงาภาพที่พุ่งออกมาจากเครื่องโปรเจ็กเตอร์ ท่ามกลางความมืดสลัวในโรงหนังของรัฐบาล พวกเขาก็เริ่มโจมตีทุกอย่างที่ปรากฏบนจอภาพ ทั้งฉากภาพขอทาน การคอรัปชั่น ฉากไฟฟ้าดับ ไม่เว้นแม้กระทั่งฉากต่อสู้กันบนถนน เพราะฉากที่ว่ามาล้วนแล้วจะทำให้ ภาพพจน์” ของประเทศแปดเปื้อนเสื่อมเสียได้ จึงมีเสียงของหัวหน้าคณะกรรมการตะโกนฝ่าความมืดออกมาว่า ตัดฉากนี้ ตัดออกไปเลย” อยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า

 

การทำหนังเรื่องออกมาโดยที่ผู้กำกับอย่าง วิน ยังอยู่รอดปลอดภัย ไม่ถูกจับเข้าคุก ก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ศิลปินบางส่วนเริ่มที่จะกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในยุคของรัฐบาลชุดใหม่ที่ดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกอย่างเสรีมากขึ้น หลังจากต้องตกอยู่ภายใต้กฎเหล็กของเผด็จการมานานหลายทศวรรษ แต่ขณะเดียวกัน หนังก็สะท้อนให้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างในพม่าที่ยังไม่เปลี่ยน ผู้กำกับไม่ได้ส่งหนังเรื่องนี้ให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์หนังพิจารณาเพราะรู้ดีว่ายังไงก็ต้องถูกแบนแน่นอน

 

ทว่า คณะกรรมการเซ็นเซอร์มีอำนาจตรวจสอบเฉพาะหนังที่สร้างออกมาเพื่อจำหน่ายเท่านั้น วินจึงต้องยอมตัดใจเรื่องผลกำไร แล้วแจกให้ดูกันฟรีๆ ไปเลย เพื่อไม่ให้หนังถูกแบน โดยเขาบอกว่า จำเป็นต้องเสียสละเพื่อให้ผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศรู้ว่า คนทำหนังพม่าต้องพบเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง

 

Ban That Scene  ถูกฉายครั้งแรกในเทศกาลหนัง “Art of Freedom”  ณ กรุงย่างกุ้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา  ซึ่งเทศกาลหนังดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยนางอองซานซูจี และซากานาร์ นักแสดงตลกและผู้กำกับหนังชื่อดัง  นอกเหนือจากนี้ วินยังได้เผยแพร่ลงในเว็บไซต์ยูทูป และทำเป็นดีวีดีจำนวน 1 หมื่นแผ่น ออกมาแจกประชาชนทั่วไปอีกด้วย

 

ความโดดเด่นของหนังเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความขัดแย้งกันระหว่างภาพลักษณ์อันสวยงามของประเทศที่รัฐบาลพยายามนำเสนอออกสู่สายตาโลกภายนอก กับความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมที่ไม่น่าอภิรมย์ ซึ่งล้วนเป็นผลงานของรัฐบาลเผด็จการทั้งสิ้น อย่างเช่น ฉากที่ชายพิการคนหนึ่ง เดินขอทานเพื่อหาเงินไปทำงานต่างประเทศ ที่ทำให้หัวหน้าคณะกรรมการเซ็นเซอร์ถึงกับตาโตด้วยความตกใจเมื่อเห็นฉากนี้   เสียภาพพจน์ของประเทศหมด ถ้าชาวต่างชาติเห็นเข้า เขาคงจะคิดว่าประเทศเรามีขอทานด้วย ขณะที่คณะกรรมการอีกคนแย้งว่า ใครๆ เขาก็รู้ทั้งนั้นว่าที่นี่มีขอทานจริงๆ แต่ท่านหัวหน้าก็เถียงข้างๆ คูๆ ว่า ในชีวิตจริงน่ะมีได้ แต่ไม่ใช่ในหนัง

 

มีอยู่ฉากหนึ่ง ซึ่งเป็นฉากเลิฟซีนระหว่างพระเอกกับนางเอก แต่อยู่ๆ ไฟ (ในหนัง) ก็ดับขึ้นมา ซึ่งอาจทำให้กระทรวงไฟฟ้าเสื่อมเสียได้  คณะกรรมการคนหนึ่งบอกว่า จริงๆ เรื่องไฟดับก็เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว   ฟังอย่างนี้แล้ว มีหรือที่หัวหน้าคณะกรรมการจะนิ่งเฉย เขารีบเถียงว่า พม่าไม่ได้ขาดแคบนไฟฟ้าเสียหน่อย จริงๆ แล้วเรามีไฟฟ้าเหลือเฟือจนต้องส่งออกไปขายต่างประเทศไงหละ (แต่ความจริงอันน่าเศร้ามีอยู่ว่า ประชาชนพม่ากว่า 75 เปอร์เซ็นต์ต้องใช้ชีวิตในยามค่ำคืนท่ามกลางความมืด ไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่รัฐบาลขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้ต่างประเทศไปเกือบหมด)

 

ขณะที่คณะกรรมการกำลังเถียงกันอยู่นั้น อยู่ๆ ไฟฟ้าในโรงหนังก็เกิดดับพรึบขึ้นมา จนต้องพึ่งเครื่องปั่นไฟฉายหนังกันต่อ ในขณะที่เครื่องปั่นไฟเริ่มทำงาน เสียงกรนของคณะกรรมการท่านหนึ่งก็ดังขึ้นมาพร้อมๆ กัน

 

ผู้กำกับบอกว่า เขารู้สึกเซอร์ไพรส์มากเมื่อรู้ว่า หนังของเขาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงบางท่าน โดยหนึ่งในจำนวนนั้นบอกเขาว่า  มันเป็นสิ่งที่ควรจะให้สาธารณชนได้ดู  ประชาชนควรจะได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้ายังคงมีการตัดฉากแบบนี้ออกไป ก็คงไม่เหลืออะไรให้ดูแล้ว

 

 

ซากานาร์ได้กล่าวว่า  หนังเสียดสีวงการภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ศิลปินได้อิสรภาพในการสร้างสรรค์ผลงานกลับคืนมาอีกครั้ง

 

ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกับดีว่า การสร้างหนังซักเรื่องหนึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนไม่น้อย ซึ่งไม่เฉพาะค่าใช้จ่ายในเรื่องโปรดักชั่น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกด้วย  องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้จัดอันดับให้พม่าเป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก ซึ่งวินบอกว่า แม้แต่ฉากที่ถูกแบนก็ยังสามารถสร้างได้ ถ้าจ่ายเงินใต้โต๊ะ  ซึ่งในหนังก็มีอยู่ฉากหนึ่งที่ กระเช้าของขวัญถูกส่งมามอบให้คณะกรรมการถึงโรงหนัง ซึ่งทุกคนต่างดีใจเมื่อเห็นว่ากระเช้าของขวัญมีทั้งช่อดอกไม้และวิสกี้ต่างประเทศ  เป็นของกำนัลเล็กๆ น้อยๆ จากผู้ผลิตหนังรายหนึ่ง

 

ในตอนจบของหนัง ผู้กำกับปิดท้ายด้วยข้อความสั้นๆ กลางจอว่า “we can change” (เราเปลี่ยนได้)

 



 

 

แปลจาก Burma Comedy Shows Changing Censorship Rules โดย TODD PITMAN จาก Irrawaddy วันที่ 2 พฤษภาคม 5555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น