[caption id="attachment_4402" align="aligncenter" width="576" caption="ภาพ Brennan O'Connor / The Irrawaddy"][/caption]
อำเภอแม่สอด – เนย์ซัตจ่าหน่าย เด็กหนุ่มวัย 19 ปี การเดินทางจากพม่ามายังเมืองชายแดนแห่งนี้ของเขาไม่แตกต่างจากเยาวชนพม่าหลายคน ที่ต้องการแสวงหาโอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่าในโรงเรียนหลายแห่งซึ่งเปิดสอนฟรีให้แก่ผู้อพยพ
เขามาถึงประเทศไทยเมื่อปี 2012 และเริ่มจากการเป็นอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษที่ห้องสมุดเพื่อนพม่า หรือ Best Friends Library และในช่วงนั้นเองที่เขาได้พบกับหนังสือชื่อ “Bar Le He Lu Nga Ye” (Human Hell? What is Human Hell?) เขียนโดย อูวินติ่น หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคสันนิบาตประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ เอ็นแอลดี ที่เคยต้องโทษจำคุกเป็นระยะเวลา 21 ปี จากการเขียนหนังสือเล่มนี้ เมื่อปี 1989 รวมทั้งเกี่ยวข้องกับพรรคเอ็นแอลดี ต่อมาในปี 2008 อูวินติ่นได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกคุมขังเป็นเวลา 20 ปี และในระหว่างที่อยู่ในเรือนจำนั้น สมาคมหนังสือพิมพ์โลกได้มอบรางวัล Guillermo Cano World Press Freedom Prize และ the Golden Pen of Freedom ให้แก่เขา
หน่าย ได้รับแรงบัลดาลใจจากนักสู้อาวุโสผู้นี้ ที่ไม่เคยหยุดเขียนแม้แต่อยู่ในคุก เพราะตลอดเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ เขาจะพยายามใช้เศษขวดที่แตกแล้วเขียนสมการคณิตศาสตร์และบทกวีลงบนผนังห้องขัง
“อูวินติ่นเขาไม่มีปากกาก็ยังหาทางเขียนจนได้ แต่ผมมีอุปกรณ์ทุกอย่างที่ต้องการ ทำไมผมจะลุกขึ้นมาเขียนอะไรเพื่อประชาชนของผมไม่ได้” หน่าย บอก
เขาเริ่มพูดคุยและเสนอความคิดกับเพื่อนในกลุ่มที่โรงเรียนสำหรับเด็กอพยพที่เขาเรียนอยู่ และโครงการจัดทำสื่อของเขาก็เริ่มบ่มเพาะมาตั้งแต่ตอนนั้น โดยกลุ่มของเขาเริ่มจาก FACEBOOK โดยได้เชิญชวนให้เพื่อนๆ คนอื่นๆ ส่งงานเขียนมาแบ่งปัน และร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ในระหว่างนั้น หน่ายได้รวบรวมเงินเก็บส่วนตัวที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นทุนก้อนแรกให้กับการก่อตั้งนิตยสาร
หลังจากที่พวกเขาต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่หยิบยืมจากห้องสมุดจนดึกจนดื่นมาเป็นเวลาหกเดือน นิตยสาร “The Young Generations’ Note” (สาสน์จากคนรุ่นใหม่) จึงถือกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยฉบับแรกมีทั้งหมด 22 หน้า ปัจจุบัน หลังจากออกมา 6 ฉบับ เพิ่มขึ้นเป็น 48 หน้า เช่นเดียวกับเนื้อหาที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งประกอบไปด้วย ข่าวในประเทศพม่าและข่าวต่างประเทศ บทความต่างๆ เรื่องสั้น แนะนำหนังสือ และคอลัมน์โหราศาสตร์ โดยฉบับล่าสุดยังได้เปิดโอกาสให้แรงงานอพยพเขียนจดหมายมาเล่าเรื่องราวชีวิต และแบ่งประสบการณ์ในการทำบัตรแรงงานที่ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย
ในช่วงแรก นิตยสาร “The Young Generations’ Note” เริ่มนำไปวางตามร้านน้ำชา โรงงาน และโรงเรียนสำหรับลูกแรงงานอพยพในอำเภอแม่สอด จนถึงขณะนี้มีให้อ่านที่ห้องสมุดเพื่อนพม่าในจังหวัดเชียงใหม่ ห้องสมุด Aung San’s Jarmoon ภาคพะโคประเทศพม่า นอกจากนี้ยังมีสมาชิกบางส่วนจากต่างประเทศอีก อย่าง เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ อีกด้วย
“ในแม่สอดมีสิ่งพิมพ์การเมืองอยู่มาก แต่คนที่อยู่ที่นี่ก็ต้องต่อสู่เพื่อความอยู่รอดเหมือนกัน เราต้องการอะไรที่เป็นการให้กำลังใจ ทำให้พวกเขารู้สึกดีต่อตัวเอง”
The Young Generations’ Note ยังได้กระตุ้นให้เพื่อนๆ ในชุมชนแชร์เรื่องราวของพวกเขาในพื้นที่ของนิตยสารอีกด้วย “พวกเขาได้อ่านและอยากจะส่งเรื่องราวของตัวเองมาลงในนิตยสารบ้าง” หน่ายบอก และว่า มันเป็นสิ่งสำคัญที่เยาวชนรุ่นต่อไปจะต้องมีความคิดเป็นของตัวเอง “เยาวชนพม่าต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ เราต้องเรียนรู้ที่จะไม่กลัวการวิพากษ์วิจารณ์และหัดวิเคราะห์ แต่ก่อนที่จะทำได้ เราต้องเชื่อมั่นในตัวเองเสียก่อน”
ทูทูซาน วัย 23 ปี เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม The Young Generations’ Note ตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนที่จะเดินทางมายังอำเภอแม่สอด เธอไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือมากนักถึงแม้ว่าเธอจะอยากอ่านก็ตาม ในรัฐมอญบ้านเกิดของเธอมีห้องสมุด แต่หนังสือส่วนใหญ่ก็ทรุดโทรมเสียหายเพราะถูกมอดปลวกกัดกิน และจะปิดทำการอยู่ตลอด เธอมีความฝันว่า อยากเปิดห้องสมุดเล็กๆ ที่บ้านเกิดเพราะ “เยาวชนจะได้ไม่ต้องเดินทางไปเรียนที่ประเทศอื่น”
และแล้วการได้มีส่วนร่วมกับนิตยสาร The Young Generations’ Note ก็ทำให้ความฝันของเธอก็เป็นจริง เมื่อ The Young Generations’ Note ออกมาฉบับแรก เธอได้เปิดห้องสมุดเล็กๆ ในหมู่บ้านโดยใช้พื้นที่ที่บ้านของป้าเป็นสถานที่ตั้ง “เราเริ่มจากหนังสือ 20 เล่ม ตอนนี้เรามีหนังสือ 350 เล่มแล้ว” และห้องสมุดแห่งนี้ได้ทำให้ผู้คนในชุมชนเล็กๆ ที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นไปได้ยาก แม้กระทั่งโทรทัศน์และวิทยุยังเป็นของแพง ได้มีโอกาส “เปิดหูเปิดตา” กับเขาบ้าง
คะโรมี สาวชาวปะหล่องวัย 20 ปี หนึ่งในสมาชิกผู้จัดทำนิตยสาร The Young Generations’ Note เห็นด้วยกับความคิดของทูทูซานเกี่ยวกับการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ชนบทห่างไกล เธอบอกว่า ในชุมชนชาวตาอั้ง หรือ ปะหล่องของเธอที่อยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉานไม่มีใครรู้ข่าวของพรรคเอ็นแอลดีและนางอองซาน ซูจีเลย “พวกเราเหมือนอยู่ในโลกมืด” คะโรมี บอก “เราจะคิดถึงแต่เรื่องไร่นาอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเกิดรัฐบาลมายึดที่ทำกินของพวกเราหละ มันสำคัญมากที่ชาวบ้านควรจะรับรู้และเริ่มคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว การขาดการคิดวิเคราะห์เป็นผลโดยตรงมาจากการขาดแคลนสื่อ”
ก่อนที่คะโรมีจะเข้าร่วมกับ The Young Generations’ Note เธอไม่เคยเขียนบทความอะไรมาก่อน แต่ด้วยทักษะและความมั่นใจที่ได้จากการเข้าร่วมกับนิตยสาร ทำให้ตอนนี้ เธอพร้อมแล้วที่จะผลิตสื่อในบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน
“เยาวชนต้องมีความรับผิดชอบสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป เราต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่อย่างนั้นทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม แต่ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เราต้องเริ่มคิดให้แตกต่าง ซึ่งทุกอย่างต้องอาศัยระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งประเทศพม่ายังขาดอยู่และเป็นปัญหาหลักอยู่ในขณะนี้ ”
ปัจจุบัน The Young Generations’ Note ได้ขยายกิจกรรมเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการผลิตนิตยสาร อาทิ จัดอบรมการผลิตสื่อให้แก่แรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็น การเขียน การถ่ายภาพ และการถ่ายวิดีโอ นอกจากนี้ ยังได้จัดทำเว็บไซต์(www.ygnote.com) เพื่อขยายกลุ่มผู้อ่าน รวมถึงจัดโครงการระดมทุนในเว็บไซต์ Indiegogo.com เพื่อหาเงินมาเช่าสถานที่ และซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ และได้เพิ่มยอดพิมพ์จาก 170 ฉบับ เป็น 500 ฉบับแล้ว
และนี่คือผลจากแรงบันดาลใจจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งพวกเขาหวังว่านิตยสารแต่ละเล่มจะค่อยๆ จุดประกายให้เกิดการปฏิวัติทางปัญญาได้
แปลจาก Take Note: Young Migrants Makes Waves with New Magazine โดย BRENNAN O'CONNOR จาก THE IRRAWADDY 7 พฤษภาคม 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น