วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

'ซูจี'พบเหลิม ฝากดูแล'พม่า'



'ซู จี'เข้าหารือ'เฉลิม' ขอรัฐบาลไทยช่วยดูแลสิทธิ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ของแรงงานพม่า ระบุซาบซึ้งน้ำใจประเทศไทย แม้ไม่ใช่ชาติร่ำรวยแต่ดูแลผู้ลี้ภัยพม่าเป็นอย่างดี จากนั้นลงพื้นที่มหาชัยซ้ำ ถกทางแก้ปัญหาคน งานพม่าโดนขูดรีดค่าขึ้นทะเบียน นอกจากนั้นยังไปจังหวัดตาก เพื่อรับฟังปัญหาชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน

 



เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก หรือ "เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ออน อีสต์ เอเชีย" ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ วันที่สองว่า วันนี้นางออง ซาน ซู จี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่าหรือพรรคเอ็นแอลดี ร่วมเข้าฟังการสัมมนาในหัวข้อ "โมเดลแห่งเอเชียตะวันออกที่จะเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจโลก" มีเนื้อหาพูดถึงสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการเชื่อมโยงของประเทศอาเซียนที่กำลังก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปีพ.ศ.2558

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางซู จี ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมอย่างมาก ในระหว่างที่เดินเข้าห้องประชุมผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมใจเงียบและพุ่งสายตาไปที่นางซู จี เพียงจุดเดียว นอก จากนั้น บางคนยังนำกล้องถ่ายรูปและโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายภาพนางซูจีเป็นจำนวนมาก และหลังจากฟังสัมมนาจบมีผู้ร่วมสัมมนาบางส่วนไปขอถ่ายรูปกับนางซูจีเป็นที่ระลึก

 

เวลา 14.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางซู จีเข้าพบและหารือกับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี โดยมีอธิบดีกรมการจัดหางานและบุตรชายทั้ง 3 คนของร.ต.อ.เฉลิม ร่วมในวงหารือด้วย พร้อมเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศร่วมรับฟัง

 

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวกับนางซู จี ว่า รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับแรงงานพม่าในไทย ปัจจุบันมีประมาณ 2 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานขึ้นทะเบียนแล้ว 8 แสนคน ส่วนที่เหลืออีก 1.2 ล้านคนยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน และรัฐบาลได้เร่งดำเนินการทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับรัฐบาลพม่าเพื่อให้เร่งพิสูจน์สัญชาติให้ถูกต้องตามขั้นตอน โดยแรงงานที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับสิทธิรักษาพยาบาลตามนโยบายประกัน สุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเช่นเดียวกับแรงงานไทย การดูแลบุตรหลานแรงงานพม่าให้ได้รับสิทธิเข้าศึกษาในโรงเรียน นอกจากนี้ ก่อนที่ตนจะเดินทางมาหารือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำให้ตนมาแจ้งว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิมนุษยชนด้วย ยืนยันว่ารัฐบาลไทยจะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้แรงงานพม่าได้รับการดูแลเหมือนญาติพี่น้อง

 

ด้านนางซู จีสอบถามถึงการแก้ปัญหาแรงงานพม่าที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีก 1.2 ล้านคน พร้อมขอให้รัฐบาลไทยช่วยดูแลและกวดขันผู้ประกอบการดูแลเรื่องสวัสดิการ และการรักษาพยาบาลให้ดี เพราะจากการมีโอกาสพูดคุยกับแรงงานพม่าในประเทศไทยนั้นได้รับการร้องเรียนว่าผู้ประกอบการไม่ดูแลเอาใจใส่ และยังยึดพาสปอร์ตไว้ เพื่อไม่ให้ย้ายหรือลาออกจากงาน อีกทั้งเวลาที่เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ผู้ประกอบการจะไม่ชดเชยและชดใช้ค่าเสียหาย

 

ร.ต.อ.เฉลิมชี้แจงว่า อย่าไปสนใจ ในอดีตเคยมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น แต่พอมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันเรามีคณะกรรมการและนโยบายที่ชัดเจนทำให้ปัญหาต่างๆ ลดน้อยลง และผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ซึ่งเป็นเพื่อนตนก็ดำเนินการตามกติกา

 

จากนั้นนางซู จีกล่าวเชิงหยอกล้อว่า "ถ้า สถานการณ์ในประเทศพม่าดีขึ้น จะนำแรงงานพม่ากลับทั้งหมด ดังนั้นรัฐบาลไทยจะต้องทำให้เขามีความสุขในการอยู่ประเทศไทยให้ได้ มิเช่นนั้นดิฉันจะแย่งคืนกลับไป" และว่า การที่รัฐบาลไทยดูแลแรงงานชาวพม่าเป็นอย่างดี จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีขึ้น และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ทั้งความเข้าใจและวัฒนธรรมได้มาก ต้องขอบคุณทุกความดีและการดูแลผู้อพยพและผู้หนีภัยสงครามชาวพม่าของคนไทยและรัฐบาลไทย เชื่อมั่นว่าเราจะร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆ ได้ แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศเล็ก ไม่ได้ร่ำรวยเหมือนเดนมาร์ก แต่ดูแลผู้ลี้ภัยชาวพม่าเป็นอย่างดี

 

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวด้วยว่า หากตนเดินทางไปพม่าจะไปเยี่ยมคารวะนางซู จีแน่นอน คาดว่าคงได้ไปในเร็ววันนี้เพื่อเจรจาปัญหายาเสพติด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจบการสนทนา ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวชื่นชมนางซู จี ในฐานะเป็นนักประชาธิปไตย โดยระบุว่า "ถ้ามาลงเลือกตั้งในประเทศไทย ผมคงหนักใจ เพราะป๊อปปูลาร์มากและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งก็ถือโอกาสอวยพรให้ชนะการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในพม่าในปี 2559" ส่วนนางซู จี กล่าวขอบคุณและหยอกกลับว่า จิตใจของสุภาพบุรุษมีความคิดอย่างไรไม่รู้ แต่ถ้ามาลง คิดว่าตนได้ใจจากสุภาพสตรีไทยแน่นอน และยังแซวร.ต.อ.เฉลิมว่า "พาลูกชายทั้ง 3 คนมาร่วมหารือด้วย แต่ทำไมไม่พาภรรยามา ไม่เช่นนั้นตนจะขอทำหน้าที่แทนนะ" ด้านร.ต.อ.เฉลิมหัวเราะตอบ จากนั้นพาบุตรชายร่วมถ่ายรูปคู่กับนางซู จีก่อนมอบของที่ระลึก

 

เวลา 16.40 น. นางซู จีลงพื้นที่ จ.สมุทร สาคร เป็นวันที่สอง โดยวันนี้ไปที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า ตั้งอยู่ในโครงการเคหะเอื้ออาทรท่าจีน ต.ท่าจีน อ.เมือง โดยเมื่อนางซู จีเดินทางมาถึงได้โบกมือทักทายกับแรงงานพม่ากว่า 5,000 คนที่มารอรับ จากนั้นเข้าห้องประชุมเพื่อพูดคุยถึงเรื่องของการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวกับนายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองสมุทรสาคร และผู้ที่เกี่ยวข้องประมาณ 20 นาที

 

ภายหลังการหารือ นางซู จี ปราศรัยว่า ทราบว่าแรงงานพม่าจำนวนไม่น้อยถูกนายหน้าเอาเปรียบเวลาไปทำบัตร หรือ พาสปอร์ต ซึ่งเรียกเก็บเงินแพงเกินไป เรื่องนี้ตนรับทราบและจะหาทางพูดคุยกับรัฐบาลไทยให้ช่วยแก้ไข ขอให้แรงงานพม่าตั้งใจและอดทนทำงาน แม่ออง ซานฯ รู้ดีว่าทุกคนคิดถึงบ้านคิดถึงพม่า แต่ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศยังไม่สงบ ขอให้ทุกคนอยู่ที่นี่ตั้งใจทำงาน เป็นคนดีของประเทศไทย รักประเทศไทย อยู่เมืองไทยอย่างสงบ ทำตัวให้คนไทยเห็นว่าคนพม่าเป็นคนดี แล้วอีก 3 ปีข้างหน้าหากพม่าพัฒนาดีขึ้น เมื่อนั้นทุกคนค่อยกลับบ้าน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 1 มิ.ย. นางซู จีมีตารางขึ้นกล่าวหัวข้อ "สนทนากับผู้นำ" ที่ห้องอยุธยา (เพลนารี) โรงแรมแชงกรี-ลา เวลา 08.30-09.00 น. และเวลา 11.00-12.15 น. ร่วมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยหัวข้อ "บทบาทสตรี ในฐานะผู้กรุยทางสู่อาเซียน" ที่ห้องอยุธยา (เพลนารี)

 

ส่วนวันที่ 2 มิ.ย. นางซู จี ผู้นำประชา ธิปไตยพม่า มีกำหนดการโดยสารเครื่องบินไปยัง จ.ตาก เพื่อเยี่ยมผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในพม่าในพื้นที่พักพิงชั่วคราว บ้านแม่หละ ต.แม่หละ อ.ท่า สองยาง เวลา 09.00-12.00 น. และเวลาประมาณ 13.00 น. เดินทางต่อไปยังคลินิกแม่ตาว ต.แม่ตาว อ.แม่สอด เพื่อหารือกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ และพ.ญ.ซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้งและดูแลคลินิกแม่ตาว ซึ่งให้การรักษาผู้ป่วยชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย-พม่า

 

นางแอฮ์ ธัวล์ ผู้ประสานงานกลุ่มอาสาสมัครที่ดูแลผู้ป่วยชาวพม่า ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมต้อนรับนางซู จีที่คลินิกแม่ตาวว่า ยังไม่มีกำหนดการแน่นอน แต่คาดว่านางซู จีน่าจะมาถึงเวลาประมาณ 13.30 น. เพื่อชมนิทรรศการ รวมถึงรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้อพยพจากฝั่งพม่าที่อาศัยอยู่ในไทย และประชุมหารือปัญหาต่างๆ หลังจากนั้นผู้นำฝ่ายค้านพม่าจะกล่าวปราศรัย

 

อย่างไรก็ตาม จะไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนติดตามนางซู จีระหว่างเยี่ยมชมคลินิก เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น ประกอบกับมีผู้คนจำนวนมากมาต้อนรับ เช่น บรรดาอาสาสมัคร ทีมงานเอ็นจีโอต่างๆ และจะมีแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งด้วย แต่จะจัดให้ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพและซักถามนางซู จี เป็นเวลา 10 นาทีหลังการปราศรัยที่คลินิกสิ้นสุดลง

 

ทั้งนี้ นางธัวล์กล่าวว่า พยายามไม่รู้สึกตื่นเต้นกับการเดินทางมาเยี่ยมของนางซู จี แต่ต้อง เตรียมการมากมาย และอยากให้นางซู จี ได้รับทราบถึงปัญหาชาวต่างด้าวในไทย เช่น ชาวกะเหรี่ยงที่มีชีวิตยากลำบากในไทยและเมื่อกลับไปบ้านเกิดในพม่ามักถูกรัฐบาลพม่าละเลย

 

 

ข่าวสด 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น