วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

รำลึกเหตุการณ์ปี 88 จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยในพม่าวันนี้

เช้าตรู่วันฝนพรำของวันจันทร์ในเดือนสิงหาคม ย้อนหลังไปเมือยี่สิบสี่ปีที่แล้ว ซานนีวัย 21 ปีในเวลานั้น ตื่นขึ้นมาโดยที่ไม่รู้เลยว่า ช่วงสุดท้ายของวันจะจบลงด้วยความเศร้า  เวลา 7.30 น เขาออกจากบ้านไปพร้อมกับจิตวิญญาณอังแรงกล้าเพื่อไปร่วมการชุมนุมประท้วงในตัวเมือง โดยที่ไม่มีความกังวลใดๆ นอกจากความตื่นเต้น

 

มันเป็นวันที่ 8 สิงหาคม 1988 หรือที่เรียกกันว่า “8-8-88” ประชาชนชาวนับแสนจากทั่วทุกสารทิศออกมาเดินขบวนประท้วงในกรุงย่างกุ้งอดีตเมืองหลวงเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการภายใต้การควบคุมของนายพลเนวิน ที่กดขี่ข่มเหงพวกเขามาเป็นเวลากว่า 26 ปี

 

“จนถึงทุกวันนี้ ผมไม่เคยเสียใจที่ได้เข้าร่วมการประท้วงในเวลานั้น ผมทำสิ่งที่ผมคิดว่าต้องทำ ” นี่คือคำพูดของอดีตนักศึกษาสาขาฟิสิกส์ชั้นปีที่ 3 แห่งมหาวิทยาลังย่างกุ้ง ซึ่งต่อมาเขาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาหลายปีจากการเข้าร่วมประท้วงดังกล่าว

 

25 ปีผ่านไป วันดังกล่าวได้กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์พม่าสมัยใหม่ เป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยโค่นล้มรัฐบาลเนวิน และเป็นวันที่ชื่อของนางอองซาน ซูจี ถือกำเนิดขึ้นในฐานะสัญลักษณ์ของการต่อสู่เพื่อประชาธิปไตย  มันเป็นวันแห่งความหวัง กระสุนปืน เลือดและคราบน้ำตา

 

เมื่อนึกถึงวันนั้น สิ่งแรกที่แล่นเข้ามาในความคิดของซานนีอยู่เสมอคือ ริ้วขบวนของฝูงชนที่ตะโกนข้อความต่อต้านนายพลเนวิน ท่ามกลางประชาชนสองข้างถนนที่แสดงท่าทีสนับสนุนการเดินขบวนประท้วงครั้งนี้

 

“บนถนนเต็มไปด้วยผู้คนจนสุดลูกหูลูกตา ประชาชนนับไม่ถ้วนออกมายืนเรียงแถวอยู่ข้างถนนคอยให้น้ำ อาหาร และบุหรี่แก่พวกเรา และบอกว่า ขอให้ทำให้สำเร็จ” เขานึกย้อนไปในอดีต

 

“มันทำให้ผมร้องไห้ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากวันนั้นคือ ประชาชนพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างคุณถ้าคุณยืนอยู่ข้างเดียวกับเขา และการสนับสนุนที่มากมายทำให้ผมเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถชนะได้อย่างง่ายดาย”

 

ทว่า การปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมของรัฐบาลทหารที่ศาลากลางเมืองย่างกุ้งแสดงให้เห็นว่า เขาคิดผิด

 

พโยน โช หนึ่งในแกนนำกลุ่มนักศึกษาปี 88 อยู่ในกลุ่มประท้วงบริเวณหน้าศาลากลางก่อนที่รัฐบาลทหารจะเปิดฉากโจมตีสลายการชุมนุมเพียงไม่กี่นาที เขาอายุ 22 ปีในเวลานั้นและกำลังศึกษาปริญญาโทสาขาภูมิศาสตร์ในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง

 

“ประมาณห้าทุ่ม มีคนบอกว่าพวกเราถูกล้อมหมดแล้ว  ทหารได้เตือนพวกเราสามครั้งให้สลายการชุมนุม หลังจากนั้นไปก็เริ่มดับ บรรดากระสุนปืนก็เริ่มบินโฉบเข้ามา ผมโชคดีที่หนีไปได้อย่างหวุดหวิด”

 

พระพันธะวันสา วัย 55 ปี ที่เข้าร่วมการชุมนุมในฐานะสมาชิกองค์กรพระสงฆ์รุ่นใหม่ในย่างกุ้ง ยังจำภาพเหตุการณ์นองเลือดได้อย่างชัดเจน  “เมื่อพวกเขาเริ่มยิง อาตมาตกใจมาก ชายสองคนที่อยู่ใกล้ๆ ล้มลง อาตมาจับพวกเขาไว้แล้วพาเขาวิ่งหนีเอาชีวิตรอด จากนั้นไม่กี่นาทีก็พบว่า ศีรษะของชายคนหนึ่งที่อาตมาช่วยไว้เปิดออก สมองของเขาเละเหมือนเต้าหู้ ส่วนอีกคนซึ่งเป็นพระ ถูกยิงที่ท้อง จนมองเห็นไส้ เขาเสียชีวิตไปแล้วเหมือนกัน” ล่าสุดท่านเป็นหนึ่งในผู้นำการประท้วงของพระสงฆ์เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา

 

เช้าวันรุ่งขึ้น ย่างกุ้งถูกปกคลุมไปด้วยความเงียบผิดปกติ ไม่มีแม้ร่องรอยของการเข่นฆ่าประชาชนที่เกิดขึ้นหน้าศาลากลางเมื่อคืนที่ผ่านมา จำนวนผู้เสียชีวิตไม่ได้รับการเปิดเผย

 

ดร.ติ่นเมียววิน แพทย์ประจำครอบครัวของนางอองซาน ซูจี เป็นศัลยแพทย์ในโรงพยาบาลย่างกุ้ง และได้รักษาผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ถึงแม้ว่าเขาจะจำเหตุการณ์ในเวลานั้นได้ดี แต่ก็ไม่อยากจะพูดถึงมันอีก เพราะไม่อยากรื้อฟื้นให้เกิดปัญหาที่อาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรองดองแห่งชาติที่นางอองซาน ซูจีกำลังพยายามทำหน้าที่อยู่ แต่ก็ยอมรับว่าเหตุการณ์ 8-8-88 ส่งผลต่อประเทศเป็นอย่างมาก

 

“ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า มันทำให้เกิดผู้นำและตัวละครในการเมืองพม่าทุกวันนี้ การลุกฮือของประชาชนได้เปิดหูเปิดตาเราให้เห็นถึงความต้องการการปรองดองแห่ชาติและเอกภาพ ที่จะเป็นกำลังสำคัญให้ภารกิจที่เริ่มขึ้นเมื่อ 24 ปีที่แล้วให้ลุล่วง ”

 

โพนโชกล่าวว่า การเคลื่อนไหวในปี 88 เป็นจุดกำเนิดของการประท้วงในครั้งต่อๆ มา ซึ่งสิ่งถูกกล่าวในการประท้วงทุกครั้งคือ ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย ซึ่งประโยคดังกล่าวยังคงส่งเสียงสะท้อนมาจนถึงทุกวันนี้

 

“หลังจากที่เราเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่า รัฐบาลก็กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงบางอย่างอยู่ แต่ผมต้องบอกว่า หนทางยังอีกยาวไกลกว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่เราต้องการ  อย่างเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นตัวอย่าง ถ้าเราทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงเหมือนอย่างในปี 1988 เราก็จะชนะ”

 

สำหรับพระพันธะวันสาแล้ว ถือว่า ประชาธิปไตยในพม่าเริ่มขึ้นจากเหตุการณ์ในปี 88

“เป็นครั้งแรกที่เราชาวพม่าร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับเผด็จการทหาร เป็นครั้งแรกที่พูดถึงประชาธิปไตย ทุกคนทราบดีว่า ความเปลี่ยนแปลงในวันนี้ คือผลจากการต่อสู้เมื่อปี 88 ที่รอคอยมายาวนาน”

 

 

จาก  The Day a New Burma was Born   โดย KYAW ZWA MOE สำนักข่าวTHE IRRAWADDY

3 สิงหาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น