วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555
เมื่อวงร็อคอินดี้พม่าขอโกอินเตอร์
ในขณะที่นานาชาติกำลังเล็งหาโอกาสที่จะเข้ามาทำธุรกิจในพม่าอยู่นั้น หารู้ไม่ว่า วงดนตรีหน้าใหม่ของพม่า ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศเผด็จการ ได้โกอินเตอร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในปีนี้มีสองอัลบั้มร็อคอินดี้ของพม่าได้ถูกเผยแพร่ผ่าน iTunes, Amazon และ Spotify เปิดโอกาสให้คนทั่วโลกได้รับฟังดนตรีใต้ดินของพม่ากันแล้ว
“ผมแค่ต้องการให้โลกได้รู้ว่าที่นี่เราก็มีดนตรีแบบนี้เหมือนกัน และในทางดนตรีถือว่า เราไม้ได้ถูกทอดทิ้ง” ดาร์โก ซี นักร้องนำของวง Side Effect วงอัลเทอร์เนทิฟร็อค กล่าว
Side Effect ที่ประกอบด้วยสมาชิก 4 คนได้ปล่อย Rainy Night Dreams อัลบั้มเปิดตัวของพวกเขาในพม่าเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา หลังจากได้มีโอกาสไปร่วมแสดงในมหกรรมดนตรีเฮลโลอาเซียนที่บาหลี ประเทศอินโดนิเซียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่ง Side Effect เรียกได้ว่าเป็นวงร็อคอินดี้ของพม่าวงแรกที่ได้เดินทางไปแสดงในต่างประเทศ และไม่นานหลังจากนั้น พวกเขาก็ได้เผยแพร่อัลบั้มในอินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงผู้ฟังที่มากขึ้น
“ถ้าเพลงของคุณอยู่ในร้านค้าออนไลน์แล้วล่ะก็ คุณไม่เดาไม่ออกหรอกว่าจะมีคนฟังมากแค่ไหน มันเป็นเรื่องตื่นเต้นทีเดียวสำหรับพวกเรา เพราะมันไปทั่วโลกเลยก็ว่าได้” ดาร์โก ซี บอก
“ผมรู้สึกว่าตัวเองโกอินเตอร์แล้ว” จ่าเป้าก์ สมาชิกวง Blood Sugar Politik วงอัลเทอร์เนทิฟร็อกพม่าอีกวงหนึ่ง อัลบั้มแรกของพวกเขาที่ชื่อ One Second Sentence มีให้ดาวโหลดแล้วใน iTunes ซึ่งต่างจากอัลบั้มของศิลปินอื่นๆ ที่มีอยู่ในพม่าตรงที่ โดยมีเพลงภาษาอังกฤษถึง 10 เพลงจากทั้งหมด 11 เพลงในอัลบั้ม
จ่าเป้าก์เชื่อว่าเพลงอินดี้พม่าที่อยู่ในโลกออนไลน์อยู่ในตอนนี้จะเป็นการเปิดประตูให้กับผู้คนตั้งแต่ออสเตรเลียไปจนถึงซิมบับเวย์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับดนตรีร่วมสมัยของพม่า
“ไม่มีอะไรมาขวางกั้นอีกต่อไปแล้ว ทั่วโลกมีเพลงของเราแล้ว สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด ถ้าพวกเขาอยากได้เพลงของเรา พวกเขาก็ต้องได้ เพราะเหตุนี้เราถึงต้องเผยแพร่ใน iTunes ส่วนจะมีใครซื้อหรือไม่อย่างไงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
ทั้งสองวงไม่ใช่วงแรกสุดของพม่าที่เผยแพร่อัลบั้มบนอินเทอร์เน็ต โดยดาร์โก ซี กล่าวว่า การทำอัลบั้มเพลงออนไลน์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับวงที่ไม่มีงบ
ดนตรีอินดี้ร็อคยังไม่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาวเหมือนดนตรีแนวอื่นจึงหาคนที่จะมาลงทุนให้ทำอัลบั้มได้ยาก การออกอัลบั้ม แม้แต่ในประเทศเอง ต้องใช้เงินเยอะมากจึงเป็นเรื่องยากมากถ้าอยากจะเป็นร็อคเกอร์แต่กระเป๋าไม่หนักพอ “ถ้าคุณมีเพลงแต่ไม่มีเงิน ก็ทำอัลบั้มดิจิตอล”
ดูเหมือนอัลบั้มออนไลน์จะเป็นทางออกที่ดูดีทีเดียว แต่ก็ยังไม่วายต้องมีอุปสรรคอีกจนได้ เพราะการจำหน่ายเพลงออนไลน์จำเป็นต้องลงทะเบียนโดยใช้บัตรเครดิต ซึ่งพม่ายังขาดระบบเครดิตการ์ดที่สามารถทำธุรกรรมข้ามแดนได้
“แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ถ้าคุณมีเพื่อนอยู่ต่างประเทศ ก็ขอให้เขาช่วยได้ ผมก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน” จ่าเป้าก์ บอกถึงวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ศิลปินทั้งสองกล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถของพวกเขามากพอที่จะพัฒนาไปในระดับสากลได้ โดยพวกเขาไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองน้อยหน้าไปกว่าใคร แม้ว่าจะมาจากประเทศที่ล้าหลังกว่าเพื่อนบ้านก็ตาม
“จากมุมมองของซาวด์เอ็นจิเนียร์ เรื่องเทคโนโลยีที่เราใช้อาจล้าหลังก็จริง แต่คนจะสนใจแค่ฟังดนตรี เขาไม่สนหรอกว่าคุณมีระบบการอัดเสียงยังไง ” จ่าเป้าก์ กล่าว พร้อมเสริมว่า วงดยตรีอเมริกันที่พวกเขาชื่นชอบหลายวงที่ทุนน้อยก็กัดเสียงกันตามห้องรับแขกหรือแม้แต่ในห้องครัวก็มี “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือดนตรีของคุณต้องดี และเราก็เชื่อในสิ่งที่เราทำ”
ถ้าเพลงของเรามีซาวด์ออกไปทางพม่า มันก็โอเค เพราะเราเป็นคนพม่า ซึ่งมันเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับชาวต่างชาติ แต่ผมรับประกันได้ว่า เพลงของเราจะไม่ทำให้ประเทศของเราเสียหน้า” ดาร์โก ซี กล่าว
เขาหวังว่า ถ้าวงดนตรีอังกฤษหรืออเมริกันสามารถสร้างสรรค์เพลงที่โด่งดังไปทั่วโลกได้ วงดนตรีของพม่าก็ทำได้เหมือนกัน “การที่จะโกอินเตอร์ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นเคิร์ท โคเบน สิ่งที่คุณต้องทำคือ เป็นตัวของตัวเอง”
จากบทความ Burmese Indie Rock Goes Global โดย HPYO WAI THA ใน irrawaddy.org วันที่ 29 สิงหาคม 2555
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น