วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม - ชะตากรรมชาวบ้านในพื้นที่เหมืองทองแดงมงหยั่ว

มงหยั่ว    ภาคสะกาย - ถนนที่ถูกปรับจนเรียบล้อมรอบไปด้วยแนวต้นอ่อนยูคาลิปตัสบนกำแพงดินที่สูงกว่าหนึ่งเมตร จากระยะทางหลายร้อยเมตรต้นไม้เหล่านี้เป็นสิ่งมีชีวิตสีเขียวเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ พวกมันไม่ได้ช่วยบรรเทาความร้อนหรือช่วยบังตาจากความรกร้างที่อยู่รายรอบได้เลย

 

กำแพงดินที่ว่าคือกำแพงของเหมืองทองแดงมงหยั่ว   ปรากฏขึ้นมาท่ามกลางพื้นที่ว่างเปล่า มีเนินดิน สระน้ำ และกระท่อมเล็กๆ เป็นหย่อมๆ เนื่องจากไม่มีต้นไม้ในบริเวณนี้จึงทำให้แสงแดดในช่วงกลางวันค่อนข้างร้อนจัด ใบหน้าของ มะเอเอ ถูกปกคลุมด้วยเงาของงอบไม้ไผ่ปีกกว้าง  เธอกำลังนั่งยองๆ อยู่ข้างบ่อน้ำเล็กๆ บ่อหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่น้ำสำหรับดื่มแน่นอน บ่อน้ำแห่งนี้มีขนาดกว่า 3 x 1.5 เมตร ภายในบ่อใส่กระป๋องเปล่าที่ซื้อมาจากร้านน้ำชาลงไปซึ่งตอนนี้เริ่มจะผุแล้ว  ซึ่งได้สารสีม่วงหรือ แร่ทองแดง นั่นเอง

 

โกติ่นหม่อง เปิดเผยว่า ชาวบ้านที่นี่เคยเป็นเกษตรกรก่อนที่เหมืองทองแดงแห่งนี้จะเริ่มดำเนินการเมื่อ 25 ปีที่แล้ว นี่เคยเป็นที่ดินของเรามาก่อน” เขาบอก พลางชี้นิ้วไปยังหย่อมกระท่อมและเนินดิน เราเคยปลูกพืชและนำผลผลิตไปขายในเมือง หลังจากที่มีเหมืองแร่ หางแร่ผสมกับสารแคมีที่พวกเขาใช้สกัดทองแดงแพร่กระจายไปทั่วที่ดินของเรา ไม่สามารถปลูกอะไรได้ ไม่มีใครปลูกข้าวหรือพืชผลอื่นบนที่ดินของตนเองได้อีกเลย”

 

“หลังจากนั้นคนแก่ๆ ที่พอมีความรู้เรื่องเหมืองทองแดงสอนให้เราสกัดแร่ทองแดงโดยใช้หางแร่และน้ำ โดยใส่กระป๋องนมข้นลงในบ่อน้ำที่ผสมหางแร่ น้ำที่ใช้ใส่ลงไปในบ่อนั้น ชาวบ้านจะใช้ปั๊มน้ำของตัวเองปั๊มน้ำบาดาลมาผสมกับหางแร่ก่อนจะกรอง”

 

มะเอเอ บอกว่าพวกเธอเก็บกระป๋องเปล่ามาจากร้านน้ำขาในเมืองมงหยั่ว ที่ห่างออกไปจากที่นี่ 15 กิโลเมตร และต้องข้ามแม่น้ำชินวิน แต่ละบ่อจะใช้กระป๋องลงไปมากกว่า 32 กระป๋อง น้ำหนักรวมประมาณ 1.6 กิโลกรัม ซึ่งต้องแช่ไว้ในบ่อเป็นเวลาหนึ่งเดือนและต้องคอยเปลี่ยนน้ำวันละสองครั้ง

 

บริเวณนี้มีบ่อน้ำเป็นไปหมด ชาวบ้านกว่าหนึ่งพันบนที่อยู่บริเวณหางแร่ มีรายได้เลี้ยงปากท้องจากการหาแร่ทองแดง โดยบ่อแต่ละบ่อจะได้ทองแดงที่ขายได้ราคาประมาณ 1 แสนจั๊ต ซึ่ง โกติ่นหม่อง ยอมรับว่ามากกว่ารายได้จากการเกษตรเสียอีก

 

บ่อเหล่านี้จะได้รับการดูแลจากสมาชิกทั้งหมดในครอบครัว แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ก็จะเห็นหิ้วถังน้ำเดินไปมา เขาบอกว่า ชาวบ้านรู้ดีว่าสิ่งแวดล้อมแถวนี้ไม่ดีทั้งสำหรับอยู่อาศัยหรือทำงาน แต่เพราะที่ดินไม่สามารถปลูกอะไรได้และไม่มีทางหารายได้ทางอื่นอีกแล้ว

 

“พวกเราไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานที่นี่ แต่บริษัทที่ทำเหมืองเข้าใจเราดีว่าไม่มีงานทำและหาเลี้ยงปากท้องลำบาก พวกเขาจึงยอมให้เราหาเศษทองแดงเล็กๆ น้อยๆ ได้ ถึงแม้จะได้เงินมากกว่าตอนที่ทำเกษตร แต่พวกเราก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร”

 

เขาเล่าว่า ชาวบ้านที่ทำงานที่หางแร่ไปหาน้ำสะอาดมาจากบ่อน้ำในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ “เราไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพเลย ไม่ว่าจะเป็นท้องร่วงหรือโรคอื่นๆ”

 

โกติ่นหม่องใช้มือจุ่มลงไปในบ่อน้ำและหยิบกระป๋องนมข้นที่มีแร่ทองแดงเกาะอยู่ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้กระป๋องนมมีสภาพที่เปราะบางเหมือนกระดาษ “เรารู้ดีว่าการทำงานที่นี่มีอันตราย เพราะน้ำที่นี่ไม่เหมาะที่จะนำมาดื่ม เรารู้ว่ามันเปื้อนสารเคมีจากเหมืองแร่”

 

เหมืองแร่ทองแดงมงหยั่งดำเนินการโดยบริษัท Myanmar Ivanhoe Copper Company Limited (MICCL) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท Ivanhoe Mines Ltd ของแคนาดากับ Mining Enterprise (1) ของรัฐบาลพม่า

 

บริษัท Ivanhoe ยอมรับว่าบริเวณเหมืองแร่กำลังประสบปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่กล่าวว่าบริษัทไม่ได้มีส่วนในการทำให้สิงแวดล้อมเสียหาย และกล่าวโยนความผิดไปยังบริษัท RTB Bor ของยูโกสลาเวียที่ร่วมมือกับ Mining Enterprise (1) ของรัฐบาลพม่า ก่อนหน้านี้ ซึ่งใช้วิธีการสกัดแร่ที่ไม่เหมือนกัน และเผยว่า ปลายปี 2005 มีที่ดินกว่า 225 เฮกเตอร์ ได้รับการฟืนฟูตั้งแต่เข้ามาดำเนินการต่อจาก บริษัท RTB Bor ในปี 1998 แต่ยังเหลือพื้นที่อีก 150 เฮกเตอร์ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้ามาหาแร่จากหางแร่โดยได้รับอนุญาตอย่างไม่เป็นทางการ

 

Glen Ford ผู้จัดการทั่วไปของ MICCL เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า พื้นที่ที่ชาวบ้านเข้ามาหาแร่อยู่นอกเขตเหมือง บริษัทจึงไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปฟื้นฟูปรับปรุง โดยเขาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า มีการรั่วไหลของสารเคมีลงสู่พื้นที่ที่เคยเป็นที่ทำกินของชาวบ้านมาก่อน

 

“บริเวณที่ชาวบ้านเข้ามาหาแร่ไม่ใช่พื้นที่เกษตรกรรม และไม่เคยมีการทำการเกษตรมาก่อน คุณจะเห็นพื้นที่ทำการเกษตรที่อยู่ติดกับพื้นที่ดังกล่าวซึ่งตอนนี้พวกเขาก็ยังทำเกษตรอยู่ และผลผลิตก็งอกงามดี พวกเขายังคงนำไปขายที่ตลาดอยู่เหมือนเดิม ในการขุดเจาะบ่อเพื่อตรวจสอบล่าสุดรอบๆ เหมือง ไม่พบซัลไฟต์(ทองแดง)ในน้ำแต่อย่างใด ทุกอย่างอยู่ในระดับที่เป็นที่ยอมรับได้”

 

นอกจากนี้เขายังบอกว่ามีการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อเหมืองหยุดดำเนินการ “ในช่วงหกถึงเก้าเดือนที่ผ่านมา เราได้ทำการเร่งฟื้นฟูพื้นที่มากขึ้น ถ้าคุณไปที่เหมืองตอนนี้จะเห็นว่า หลายจุดถูกเคลียร์แล้ว บางจุดกลับไปเป็นพื้นที่เพาะปลูกแล้ว และถ้าคุณมองไปรอบๆ เหมือง ก็จะเห็นเกษตรกรอยู่บริเวณนั้น ถ้าน้ำบาดาลเกิดมลพิษ คุณจะไม่เห็นพืชผลที่งอกงามอย่างนั้น”

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2000 มีรายงานออกมาเกี่ยวกับผลกระทบของเหมืองแร่แห่งนี้โดยโจมตีว่า MICCL เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นี่ ซึ่งทาง Glen Ford ได้ปฏิเสธรายงานดังกล่าวและโยนความผิดให้บริษัท RTB Bor ที่เข้ามาดำเนินการก่อนหน้า นอกจากนี้ยังโจมตีเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้จัดทำรายงานดังกล่าวที่ไม่ได้เข้ามาในพื้นที่ด้วยตัวเอง

 

ด้านบริษัท Ivanhoe เองกำลังรอการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ในการดำเนินขยายการเคลียร์พื้นที่หลังการทำเหมืองที่มงหยั่วต่อ แต่ก็ไม่รับรองว่าจะดำเนินการได้หรือไม่เนื่องจากบริษัทได้ขายหุ้นใน MICCL ไปแล้ว ทว่า หากมีการขยายการฟื้นฟูพื้นที่อาจรวมไปถึงบริเวณที่ โกติ่นหม่อง ละมะเอเอ ใช้เป็นพื้นที่หาเลี้ยงครอบครัวอยู่

 

คนหาแร่เถื่อนที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างพวกเขาพร้อมที่จะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ได้ตลอดเวลา ซึ่งพวกเขาต่างกลัวว่า สารที่พวกเขาใช้ยังชีพจะเหือดหายไปหากพื้นที่ได้รับการฟื้นฟู ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่เคยทำลายที่ทำเกษตรและแหล่งนี้ของพวกเขามาก่อน

 

“ตอนนี้ เราถูกทอดทิ้งให้หาเลี้ยงชีพจากหางแร่ที่นี่ แต่เราก็กังวลว่าจะเป็นอย่างไรถ้าพื้นดินไม่มีสารอะให้เราหาแร่ทองแดงได้อีกต่อไป ที่นี่เราไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร”

 

จากบทความ Where crops once grew near Monywa, now copper is extracted โดย Thomas Kean and Minh Zaw 8 ตุลาคม 2555 mmtimes.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น