วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อนาคตภาษาชนเผ่าใต้เงารัฐบาลชุดใหม่

นับเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่หนังสือเรียนภาษาไทใหญ่ฉบับเดียวทำหน้าที่เก็บรักษาวัฒนธรรมทางภาษาของพวกเขาไว้ และได้ถูกนำมาถ่ายทอดกันอย่างลับๆ ภายใต้เงาเผด็จการ

 

มาในวันนี้รัฐบาลชุดใหม่ได้พยายามสานสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยติดอาวุธหลายกลุ่มหลังจากทำสงครามกลางเมืองกันมายาวนานหลายสิบปี  และหนึ่งในข้อเรียกร้องในกระบวนการปรองดองที่ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มต้องการคือ การอนุญาตให้มีการเรียนการสอนภาษาชนเผ่าในโรงเรียนในเขตพื้นที่ชนกลุ่มน้อยอีกครั้ง

 

“ภาษาไทใหญ่เปรียบเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชาวไทใหญ่ ถ้าภาษาสูญหาย ชนชาติก็สูญสลายได้เหมือนกัน” จายคำจิ่ง ประธานสมาคมภาษาและวัฒนธรรมไทใหญ่(SLCA) กล่าว สมาคมดังกล่าวตั้งอยู่ในเมืองตองยี เมืองหลวงของรัฐฉาน

 

สำเนาถ่ายเอกสารหนังสือภาษาไทใหญ่ถูกใช้ในการเรียนการสอนนอกโรงเรียนในพื้นที่รัฐฉานมานานหลายปี หลังจากต้นฉบับตัวจริงถูกนำออกจากหลักสูตรของทางการเพราะรัฐบาลต้องการทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในปีนี้นักเคลื่อนไหวชาวไทใหญ่เตรียมพิมพ์หนังสือเรียนภาษาไทใหญ่ขึ้นมาใหม่หลังจากประเทศอยู่ใต้การปกครองของเผด็จการทหารมานาน

 

สมาคมฯได้เปิดห้องเรียนในช่วงซัมเมอร์เพื่อสอนการเขียนและการพูดภาษาไทใหญ่ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนคุ้นเคยกับวรรณกรรมคลาสสิกของไทใหญ่อย่างเช่น “ขุมสามลอและนางอูเป่ง” นิทานปรัมปราเรื่องราวของคู่รักที่กลายเป็นดวงดาวบนท้องฟ้าหลังความตาย

 

ทั้งนี้จายคำจิ่งกล่าวว่า การอนุญาตให้ครูในโรงเรียนของรัฐสอนภาษาไทใหญ่ได้โดยปราศจากความกลัวจะเป็นการสืบสานให้ภาษาไทใหญ่ดำรงอยู่ต่อไปได้

 

ภาษาไทใหญ่มีภาษาพูดที่คล้ายกับภาษาไทย และเป็นหนึ่งในจำนวน 100 ภาษาในพม่า ซึ่งหลายชนชาติในจำนวน 130 ชาติพันธุ์ในพม่า อย่าง มอญ ชิน และกะเหรี่ยง ต่างก็ต้องการให้รัฐบาลพม่าอนุญาตให้บรรจุภาษาของตนลงในหลักสูตรการเรียนการสอนของทางการ

 

“เรื่องชนชาติเป็นหัวใจสำคัญของอนาคตของพม่า” เบเนดิกต์ โรเจอร์ นักเขียนและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิจากองค์กร Christian Solidarity Worldwide  กล่าว “ถึงแม้ว่าพม่าจะมีรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่ถ้ายังมีความขัดแย้งหรือมีการกดขี่ชนกลุ่มน้อย ก็จะไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบได้ ”

 

อย่างไรก็ตาม กองกำลังชนกลุ่มน้อยได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองมาตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 1948 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยเริ่มเลวร้ายลงหลังจากกองทัพเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศเมื่อปี 1962

 

รัฐบาลทหารพม่าได้ทำการปราบปรามชนกลุ่มน้อยด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยม ไม่ว่าจะเป็น การทรมานร่างกายและเข่นฆ่าชาวบ้าน สร้างความแค้นเคืองให้กับผู้คนจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันพยายามหาทางสงบศึกกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา จะเหลือก็แต่เพียงกองกำลังคะฉิ่นทางตอนเหนือของประเทศที่ยังมีการสู้รบกับกองทัพพม่าอยู่

 

ในรัฐคะฉิ่น เช่นเดียวกับรัฐชินและรัฐกะเหรี่ยง ความศรัทธาในศาสนาคริสต์ของประชาชนในพื้นที่ทำให้พวกเขาแปลกแยก ซึ่งรัฐบาลทหารพยายามทำให้พวกเขาถูกกลืนไปกับคนส่วนใหญ่

 

“ทรัพยากรของประเทศกำลังถูกใช้ไปกับการโหมเผยแพร่ศาสนาพุทธอย่างหนัก มีทั้งบีบบังคับให้ชาวชินเปลี่ยนไปนับถือพุทธในโรงเรียนอาชีวะหลายแห่ง โดยใช้ชื่อว่า‘สหภาพแห่งจิตวิญญาณ’” ซาลายลิงจาก องค์กรสิทธิมนุษยชนชาวชิน กล่าว “แทนที่เงินควรจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาระบบการศึกษาหลัก อย่างการเรียนการสอนภาษาชนกลุ่มน้อยในหลักสูตร”

 

เช่นเดียวกับในวงการเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่หลายคนต้องเป็นทหารอยู่หลายปีเพื่อปราบปรามชนกลุ่มน้อย

 

“เราใช้ภาษาพม่าเป็นภาษากลาง ชนกลุ่มน้อยควรจะเรียนภาษาพม่าถ้าต้องการ” เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการปรองดองกล่าว “ถ้าพวกเขาต้องการเรียนภาษาของขนชาติตนเอง ก็สามารถหาเวลาว่างไปเรียนได้”

 

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จายหมอกคำ รองประธานาธิบดี ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่กล่าวว่า ล่าสุดมีการเตรียมให้มีการเรียนการสอนภาษาชนเผ่าในช่วงวันหยุด แต่สำหรับในช่วงเวลาเรียนปกติอาจจะเป็นเรื่องยากอยู่

 

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า  การสอนภาษาชาติพันธุ์ให้ครบทุกชนเผ่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในประเทศที่มีความหลากทางภาษามากอย่างนี้ ทั้งนี้หลายพื้นที่มีภาษาที่คาบเกี่ยวกันในขณะที่ระบบการศึกษาก็ยังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่หลังจากอยู่ภายใต้เผด็จการมานาน

 

ความสามารถในการพูดภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาจีนและอังกฤษ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญในขณะที่ประเทศกำลังเปิดประตูสู่โลกภายนอก

 

ในตองยี ผู้เฒ่าผู้ที่เขียนตำราภาษาไทใหญ่ก็ยังคงได้รับความเคารพในฐานะที่พยายามให้ภาษาคงอยู่ เขายิ้มออกมาเมื่อรู้ว่าหนังสือยังคงถูกใช้สอนมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อถามว่า รู้สึกดีใจหรือไม่ที่สามารถรื้อฟื้นภาษาไทใหญ่ให้เด็กนักเรียนรุ่นใหม่ได้เรียนอีกครั้ง เขากล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ดี”

 

หนังสือเรียนภาษาไทใหญ่ฉบับจริงประกอบได้ด้วยรูปวาดที่สวยงามของงู ช้าง และพระสงฆ์ที่ถือบาตรทำให้นึกไปถึงวิถีชีวิตในชนบทที่มีแต่ความเขียวชอุ่ม ในดินแดนที่เต็มไปด้วยทิวเขาในช่วงที่ตำราเล่มนี้ถูกพิมพ์เป็นครั้งแรกและใช้เรียนในโรงเรียนเมื่อปี 1961 ก่อนที่เผด็จการทหารจะเข้ามาปกครองประเทศ

 

ในฉบับปรับปรุงใหม่ ภาพวาดถูกแทนที่ด้วยภาพถ่าย แต่ในส่วนของเนื้อหายังไม่มีใครกล้าเปลี่ยน

 

“ในยุคนี้เรามีคอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่มีคำในภาษาไทใหญ่สำหรับคำว่าคอมพิวเตอร์ในตำรา แม้แต่คำว่า วิทยุ เราก็ยังไม่มีคำนี้” จายซอหล่าย หนึ่งในสมาชิกของสมาคมฯ กล่าว

“เราต้องคิดค้นคำสำหรับใช้เรียกอีเมล์และอินเทอร์เน็ตด้วย”

 

 

(จากบทความ Ethnic minorities struggle to preserve languages โดย AFP 22 ตุลาคม 2555)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น