ระหว่างการเดินทางเยือนยุโรปและอเมริกาครั้งประวัติศาสตร์ของนางอองซาน ซูจีในช่วงต้นปีที่นี้ นอกจากจะเป็นโอกาสที่นางจะได้บอกเล่าสถานการณ์ในประเทศพม่าให้ทั่วโลกได้รับรู้แล้ว ยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมการแต่งกายของพม่าและชนกลุ่มน้อยในเวทีโลกไปในตัวอีกด้วย
ภาพของผ้าถุงแบบพม่าที่สวมใส่คู่กับเสื้อแขนแบบตะวันตกที่สง่างามถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่ชาวต่างชาติน้อยคนนักที่รู้ว่าเสื้อผ้าประจำชาติเหล่านั้นถูกสรรค์สร้างโดยฝีมือของกลุ่มช่างเย็บผ้าผู้พิการ
อูติ่นโท นักออกแบบและหัวหน้ากลุ่ม New Fashion Designer Group ได้รวบรวมสตรีผู้พิการโปลิโอจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศจำนวน 8 คน และพัฒนาฝีมือการเย็บผ้าโดยมองข้ามความพิการไม่ให้เป็นอุปสรรค
กลุ่มช่างเย็บผ้าได้ออกแบบและตัดเย็บชุดประจำชาติ 7 ชุดในเฉดสีที่แตกต่างกันและมอบให้นางอองซาน ซูจีเป็นของขวัญโดยไม่ประสงค์ออกนาม ก่อนที่นางจะเดินทางไปเยือนยุโรปในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
“ช่างเย็บผ้าของเรารู้สึกเซอร์ไพรส์ในความสำเร็จของการออกแบบครั้งนี้ เพราะนางอองซาน ซูจีได้สวมใส่ชุดที่มอบให้ในการเดินทาง” อูติ่นโท กล่าว
เขากล่าวว่า หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย ผู้หญิงชาวพม่ามักจะเลิกสวมใส่ชุดประจำชาติ ซึ่งเป็นแบบฟอร์มชุดนักศึกษา
“ผมถามผู้หญิงหลายคนว่า ทำไมไม่สวมใส่เสื้อผ้าแบบพม่า ซึ่งพวกเขาก็บอกว่า เสื้อผ้าประจำชาติเป็นการปิดกั้นเสรีภาพและเคลื่อนไหวไม่ค่อยสะดวก โดยเฉพาะตะเข็บที่แขนเสื้อและลำตัวที่ค่อนข้างรัดรูป” อูติ่นโท กล่าว
“ด้วยเหตุนี้ ช่างเสื้อจึงพยายามระดมความคิดกันเพื่อออกแบบเสื้อผ้าประจำชาติที่ดึงดูดความสนใจจากผู้หญิง และก็ออกมาเป็นเสื้อแบบพม่าที่มีแขนเสื้อสไตล์ตะวันตก เหมือนเสื้อโค้ท”
เขาบอกว่า ทางกลุ่มได้ส่งเสื้อหลายแบบให้นางอองซาน ซูจี ที่ชื่นชอบการสวมใส่เสื้อผ้าแบบพม่า เพื่อขอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการออกแบบ
หลังจากทางประสบความสำเร็จที่นางอองซาน ซูจีสวมใส่เสื้อผ้าของกลุ่มในการเยือนยุโรป ออร์เดอร์ก็หลั่งไหลเข้ามาจากบรรดาบริษัทและธนาคารที่ต้องการเสื้อผ้าแบบดังกล่าวไปเป็นเครื่องแบบ ซึ่งออร์เดอร์จะถูกตัดเย็บโดยช่างฝีมือผู้พิการทั้งหมด
“ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่า เสื้อผ้าหลายแบบที่นางอองซาน ซูจีสวมใส่ได้รับความสนใจจากสาวพม่ารุ่นใหม่ เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้หญิงแห่กันนุ่งน้อยห่มน้อย แต่จากนั้นไม่กี่เดือน เครื่องแต่งกายประจำชาติก็กลับเข้ามาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง”
“ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราอาจจะออกแบบชุดสวยๆในสไตล์พื้นบ้านที่สวมใส่สบายๆ”
ยินตูส่วย นักออกแบบ กล่าวว่า ไม่สงสัยเลยที่สาวๆ รุ่นใหม่จะได้รับอิทธิพลจากเครื่องแต่งกายของนางอองซาน ซูจี แถมยังกลับมาตกแต่งด้วยกระดุมจีนที่เคยล้าสมัยเพราะเป็นแบบที่ผู้สูงอายุนิยมสวมใส่อีกด้วย
“แฟชั่นแบบนี้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยที่มีรูปดอกไม้และนกยูงเป็นลายเสื้อ สาวๆรุ่นใหม่ยังให้ความสนใจผ้าชนเผ่าที่นางอองซาน ซูจีสวมใส่มากขึ้น อย่างเช่น ผ้าซิ่นของชาวชิน ชาวคะฉิ่น และซินแม (ผ้าทอพื้นบ้านแถบทะเลสาบอินเล) มันวิเศษมาก”
ยินตูส่วยกล่าวว่า ทุกๆ ปี กลุ่มนักออกแบบเสื้อผ้าประจำชาติจะนำเสื้อผ้าออกโชว์ในวันสตรีพม่า ซึ่งตรงกับวันที่ 6 กรกฎาคม และในปีนี้ ได้นำเสื้อผ้าชุดแขนยาวและผ้าซิ่นลายตะขอแบบซับซ้อน
“มันเป็นการส่งเสริมให้คนสนใจเครื่องแต่งกายประจำชาติและทำให้คนสวมใส่กระโปรงสั้นน้อยลง ถึงแม้ว่าสาวๆ รุ่นใหม่จะไม่ได้นุ่งผ้าถุง แต่ก็สามารถออกแบบเสื้อและกระโปรงยาวโดยใช้ผ้าพื้นบ้านและผ้าแบบชนเผ่าได้”
อูกองซาน นักเขียนและบรรณาธิการกำลังพยายามส่งเสริมให้แฟชั่นเสื้อผ้าประจำชาติกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งโดยเปิดตัวหนังสือ “ตามรอยแม่ซู (Follow Mother Daw Su)” เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งภายในเล่มประกอบด้วยบทความและรูปภาพเครื่องแต่งกายของนางอองซาน ซูจีในหลากหลายสไตล์ตั้งแต่ในช่วงวัยเด็กจนถึงปัจจุบัน
“สาวๆ รุ่นใหม่เริ่มแต่งกายนุ่งน้อยห่มน้อย มันแย่มากในช่วงสงกรานต์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราเห็นคนมีชื่อเสียง นางแบบ และวัยรุ่นนุ่งกางเกงขาสั้นและเสื้อรัดรูป” อูกองซาน กล่าว
ตั้งแต่นั้นมา เราจึงเริ่มเขียนบทความกระตุ้นให้ผู้หญิงหันมาแต่งกายตามแบบนางอองซาน ซูจี “แม้แต่ในช่วงที่เป็นวัยรุ่น นางก็แต่งกายแบบพม่าเสมอ เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา เราเห็นนางแต่งกายแบบชาวคะฉิ่นในช่วงที่เดินทางเยือนรัฐคะฉิ่น และแต่งกายแบบชาวชินตอนที่ลงพื้นที่รัฐชิน ซึ่งเป็นการโน้มน้าวใจได้เป็นอย่างดี” อูกองซานกล่าวว่า นางอองซาน ซูจีเป็นแรงบัลดาลใจให้วัยรุ่นแต่งกายในชุดประจำชาติของตัวเอง
ดอว์คุณฉ่วย เจ้าของร้านผ้าพื้นบ้าน โยยาเม ในตลาดโบจ๊ก กล่าวว่า ผ้าที่ร้านขายดีขึ้นมากตั้งแต่สื่อเผยแพร่ภาพข่าวการเดินทางของนางอองซาน ซูจี “เมื่อไหร่ก็ตามที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวการเดินทางของนางอองซาน ซูจี วันต่อมาจะมีสาวๆ เข้ามาที่ร้านและเลือกผ้าที่แบบใกล้เคียงกับที่นางสวมมากที่สุด ลูกค้าต่างชาติก็ชื่นชอบลายผ้าชนเผ่าที่เหมือนกับของนางอองซาน ซูจีเช่นกัน”
จึงไม่แปลกที่เครื่องแต่งกายประชำชาติของพม่าจะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง
(จาก บทความ Traditional style makes comeback โดย Zon Pann Pwint 15 ตุลาคม 2555 www.mmtimes.com)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น