วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556
"พลเมืองดี" ฝันเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ของนักเขียนหญิงอดีตนักโทษการเมือง
ณ ห้องสอบสวนในเรือนจำอินเส่ง ย่างกุ้ง ปี 1995 เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองถามหญิงสาววัย 29 ปีที่นั่งอยู่เบื้องหน้าว่า อะไรคือความใฝ่ฝันทางการเมืองของเธอ
"การได้เป็นพลเมืองที่ดี" มะธิดา หญิงสาวที่ดูอ่อนแอซีดเซียวตอบคำถามโดยไม่ลังเล ในตอนนั้นเธอกำลังป่วยหนักขณะถูกกักขังในเรือนจำอันเลื่องชื่อเรื่องความโหดร้าย เนื่องจากกิจกรรมทางการเมืองของเธอ
เกือบยี่สิบปีหลังจากนั้น มะธิดา ในฐานะนักเขียนและอดีตนักโทษการเมืองกล่าวว่า เธอยังคงให้ความสนใจเรื่องการเมืองด้วยเหตุผลเดิม นั่นก็คือ เพราะเธออยากเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบและกระตือรือร้น สำหรับมะธิดา นั่นหมายถึง ต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่าและช่วยกันกัดการกับปัญหาอีกนานัปการ
"ฉันต้องการพิสูจน์ว่าฉันมีความสามารถที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง มันมีอะไรให้ต้องทำหลายอย่าง" เธอกล่าว ในขณะให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิรวดี "มันอาจจะไม่เหมือนกับคำจำกัดความของการเมืองสำหรับคนอื่น แต่ในพม่า ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแวดล้อม การศึกษา สุขภาพ และอื่นๆ"
ชีวิตของมะธิดายุ่งอยู่กับงานหลายๆ อย่าง เธอทำงานเป็นบรรณาธิการในนิตยสารรายเดือนสำหรับเยาวชน และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อีกหนึ่งฉบับ ขณะเดียวกันเธอก็เป็นแพทย์อาสาสมัครในคลินิกการกุศลแห่งหนึ่งด้วย (นอกจากจะเป็นนักเขียนที่ได้รับการย่งย่องแล้วเธอยังเป็นแพทย์ฝึกหัดด้วย) แต่ในพม่า เธอเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะปัญญาชนผู้รอบรู้ เจ้าของหนังสือหลายเล่มที่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในพม่า
ในวัย 46 ปี เธอเขียนหนังสือมาแล้ว 9 เล่ม ทั้งภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ รวมถึงนวนิยายจากความทรงจำในคุกอีก 2 เรื่อง ผลงานหนังสือภาษาอังกฤษเล่มล่าสุดของเธอคือ "The Roadmap" เป็นนวนิยายที่อ้างอิงจากเรื่องจริงของเหตุการณ์ทางการเมืองในพม่าช่วงปี 1988- 2009 ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว ในช่วงปี 2008-2009 เธออาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาโดยโครงการ International Writers Project Fellow ที่มหาวิทยาลัยบราวน์ และRadcliffe Institute for Advanced Studies ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
มะธิดาเข้าเรียนวิชาการแพทย์ในช่วงต้นปี 80 และเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อายุยังน้อย เธอมีชื่อเสียงในฐานะนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีพรสวรรค์ "ฉันอยากเป็นนักเขียนเพราะฉันต้องการแบ่งปันสิ่งที่ฉันสังเกตุเห็นรอบๆ ตัว อย่าง เรื่องความยากจน" เธอกล่าว และบอกว่าเธอยังสนใจเรื่องสุขภาพด้วยหลังจากที่ป่วยในช่วงวัยเด็ก
แม้ว่าพรสวรรค์ในการเขียนของเธอจะฉายแววมาตั้งแต่อายุยังน้อย แต่เธอก็ต้องทำงานหนักเพื่อความสำเร็จ เมียวมิ้นเหญ่ง อดีตบรรณาธิการนิตยสารเปปูลวะ ที่มะธิดาได้เริ่มฝึกฝนการเขียนเมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้ว กล่าวว่า "เธอเป็นคนที่ขยันมาก ถ้าเราบอกว่า ขอโทษนะ เราใช้เรื่องที่เธอส่งมาไม่ได้ เธอจะมีอีกเรื่องส่งมาอีกเสมอ"
หลังจากเริ่มอาชีพนักเขียนได้ไม่นาน เธอก็เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองโครงการหนึ่งที่ช่วยนางอองซาน ซูจี ระหว่างการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 ซึ่งพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจีชนะการเลือกตั้งแต่ถูกรัฐบาลทหารยกเลิกผลการเลือกตั้ง
ความเกี่ยวข้องกับพรรคเอ็นแอลดีมีผลให้หนังสือเล่มแรกของเธอ ที่ชื่อ "the sunflower" (หนังสือดังกล่าวเผยแพร่ในช่วงปี 1999 แค่ปีเดียวเพราะถูกแบนตั้งแต่ช่วงต้นปี 1990) โดยในหนังสือโต้แย้งที่ประชาชนชาวพม่ามีความคาดหวังจากนางอองซาน ซูจีผู้เป็นอย่างมาก ทำให้สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยผู้นี้เป็นนักโทษที่สมควรได้รับเสียงปรบมือ
ซึ่งความคิดดังกล่าวยังเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน "ฉันเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่คนเพียงคนเดียวจะแบกรับภาระของคนทั้งหลายไว้ มันไม่ยุติธรรมเลย การร้องขอและรอคอยให้เธอเป็นผู้นำเพียงอย่างเดียวมันไม่เข้าท่า ประชาชนควรต้องร่วมมือและลงมือทำในสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้" เธอกล่าว
ทุกวันนี้เธอยังคงมีความหวังสำหรับอนาคตของพม่า "ตอนนี้เราพอจะมองเห็นแสงริบหรี่อยู่ที่ปลายอุโมงค์ แต่เรายังต้องการความชัดเจนโปร่งใสตลอดทั้งอุโมงค์"
ยี่สิบปีที่แล้ว งานเขียนเกี่ยวกับการเมืองของเธอทำให้ตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาลทหาร และในปี 1993 เธอถูกจำคุก 20 ปีในข้อหามีความเกี่ยวข้องและเผยแพร่วรรณกรรมที่ผิดกฎหมาย
เธอถูกกักขังในคุกที่มีสภาพย่ำแย่และต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคภัยไข้เจ็บที่เธอปฏิเสธการรักษา ในเวลานั้น เธอได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนจากนานาชาติหลายรางวัล อาทิ รางวัล PEN/ Barbara Goldsmith Freedom to Write Award
"ถ้าไม่ได้นั่งวิปัสสนา ฉันคงไม่สามารถเอาชนะความยากลำบากที่ฉันได้รับตอนที่อยู่ในคุกได้" มะธิดาเล่า เธอบอกว่าการนั่งสมาธิช่วยเธอได้ในขณะที่ถูกคุมขังเป็นเวลานานและมันยังคงเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเธอ
มะธิดาจบการศึกษาวิชาแพทย์ผู้ชำนาญทั่วไปในปี 1993 และกำลังเตรียมตัวเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศในขณะที่ถูกจับกุม "ศัลยแพทย์คือความใฝ่ฝันของฉัน แต่ฉันก็ไม่ได้เป็น" เธอบอก แต่ถึงกระนั้นเธอก็ไม่ได้เคียดแค้นรัฐบาลพม่า เพราะอย่างน้อยช่วงเวลา 6 ปีในคุดก็สอนอะไรให้เธอมากมายเดี่ยวกับชีวิตและมันมีส่วนช่วยในงานเขียนของเธอ ซึ่งผลงานเหล่านั้นก็ได้ทำให้คนได้รู้ถึงชะตากรรมของชาวพม่า
"ถ้าฉันไม่ถูกจับ ฉันก็คงไม่มีความทะเยอทะยานเป็นแน่" เธอบอก ในขณะนี้เธอพอใจกับงานทั้งสองอย่างที่เธอทำเป็นอย่างมาก "การเป็นหมอมันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่การเป็นนักเขียนและบรรณาธิการ มันเป็นศิลปะ ฉันรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อประชาชนชาวพม่าโดยใช้ทักษะที่แตกต่างกันทั้งสองอย่าง"
แม้ว่าเธอจะประสบความสำเร็จมากมาย แต่นักเขียนผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยผู้นี้กลับบอกวว่า เธอยังมีความฝันอีกสองสามอย่าง นั่นคือ การสร้างโรงพยาบาลบนเรือ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนริมฝั่งน้ำอิรวดี และการเปิดสำนักพิมพ์ตีพิมพ์บทความวิเคราะห์วิจารณ์ทางวิชาการ
"ฉันกำลังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้ฝันที่ว่าเป็นจริงได้ ฉันพร้อมที่จะทำงานกับทุกคนและองค์กรที่มีความสนใจเหมือนกัน"
เรียบเรียงจากI Write Just to Be ‘A Good Citizen,’ Says Ma Thida
โดย KYAW PHYO THA / THE IRRAWADDYวันที่ 5 มกราคม 2556
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น