วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จากวงการบันเทิงสู่งานบริการหลังความตาย



ย่างกุ้ง ประเทศพม่า - เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับผู้ใช้รถใช้ถนนในพม่า พวกเขาไม่ได้โทรเรียก 911 หรือ หน่วยงานบริการฉุกเฉินธรรมดาทั่วๆ ไป แต่จะโทรหาอดีตดาราดังขวัญใจประชาชนในยุค 80 90 ผู้หันหลังให้กับวงการภาพยนตร์ ไปจัดตั้งกลุ่มบริการรถพยาบาลและฌาปณะกิจเพื่อประชาชนแทน

 

จ่อตู เคยแสดงภาพยนตร์มามากกว่า 200 เรื่อง และได้รับรางวัลตุ๊กตาทองของพม่าในฐานะนักแสดงชายยอดเยี่ยมเมื่อปี 1994 จากภาพยนตร์เรื่อง “ดาบีตูมะฉ่วยทา” จากนั้นในปี 2003 เขาก็ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง “อะเมโนโพ” แต่แล้วหลังจากนั้น ความคิดของเขาก็ไดเปลี่ยนไปเืมื่อได้พบกับเหตุการณ์ที่หญิงชราคนหนึ่งถูกทิ้งให้ตายอย่างโดดเดี่ยวในโรงพยาบาล

 

“หมอบอกกับญาติๆ ของเธอว่า เธอใกล้สิ้นใจแล้ว หลังจากนั้นพวกเขาก็หายไปหมด ไม่กี่วันจากนั้นเธอก็เสียชีวิต เธอจึงกลายเ็ป็นศพไม่มีญาติ” จ่อตูบอกกับ CNN ในสำนักงานในชานเมืองย่างกุ้ง

 

เขาทราบทีหลังว่าครอบครัวของหญิงชราคนนั้นไม่มีเงินที่จะจัดงานศพให้ ในเวลานั้นไม่ใช่เรื่องแปลก ครอบครัวที่ยากจนจะแอบหายตัวไปในคืนที่จะมีการฝังศพ เขาบอก เขาจึงริเริ่มสมาคมฌาปนกิจศพสงเคราะห์ (Free Funeral Service Society) ร่วมกับ ตูคะ นักเขียนและผู้กำกับเจ้าของรางวัลมากมาย โดยขณะนี้สมาคมมีทั้งห้องสมุด ช่วยเหลือด้านการศึกษา การแพทย์ ทันตกรรม และบรรเทาสาธารณะภัย บริการแก่ประชาชน

 

 

จากวงการหนังสู่บริการฌาปณกิจ

 

แรกเริ่มเดิมทีการตัดสินใจอำลาวงการบันเทิงของ จ่อตู ไม่ได้มาจากตัวเขาเอง เนื่องจากในปี 2007 เขาถูกจับกุมและถูกแบนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์หลังจากให้การสนับสนุนการประท้วงของพระสงฆ์ครั้งใหญ่ในเวลานั้น

 

ในปีนั้น รัฐบาลทหารพม่าได้ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมที่นับว่าเป็นการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1988 การประท้วงครั้งนั้นนำโดยพระสงฆ์ ผู้ร่วมชุมนุมจำนวนหลายหมื่นคนได้เดินขบวนบนท้องถนนเพื่อประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

 

จ่อตูไม่ได้ปฏิเสธว่าให้การช่วยเหลือผู้ชุมนุมแต่กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้คนโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางสังคม เชื้อชาติ และศาสนา เป็นสิ่งที่เราไม่ควรปฏิเสธ

 

เขากล่าวว่า ในสมัยของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยประธานาธิบดีเต็งเส่งที่ก้าวเข้ามาปกครองประเทศเมื่อปี 2011 หลังจากอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารมากว่า 50 ปี สถานการณ์ของเขาดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะปรับปรุงการบริการสาธารณะให้ดีขึ้นและปกป้องประเทศจากความยากจนได้ "เรากำลังแสดงให้รัฐบาลเห็นว่าสิ่งไหนที่จำเป็นต้องทำ"

 

เขากล่าวว่า รัฐบาลไม่ใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเช่นเดียวกับนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่มุ่งหน้าไปยังเมืองหลวงเนปีดอว์เพื่อไปฟังเสียงนักการเมืองมากกว่าที่จะฟังจากประชาชน

 

"ผมอยากแนะนำว่า ก่อนที่พวกเขาจะไปเนย์ปีดอว์ ควรจะได้พบกับ CSO และ NGO ที่ทำงานให้กับประเทศพม่าจริงๆ พวกเขาจะได้รู้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ"

 

"หลังจากที่พบกับCSO และ NGO พวกเขาจะมีข้อมูล และรับรู้ความจริง จากนั้นพวกเขาจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์และเจรจาต่อรองกับรัฐบาลและภาคส่วนอื่นๆ ได้"

 

พม่า บนเส้นทางของการเยียวยา

 

จ่อตูได้ให้สัมภาษณ์กับ CNN ในช่วงที่ตัวแทนจากหลายประเทศเดินทางมาประชุม World Economic Forum on East Asia เป็นเวลาสองวัน เพื่อเจรจากันถึงการสลัดคราบพม่าเก่าๆ ทิ้ง

 

โดยพื้นฐานที่ดีแล้ว หากไม่มีการบริการสาธารณะที่มช้ได้ตริง พม่าก็ต้องจมอยู่กับอาคารเก่าแก่ที่ทรุดโทรม ถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ และการสื่อสารโทรคมนาคมที่ไม่ครอบคลุม และเครือข่ายไฟฟ้าที่ล้าสมัย ซึ่งสามารถให้บริการประชาชนได้เพียง หนึ่งในสี่ของประชากรที่มีทั้งหมดกว่า 60 ล้านคน

 

ในช่วงที่ประเทศพม่าอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร เศรษฐกิจของพม่าเรียกได้ว่าย่ำอยู่กับที่โดยในปี 1990 ตัวเลข GDP เท่ากับเมื่อปี 1900 ซึ่งนี่เป็ฯรายงานล่าสุดจาก McKinsey & Company

 

ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องได้รับการปรับปรุงซึ่งจะเป็นต้องใช้เงินทั้งนั้น

 

สมาคมของจ่อตูอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคและกลุ่มอาสาสมัคร ซึ่งมีจำนวนกว่า 500 คนต่อวัน ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้ทำตั้งแต่แบกโลงศพ ไปจนถึงเตรียมร่างสำหรับการฌาปณกิจ นอกจากนี้ยังมีแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลและคลินิกที่ให้บริการผู้ป่วยทุกอย่างตั้งแต่ผ่าตัดตา ทำคลอด ไปจนถึงถ่ายเลือด

 

การทำงานของพวกเขาสามารถดูได้จากภาพถ่ายหลายร้อยที่ติดไว้ที่กระดานที่ห้องโถงในสำนักงานใหญ่ มีภาพหนึ่ง คู่แต่งงานใหม่คู่หนึ่งกำลัง กำลังเคลื่อนโลกศพขณะที่ยังอยู่ในชุดแต่งงาน

 

รูปอื่นๆ ภาพของทีมงานกำลังขุดบ่อน้ำและนำสิ่งของไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสพภัยจากพายุไซโคลน มีรูปนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียน และรูปผู้เสียชีวิตอีกสองสามรูป ซึ่งนี่คือทุกส่วนของงานที่พวกเขากำลังทำเพื่อสังคม

 

ถึงพี่น้องชาวพม่า "จงสามัคคีกันไว้"

 

จ่อตูอาจได้รับความนิยมจากประชาชนจำนวนมากในพม่าในฐานะที่เขาทำงานบริการประชาชน ซึ่งในประเทศอื่นเป็นหน้าที่ของนักการเมือง แต่เขาบอกว่า ไม่คิดที่จะลงเล่นการเมือง

 

"ไม่" เขาบอกพลางส่ายหัว "ผมไม่มีความใฝ่ฝันที่จะตั้งพรรคการเมือง" เขาบอกว่า เขาทำไปด้วยความบริสุทธิใจ ไม่ต้องการอำนาจ เกียรติยศ หรือชื่อเสียงใดๆ

 

"เวลาที่เราช่วยเหลือผู้คน เราไม่ได้ต้องการผลประโยชน์ใดๆ เมื่อเราช่วยเขา ถ้าเขามีความสุข ผมก็มีความสุข"

 

เขาให้การสนับสนุนนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตประชาธิปไตยแห่งชาติ ในออฟฟิศของเขามีรูปของเธอแขวนอยู่ แต่เขากล่าวว่า ผู้คนต้องเลิกชื่นชมนางอองซานซูจีและนายพลอองซาน พ่อของเธอ และเริ่มเดินตามที่พวกเขาได้นำไป

 

"ประชาชนไม่ได้ทำตามคำปราศรัย พวกเขารู้สึกประทับใจมาก บอกว่ารักนองอองซาน ซูจีและนายพลอองซาน แต่ไม่เคยทำตามนโยบายของทั้งสองเลย พวกเขาไม่ได้นำคำพูดของทั้งสองคนไปใช้ นี่คือปัญหาของคนพม่า"

 

จ่อตูรู้สึกหดหู่ใจกับเหตุการณ์รุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวพม่าที่นับถือพุทธกับชาวมุสลิมต้องตึงเครียด เขาบอกว่า สมาคมของเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปในรัฐอาระกันที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกที่ชาวโรฮิงยาถูกโจมตี และทนทุกข์ทรมาณกับการละเมิดอย่างเป็นระบบ ที่กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

“รัฐบาลบอกว่ามนัอันตรายและลำบาก พวกเราจึงไม่มีโอกาสไปหาผู้คนที่กำลังลำบาก” เขาบอกว่า ก้าวย่างของการเปลี่ยนแปลงในพม่า จากเผด็จการทหารไปเป็นประชาธิปไตยที่รุ่งเรืองมีสันติภาพปราศจากการแก่งแย่งชิงดีกันกับคนต่างชนชาติ ขึ้นอยู่กับทัศนคติของประชาชนคนทั่วไป ซึ่งเขากล่าวว่า การตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการมานานหลายสิบปีได้ก่อให้เกิดทัศนคติในทางลบ

 

“ถ้าทัศนคติของประาชนคนธรรมดาเปลี่ยนไปในทางที่ดี ภายใน 5 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น” เขาบอก

“ผมอยากบอกกับประชาชนชาวพม่าทุกคนว่า ใ้ห้สามัคคีกันไว้”

 

=============================



แปลจาก Myanmar movie star buries the dead
โดย Hilary Whiteman จาก CNN /12 มิถุนายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น