วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ภาษาชาติพันธุ์ ความท้าทายในการปฏิรูปการศึกษาในพม่า

student

ย่างกุ้ง-  ตอนที่ ธิดา วิน ยังเป็นเด็กนักเรียนในมัณฑะเลย์อยู่นั้น เธอต้องตื่นแต่เช้าก่อนฟ้าสางเพื่อไปเรียนภาษาจีนและวิชาประวัติศาสตร์เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนที่ชั้นเรียนที่โรงเรียนรัฐบาลจะเริ่มขึ้นตามปกติ เธอและพ่อแม่เกิดในพม่า แต่ตาของเธออพยพมาจากพม่าในช่วงปี 1950 และเธอก็อยากพูดภาษาของของเขา

 

ธิดา วิน ไม่ได้เรียนภาษาจีนที่โรงเรียนรัฐบาลที่เธอเรียนอยู่ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐที่จะสอนภาษาพม่า ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ เช่นเดียวกับโรงเรียนรัฐบาลแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ เธอต้องเสียเงินค่าเรียนภาษาจีนในโรงเรียนสอนภาษาจีนของเอกชนในเมืองเทอมละ 6 หมื่นจั๊ต (60 ดอลลาร์)

 

"ฉันต้องไปตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 8 โมงเช้า จากนั้นค่อยไปโรงเรียนพม่า" เธอบอก ตอนนี้ธิดาอายุ 20 ปี และกำลังจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา เธอย้อนความหลังเมื่อตอนเป็นเด็กให้ฟังว่า เพื่อนชาวคะฉิ่นในรัฐคะฉิ่นมักจะบ่นว่า พวกเขาฟังครูพูดไม่ค่อยเข้าใจ เพราะที่บ้านพูดภาษาคะฉิ่น "ฉันคิดว่าควรจะมีการเรียนการสอนเป็นภาษาชาติพันธุ์ด้วย ถ้าเราเรียนเฉพาะภาษาพม่า เราก็จะลืมวัฒนธรรมของเราหมด"

 

พม่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลักๆ มากกว่า 8 กลุ่ม และกลุ่มย่อยอีก 100 กว่ากลุ่ม ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นพูดภาษาของตนเอง ในรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กๆ จะคุ้นเคยกับภาษาพม่าที่โรงเรียน และไปเรียนอ่านเขียนภาษาแม่ของตนเองนอกโรงเรียน อาทิ วัดหรือโบสถ์ ในช่วงปิดภาคเรียน หรือบางที ครูจากโรงเรียนรัฐบาลก็เปิดสอนภาษาชาติพันธุ์กันนอกเวลาเรียน

 

นโยบายการศึกษาที่มีการเรียนการสอนเฉพาะภาษาพม่าเท่านั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก จากการสู้รบกันมายาวนานหลายทศวรรษระหว่างกองกำลังของรัฐบาลที่เป็นชาวพม่าเป็นส่วนใหญ่กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ในขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามเจรจาต่อรองหยุดยิงกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ องค์กรด้านการศึกษาของกลุ่มชาติพันธุ์ก็พยายามผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษา และอนุญาตให้โรงเรียนในพม่าสอนภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในเวลาเรียนปกติ ขณะที่กลุ่มอื่นก้าวไปอีกขั้นโดยเสนอแนะให้เด็กนักเรียนมีทางเลือกว่าจะเรียนคณิตศาสตร์ วรรณคดี และวิชาอื่นๆ เป็นภาษาแม่ของตนได้ เพื่อความเข้าใจของเด็กให้มากขึ้น

 

ในช่วงที่ประเทศกำลังเปลี่ยนจากเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมากว่าครึ่งศตวรรษ องค์กรด้านการศึกษาของกลุ่มชาติพันธุ์อาจจะมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น นอกจากนี้ ก็มีการสำรวจข้อมูลจากผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ผู้บริการโรงเรียน และนักการศึกษาอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนระบบการศึกษาของรัฐ ที่เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เมื่อปีที่แล้วเป็นต้นมา และดูว่าพื้นที่ไหนที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเป็นอันดับแรก

 

การทบทวนระบบการศึกษาครั้งนี้ หรือที่เรียกว่า Comprehensive Education Sector Review (CESR) จะมีความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ มากกว่า 20 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอังกฤษ โดยที่ปรึกษาที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการกล่าวว่า จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพม่าได้ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขหลักสูตรที่ล้าหลัง มีการสนับสนุนงบประมาณสำหรับโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น และอาจจะมีเสรีภาพมากขึ้นสำหรับครูในการสอนเป็นภาษาชาติพันธุ์ก็เป็นได้

 

"เรากำลังพยายามสนับสนุนการเรียนภาษาแม่เพื่อที่นักเรียนจะมีความเข้าในในการศึกษาขั้นพื้นฐาน" มิคุนชานนน อดีตครูและที่ปรึกษาของคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติมอญ กล่าว "เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มชาติพันธุ์ว่าเราจะยื่นข้อเสนอให้มีการสอนภาษาแม่ให้กับทาง CESR ได้อย่างไร"

 

การสอนภาษาแม่ในโรงเรียนกลายเป็นประเด็นสำคัญในโรงเรียนหลายแห่งในหลายชาติ รวมถึงเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีภาษากว่า 2,300 ภาษา จากภาษาทั้งหมดในโลกนี้จำนวนกว่า 7 พันภาษา ตามข้อมูลของยูเนสโก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปีที่ที่แล้ว ประเทศฟิลิปปินส์ได้เริ่มใช้ระบบการสอนภาษาที่ใช้ภาษาแม่เป็นฐานและการศึกษาแบบพหุภาษา (Mother Tongue Base Multilingual Education System) โดยมีการสอนภาษาทั้งหมด 19 ภาษาในโรงเรียนประถม ด้านประเทศติมอร์ตะวันออก ก็ได้มีการถกเรื่องแนวคิดที่ว่านี้อย่างกว้างขวาง โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็มีการต่อต้านโดยให้เหตุผลว่า วิธีการสอนอาจยุ่งยากและอาจส่งผลเสียต่อความเป็นเอกภาพของประเทศ ส่วนประเทศไทย ทางรัฐบาลก็ได้ร่วมมือกับหน่วยงานของสหประชาชาติในการสนับสนุนการศึกษาแบบพหุภาษา ส่วนกัมพูชา จีน และเวียดนามได้เริ่มโครงการทดลองไปแล้ว

 

จูเลียน วัตสัน ที่ปรึกษาด้านการศึกษาที่ทำงานในปาปัวนิวกินีและอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลกกล่าวว่า ในประเทศปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดในโลก รัฐบาลได้เริ่มใช้ระบบการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาถิ่นสำหรับ 3 ปีแรกของการเรียนในระบบสามัญเมื่อปี 1995 โดยโรงเรียนต่างๆ จัดให้มีห้องเรียนหลายร้อยห้องเรียน ทั่วประเทศ สอนภาษากว่า 800 ภาษา ทว่า โครงการดังกล่าวกลับไม่ได้รับการสนุบสนุนจากผู้ปกครองบางส่วน ที่ต้องการให้ลูกหลานเรียนเป็นภาษาอังกฤษมากกว่า

 

เรื่องตำราเรียนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหา มีการใช้สมุดว่างๆ สำหรับครูที่จะเขียนข้อมูลต่างๆ ในภาษาที่ต้องการ "การพิมพ์หนังสือในหลายๆ ภาษามีค่าใช้จ่ายสูง" เขากล่าว

 

ในกัมพูชา รัฐบาลได้ลงทุนจ่ายเงินจ้างผู้ช่วยครูจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มาช่วยสอนในห้องเรียนในช่วง 3 ปีแรกของการศึกษาภาคบังคับโดยหวังว่าจะลดอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคันและเพื่อให้นักเรียนเข้าใจมากขึ้น ในขณะที่ครูผู้สอนหลักยังคงเป็นครูชาวกัมพูชา และผู้ช่วยสอนจะช่วยเด็กให้เข้าใจเนื้อหามากขึ้นโดยการอธิบายเป็นภาษาถิ่นของเด็ก "มันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ" จูเลียน วัตสัน กล่าว เขาบอกว่าอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคันลดลงอยากมากนับตั้งแต่มีการนำระบบนี้มาใช้

 

ปัจจุบัน จูเลียน วัตสัน อยู่ในย่างกุ้ง เขาถูกจ้างให้เป็นที่ปรึกษาอิสระที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลพม่ากับประเทศพาร์ทเนอร์อื่นๆ ในการทบทวนระบบการศึกษา โดยเปิดเผยว่า รายงานจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะมีทางเลือกหลายทางการปฏิรูป และจะมีการเจรจาพูดคุยและเปลี่ยนกันในปีหน้าระหว่างครู ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ จากนั้นแผนการพัฒนาการศึกษาที่มีการประเมิณแล้วน่าจะพร้อมภายในสิ้นเดือนมิถุนายน

 

เขากล่าวว่า มีการศึกษาวิจัยหลายฉบับว่าการศึกษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานจะป็นประโยชน์หลายอย่าง "มีรายงานไม่มากก็น้อยที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเด็กได้เรียนอ่านและเขียนภาษาแม่ของตัวเองก่อน จะทำให้เด็กสามารถเรียนภาษาอื่นได้เร็วขึ้นมาก"

 

"มันจะเป็นเส้นทางที่สั้นลง ถ้าคุณต้องการให้เด็กที่ไม่ได้พูดภาษาพม่า เขียนและอ่านภาษาพม่า มันจะเร็วขึ้นถ้าได้เรียนภาษาของตนเองก่อน แล้วค่อยเรียนภาษาพม่า ดีกว่าเรียนภาษาพม่าเลยทันที"

 

แต่การสอนแบบพหุภาษายังคงไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันได้ง่ายๆ เขากล่าว โดยระบุว่ายังมีปัญหาอยู่ว่า แต่ละโรงเรียนควรจะสอนภาษาชาติพันธุ์ภาษาใด อย่าง เด็กนักเรียนในรัฐฉานจำนวนมากเติบโตมาด้วยการพูดภาษาไทใหญ่ ขณะที่เด็กคนอื่นๆ พูดภาษามอญที่บ้าน "คุณอาจจะต้องมี 8 ภาษาที่ใช้พูดกันในโรงเรียน" เขากล่าว "คุณจะพูด 8 ภาษาไหม คุณมีความสามารถในการจัดการกับค่าใช้จ่ายในการสอน 8 ภาษาหรือไม่"

 

อาจจำเป็นต้องลดขนาดห้องเรียนลง ซึ่งต้องใช้ครูเยอะขึ้น งบประมาณส่วนใหญ่ในการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลกคือการจ่ายค่าตอบแทนครู "เมื่อคุณลดขนาดชั้นเรียน คุณก็กำลังเพิ่มค่าใช้จ่ายในการศึกษา" จูเลียน วัตสัน กล่าว

 

"มันมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากในส่วนของอุปกรณ์และอื่นๆ" เขากล่าวถึง การศึกษาแบบพหุภาษา แต่ถึงกระนั้น "มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะล้มเลิก"

 

ถ้าพม่ายอมรับการสอนภาษาแม่ในโรงเรียนของรัฐ ตำราเรียนอาจต้องมีการปรับปรุง ในระดับประถม จะมีหนังสือเรียนที่เรียกว่า บทอ่านภาษาพม่า ที่ตัวอักษรพม่า และบทกลอนสั้นๆ รวมถึงบทยาวๆ สำหรับจดจำ

 

"ในหนังสือ บทอ่านภาษาพม่า ไม่มีตรงไหนที่บอกว่า มีคนในพม่าพูดภาษาอื่นที่นอกเหนือจากภาษาพม่า" บรู๊ค เทรดเวล รักวิจัยทางการศึกษาจากอเมริกาที่ศึกษาตำราดังกล่าวอย่างละเอียด กล่าว "เขาเลือกเฉพาะชาติพันธุ์ที่เขาต้องการเน้น"

 

"ฉันเดาว่า มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในตำราเรียนของทุกประเทศ "หนังสือบทอ่านภาษาพม่า มีแต่คุณยาย เด็กๆ นักเรียนและคุณครู ทุกๆ ตัวละคร แม้ว่าจะมาจากคนละกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ทั้งหมดก็พูดภาษาพม่าได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่มีใครพูดภาษาอื่นนอกจากภาษาพม่า"

 

แต่กระนั้น บางกลุ่มชาติพันธุ์ก็ได้พัฒนาตำราเรียนเป็ฯภาษาของตัวเอง แต่ไม่ใด้ใช้ในหลักสูตรของโรงเรียนรัฐบาล จะใช้ในเฉพาะบางพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ จัดตั้งระบบการศึกษาของตนเองนอกระบบการศึกษาของรัฐ

 

หน่วยงานด้านการศึกษาของกะเหรี่ยงได้รวมเอาวัฒนธรรมและภาษากะเหรี่ยงเข้าไว้ในหลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนกว่า 1,200 แห่ง ขณะที่ในรัฐมอญ พรรคมอญใหม่ ได้สร้างเครือข่ายระหว่างโรงเรียนกว่า 150 แห่ง ที่ให้รักเรียนได้เรียนภาษามอญในระดับประถม โดยมีการเรียนภาษามอญและภาษาพม่าในระดับมัธยม

 

มิน ยาซาร์ นักศึกษาวัย 24 ปีจากรัฐมอญไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเหล่านั้น เขาเรียนที่โรงเรียนรัฐแห่งหนึ่ง ในบรรดาโรงเรียนที่มีทั้งหมดมากกว่า 41,000 แห่ง เขาคิดว่าอยากให้ครูสอนเป็นภาษามอญในตอนนั้น "ตอนที่ผมยังเล็ก มันยากมากสำหรับผมที่จะพูดภาษาพม่า เพราะทุกคนในบ้าน และลูกพี่ลูกน้องเป็ฯคนมอญ เราจึงไม่พูดภาษาพม่า"

 

หลายปีผ่านไป เขาเริ่มเข้าใจภาษาพม่ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากที่ย้ายมาอยู่ที่ย่างกุ้ง ซึ่งตอนนี้เขากำลังเรียนต่อที่นี่ "ผมมาอยู่ที่นี่ได้ 4 ปีแล้วและได้ติดต่อกับคนพม่าเยอะขึ้น มันก็เลยง่ายขึ้น แต่ถึงตอนนี้ เวลาพูดภาษาพม่า บางคนก็ยังไม่เข้าใจสำเนียงของผมอยู่ดี ผมพูดภาษาพม่าสำเนียงมอญ"

 

เมื่อเขาเป็นเด็ก เขาเรียนภาษามอญที่วัดช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ครูชาวมอญบางคนเปิดสอนภาษามอญนอกเวลาเรียน แต่เพื่อนของเขาหลายคนไม่เคยได้เรียนภาษาแม่ของตัวเอง "พอหลังๆ พวกเขาก็ไม่ได้หัดเขียนภาษามอญ พวกเขาไม่อยากอ่านภาษามอญ เพราะมันยาก" เขากล่าว "มันก็ยังยากสำหรับผมเหมือนกัน ผมพูดได้ดี แต่เขียนไม่เก่ง"

 

จาก In Burma, a Debate Over Mother-Tongue Teaching โดย SAMANTHA MICHAELS / THE IRRAWADDY 23 ตุลาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น