วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เหตุจลาจลกลางกรุงมัณฑะเลย์ : ความขัดแย้งทางศาสนาหรือแค่เกมการเมือง

monk

เหตุจลาจลระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในพม่าเมื่อช่วงต้นเดือนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต2 รายและบาดเจ็บจำนวน 14 คน โดยผู้เสียชีวิตเป็นชายหนุ่มชาวพุทธที่กำลังขี่รถจักรยานยนต์และเจ้าของร้านขายจักรยานชาวมุสลิม ทั้งนี้ เหตุจลาจลดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลา 4 วันในภาคมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่านั้น มีชนวนมาจากเรื่องราวที่แชร์กันในโลกออนไลน์ซึ่งไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริง เกี่ยวกับลูกจ้างชาวพุทธที่ถูกข่มขืนโดยนายจ้างชาวมุสลิมที่เป็นเจ้าของร้านน้ำชาแห่งหนึ่ง

ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รุดเข้ามาควบคุมสถาการณ์ได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างจากในอดีตที่ดำเนินการอย่างเชื่องช้า ผู้ก่อจลาจลถูกควบคุมตัวเป็นจำนวน 362 คน และมีการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่

มีการคาดเดากันอย่างแพร่หลายว่า เหตุจลาจลในครั้งนี้ได้มีการเตรียมการวางแผนไว้เพื่อสร้างความตื่นตระหนกและกันเหความสนใจของมวลชน ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่เหตุจลาจลจะเกิดขึ้นสมาคมเยาวชนชาวพุทธ (Young Buddhists Association) ได้ออกมาเตือนให้ระวังเกี่ยวกับ การสร้างสถานการณ์ที่จะนำไปสู่เหตุรุนแรงในประเทศ "เราได้รับข่าวมาว่า ผู้บงการที่ต้องการสร้างความรุนแรงทางศาสนาหรือเชื้อชาติ กำลังวางแผนที่จะเติมเชื้อไฟ (ให้สถานการณ์) ในโซเชียลเน็ตเวอร์คและทั่วประเทศ "

สมาคมชาวมุสลิมพม่า (Burmese Muslim Association) ในกรุงลอนดอนได้อธิบายเหตุความขัดแย้งในครั้งนี้ว่าเป็น "ปฏิบัติการณ์ที่ถูกวางแผนมาเป็นอย่างดี โดยกลุ่มอันธพาลที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี"

"ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2014 รถตูคันหนึ่งและกลุ่มคนที่ขับขี่จักรยานยนต์กว่า 30 คัน ที่เป็นผู้ก่อม็อบซึ่งมีมีดและอาวุธร้ายแรง ได้ตระเวณไปทั่วเมืองมัณฑะเลย์ โดยมีเป้าหมายที่ร้านค้าและกิจการที่มีชาวมุสลิมเป็นเจ้าของ รวมถึงสถานที่สำคัญทางศาสนาและอาคารสถานที่ของชาวมุสลิม" สมาคมชาวมุสลิมพม่า ระบุในแถลงการณ์

เต่งวินอ่อง รองประธานกลุ่มเพื่อสันติภาพกลุ่มหนึ่งที่ริเริ่มโดยผู้นำทางศาสนาและประชาชนซึ่งได้รวมกลุ่มทันทำหลังเกิดเหตุการณ์จลาจลในมัณฑะเลย์ ตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็น "กลอุบายทางการเมือง" หยุดยั้งไม่ให้ประชาชนสนับสนุน แคมเปญ 436 ที่เป็นการรณรงค์ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยรัฐบาลทหาร "ถ้าเราไม่เข้าใจกลอุบายทางการเมือง ถ้าเราไม่ควบคุมกันและกัน ถ้าเราปล่อยให้ตัวเองติดกับ เมือนั้น ไม่ใช่แค่มัณฑะเลย์ แต่ทั้งประเทศจะต้องถูกไฟผลาญ"

แท้จริงแล้ว เหตุจลาจลได้ทำให้หลายคนรู้สึกท้อไม่กระตือรือร้นที่จะออกมาพูดถึงการรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการริเริ่มทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยนางอองซาน ซูจี

แต่ทว่า เหตุจลาจลก็อาจมีความหมายว่า กลุ่มหันรุนแรงทางศาสนายังคงเป็นผู้ที่กุมอำนาจในประเทศอยู่ก็เป็นได้ เมือไม่กี่ปีมานี้ จะพบว่ามีกลุ่มคนที่ต่อต้านชาวมุสลิมเพิ่มมากขึ้นในหมู่ชาวพม่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ผู้ทำทางศาสนาพุทธบางคนถึงกับโจมตีชาวมุสลิมอย่างเปิดเผยว่ากำลังวางแผนสมรู้ร่วมคิดกันควบคุมประเทศพม่า

แต่โชคร้ายที่กลุ่มคนที่มีความรู้สึกเช่นนี้เป็นผู้ที่อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ในการปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังชาวมุสลิม ด้วยเหตุนี้ทำให้ เคเน็ท วอง นักเขียนสัญชาติพม่า - อเมริกัน ได้ออกมาขอร้องให้ชาวเน็ตมีความรับผิดชอบมากขึ้นเมื่อใช้อินเทอร์เน็ต "ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเชื้อไฟในทุกวันนี้ เพียงแค่ข่าวที่ไร้ความรับผิดชอบแค่ชิ้นเดียวบวกกับการคลิกเมาส์ไม่กี่พันครั้งในเฟซบุ๊คก็สามารถทำให้มัณฑะเลย์หรือเมืองใหญ่ๆ อื่นๆ ลุกเป็นไฟได้"

ด้านรัฐบาลพม่าได้สั่งปิดเฟซบุ๊คทันทีในช่วงที่เกิดเหตุจลาจลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข้อความที่สร้างความเกลียดชัง วินกอง อธิบดกรมตำรวจ กล่าวในการให้สัมภาษณ์แก่นิตยสารอิรวดี ว่า การปิดเฟซบุ๊คนั้นจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อหยุดยั้งความรุนแรง "ใช้ เราปิดมัน เราต้องการหยุดการยั่วยุ เมื่อพวกเขามีการยั่งยุหรือกระจายข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยันออกไป มันจะเป็นการปลุกปั่นความเกลียดชังที่มีอยู่ระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่าง คำหรือประโยคของใครบางคนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่ใหญ่โตได้"

อย่างไรก็ตาม ก็มีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับการปิดเฟซบุ๊ก บางส่วนก็สนับสนุน ในขณะที่บางส่วนก็กังวลเรื่องผลกระทบต่อความพยายามปรับปรุงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศ ในวันนี้ เฟซบุ๊กถูกปิดเพื่อยุติเหตุจลาจล แต่ตำรวจจะใช้มาตรการเดียวกันนี้ในการปราบปรามการประท้วงของผู้ต้อต้านรัฐบาลในอนาคตหรือไม่?

นอกจากนี้ ยังมีการรายงานว่ากลุ่มที่ก่อม็อบได้ข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนและสำนักข่าวในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุจลาจลด้วย ซึ่งการข่มขู่ได้ทำให้นักข่าวไม่สามารถนำเสนอข้อมูลผลกระทบจากเหตุจลาจลในมัณฑะเลย์ได้อย่างเต็มที่

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยของพม่าไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้โดยปราศจากความพยายามส่งเสริมความสามัคคีระหว่างคนกลุ่มต่างๆ อย่างจริงจัง เหตุจลาจลในมัณฑะเลย์ควรจะเป็นสิ่งเตือนใจผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมไปถึงชุมชนโลกให้ตระหนักได้ทันเวลาว่า พม่ากำลังอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่วุ่นวายสับสน ซึ่งพม่าต้องการมากกว่าการปฏิรูปทางการเมืองหรือการแก้รัฐธรรมนูญ
จาก The Meaning of the Mandalay Riots in Myanmar โดย Mong Palatino
The diplomat July 12, 2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น