วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

การปฏิรูปการศึกษาในพม่า และสิ่งที่ชนกลุ่มน้อยต้องการ

education

ทีกอทอ รัฐกะเหรี่ยง - ลืมภาพโรงเรียนทั่วๆ ไปได้เลย ถ้าคุณเป็นนักเรียนในรัฐกะเหรี่ยง เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาของคุณคือ คุณอาศัยอยู่เขตไหน เขตสีขาว เขตสีเทา หรือสีดำ
ในช่วง 6 ทศวรรษของสงครามกลางเมือง ชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงได้แบ่งพื้นที่ของตนออกเป็นเขตที่มีสีแต่งต่างกัน เขตสีขาวเป็นเขตของศัตรู ซึ่งจะมีทหารของรัฐบาลในเครื่องแบบสีเขียว ไกลออกไปในป่าเขียวขจี เป็นเขตสีเทา เป็นพื้นที่ที่มีการควบคุมร่วมกัน ในขณะที่เขตสีดำเป็นเขตที่ควบคุมโดยกองกำลังกะเหรี่ยง
ในส่วนของการศึกษาก็มีการแบ่งตามเขตเหล่านี้ ในพื้นที่สีขาว ครูในโรงเรียนรัฐใช้ภาษาพม่าในการเรียนการสอนตามหลักสูตรของรัฐบาล ในพื้นที่สีดำ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู ก็มีระบบการศึกษาของตนเอง โดยครูจะใช้ภาษากะเหรี่ยงในการเรียนการสอน และเน้นเรื่องประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงเป็นพิเศษ ในพื้นที่สีเทา โดยเฉพาะในช่วงปีหลังๆ มานี้ มีการศึกษาแบบผสมผสานซึ่งจะมีการใช้หลักสูตรของทั้งสองแบบรวมกัน

แต่ในปัจจุบัน ความแตกต่างของทั้งสองหลักสูตรเริ่มจะไม่ชัดเจน หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงเมื่อปี 2012 ซึ่งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐบาลและองค์กรเอ็นจีโอที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลได้สร้างโรงเรียนเพิ่มอีกหลายแห่งในพื้นที่ผสมและในพื้นที่ของกะเหรี่ยง ในวันนี้ ผู้นำจากหน่วยงานด้านการศึกษาของเคเอ็นยู หรือ Karen Education Department (KED) ได้เผยว่า บางครั้งรัฐบาลก็ส่งครูของรัฐมาประจำที่โรงเรียนที่ดำเนินการโดยเคเอ็นยูและแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่

บรรดาผู้นำในรัฐบาลเนปีดอว์กำลังพยายามยกเครื่องระบบการศึกษาภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ในกระบวนการดังกล่าว นักการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กล่าวว่า พวกเขาต่างกลัว "การแทรกซึมแบบเงียบๆ " เข้ามายังพื้นที่ของตน โดยจะเข้าไปยังโรงเรียนของรัฐบาลก่อน ตามมาด้วยส่วนงานบริหาร อย่างเช่นผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล

"นั่นคือตั๋วผ่านทาง หากจะส่งคนอื่นๆ เข้ามา พวกเขาจะเริ่มที่หน่วยงานการศึกษาก่อน" ซอว์ลอเอมู เลขาธิการ KED กล่าว "ในทางการทหาร มีการแบ่งเขต ถ้าต้องการข้ามเขต พวกเขาต้องแจ้งให้เราทราบล่วงหน้า แต่สำหรับการศึกษา ไม่มีเส้นแบ่งเขตอย่างนั้น"

"เราถูกเรียกว่าเป็นกบฎ"

ในขณะที่โรงเรียนของรัฐบาลดูเหมือนจะเพิกเฉยผลของสงครามกับชนกลุ่มน้อย แต่โรงเรียนของกะเหรี่ยงจะเน้นย้ำเรื่องนี้ โดยมุ่งไปที่ความขัดแย้งในรัฐกะเหรี่ยงที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 1949 โดยไม่มีการแสร้งหยอดคำหวาน บนหน้าปกของตำราเรียนเกี่ยวกับการปฏิวัติของชาวกะเหรี่ยงเป็นรูปภาพเงาของทหารและคราบเลือดที่กระเซ็น

ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าจะการสู้รบจะลดความรุนแรงลงนับตั้งแต่มีการเจรจาสันติภาพ แต่ลาขาธิการ KED กล่าวว่า บางครั้งเขาก็คิดถึงเรื่องความจำเป็นสำหรับนักเรียนที่จะต้องได้รับการฝึกทหาร แต่เขาก็ยอมรับว่าอาจเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก ระบบโรงเรียนของ KED มุ่งเน้นไปที่การศึกษา ซึ่งการเสนอให้มีการฝึกทหารด้วยอาจทำให้ผู้บริจาคจากนานาชาติที่ให้การสนับสนุน KED ปีละหลายล้านดอลลาร์ไม่พอใจได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปะทะกันในรัฐกะเหรี่ยงจะแทบไม่เกิดขึ้นแล้วในช่วงนี้ แต่คงไม่ง่ายนักสำหรับนักการศึกษาชาวกะเหรี่ยงที่จะอภัยและลืมสิ่งที่เกิดขึ้น "สิ่งที่เราเขียนไว้ในตำราเรียนของเราแตกต่างจากสิ่งที่ระบุไว้ในระบบการศึกษาของรัฐมาก" ลอเอมู กล่าว "ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาเรียกเราว่ากบฎ หรือ ผู้ก่อการร้าย ซึ่งเราก็เรียกพวกเขาว่าอย่างนั้นเหมือนกัน"

เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ เคเอ็นยูมีหน่วยงานด้านการศึกษาและหน่วยงานด้านสุขภาพที่ได้รับการพัฒนามากว่าครึ่งศตวรรษ ในช่วงเริ่มแรก KED ใช้แผนการเรียนการสอนที่เขียนขึ้นโดยมิชชั่นนารี แต่ในช่วงกลาง 1900s ก็ได้เริ่มพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาเองโดยได้รับการช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศตามแนวชายแดนไทย - พม่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวกะเหรี่ยงหนีภัยสงครามไปอยู่ที่นั่น โดยหลักสูตรใหม่ไม่ได้มีแค่เฉพาะประวัติศาสตร์กะเหรี่ยง ภาษา วัฒนธรรม แต่ยังมีวิชาพื้นฐานอื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภูมิศาสตร์ด้วย

ในส่วนของปีที่แล้ว KED ได้ให้การสนับสนุนโรงเรียน 1,295 แห่ง ซึ่งนักเรียนจำนวน 141,000 คน ซึ่งนอกจากรัฐกะเหรี่ยงเอง ยังรวมถึงในหลายพื้นที่ของภาคพะโค ภาคตะนาวศรี และรัฐมอญ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นเขตที่เคเอ็นยูถือว่าเปฌรส่วนหนึ่งของ "รัฐกะเหรี่ยง ผู้อำนวยการกลุ่มช่วยเหลือทางการศึกษารัฐกะเหรี่ยง ที่ทำงานร่วมกับ KED กล่าว

ก่อนหน้าที่จะมีการตกลงหยุดยิง ครูที่โรงเรียงเหล่านั้นมักจะถูกบีบให้ยกเลิกชั้นเรียนในช่วงที่ถูกโจมตีโดยกองทัพรัฐบาลพม่า ในขณะที่นักเรียนและครอบครัวต้องหนีตายเข้าป่า

"พวกเขามีนโนบายให้ยิงทันที ทุกอย่างที่เคลื่อนไหว " เลขาธิการ KED กล่าวโดยระบุว่า พวกเขาไม่ได้แยกแยะระหว่างทหารกะเหรี่ยงกับชาวบ้าน "แม้กระทั่งเด็กเล็ก พวเขาบอกว่า 'เธอจะโตขึ้นและไปร่วมกับกลุ่มต่อต้าน ทำไมเราจะไม่เริ่มที่เธอตอนนี้หละ?'"

เขาเสริมว่า อาคารเรียนมีกจะถูกทำลายอยู่บ่อยครั้ง "พวกเขาเผา เราสร้าง พวกเขากลับมาทำลาย เราก็สร้างใหม่ เราทำให้เขาไม่ว่าง"

การแทรกซึมอย่างเงียบๆ ?

ในหุบเขาใกล้กับแม่น้ำเมย ที่กั้นระหว่างรัฐกะเหรี่ยงกับประเทศไทย คุณจะพบหมู่บ้าน ทีกอทอ หมู่บ้านเกษตรที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ราว 650 คน พื้นที่บริเวณที่ควบคุมโดยกองกำลังชาวกะเหรี่ยงบำเพ็ญประโยชน์แด่ประชาธิปไตย" (Democratic of Karen Benevolent Army หรือ DKBA ) ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล เดิมแยกตัวออกมาจากเคเอ็นยู ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า พวกเขาเห็นทหารพม่าเป็นบางครั้งที่วัด ในขณะที่ทหารเคเอ็นยูเดินทางผ่านพื้นที่ดังกล่าวเกือบทุกวัน

ในปี 2010 รัฐบาลได้สร้างโรงเรียนแห่งใหม่ที่ใหญ่กว่า แทนที่โรงเรียนเล็กๆ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจาก DKBA ในวันนี้โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนราว 200 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง แต่ก็มีชาวพม่า ปะโอและมอญรวมอยู่ด้วย โรงเรียนแห่งนี้สะอาดสะอ้านแต่ก็ว่างเปล่าและขาดแคลนเจ้าหน้าที่หากเทียบกับโรงเรียนหลายแห่งในย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในพม่า "ผมต้องการครูผู้ช่วยและพื้นที่มากกว่านี้ เราต้องการครูใหญ่ ต้องการครู และอุปกรณ์เพิ่ม" ซอว์ทูเมียต ครูวัย 22 ปี หนึ่งในครู 3 คนจากรัฐบาลของโรงเรียนแห่งนี้ กล่าว
ระหว่างการเรียนการสอนทุกครั้ง เขาจะยืนอยู่หน้ากระดานในห้องเรียนและบอกให้เขียนตาม แต่เขาก็พยายามให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น " 35 นาทีต่อวัน ผมจะถามคำถามนักเรียนและเขียนคำตอบลงบนกระดาน" เขาพูดถึงวิธีการสอนโดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง "มันยาก แต่มันก็ทำให้นักเรียนมีมีความสุข"

เขาทำตามหลักสูตรของรัฐบาลและใช้ภาษาพม่าในการสอน แม้ว่านักเรียนส่วนใหญ่จะพูดภาษากะเหรี่ยงที่บ้านก็ตาม ในปีนี้ เป็นครั้งแรกที่เขาบอกว่าจะสามารถสอนภาษากะเหรี่ยงได้เพื่อช่วยให้นักเรียนของเขาเรียนอ่านเขียนภาษาแม่ของตนเอง

ซอว์มิ้นอ่อง วัย 13 ปี เขาเป็นเด็กที่ได้คะแนนภาษาอังกฤษสูงสุด แต่เพื่อนๆ มักจะล้อเขาว่า "ถ้าเธอเป็นคนกะเหรี่ยง ทำไมถึงอ่านหรือเขียนภาษากะเหรี่ยงไม่ได้" เขานึกย้อนถึงคำเยาะเย้ยเหล่านั้น เขาบอกว่า "ผมอยากเรียนอ่านและเขียนภาษากะเหรี่ยง เพราะผมเป็นคนกะเหรี่ยง"

ในโรงเรียนแห่งนี้มีครูอีก 6 คนที่ไม่ได้ว่าจ้างจากรัฐบาล รวมทั้ง โชโช ลวิน ครูในขุมชนวัย 51 ปีที่มีประสบการณ์สอนในหมู่บ้านดังกล่าวมากว่า 10 ปี และได้รับเงินเดือนจาก DKBA "ครูของรัฐบาลได้รับเงินเดือน 116,000 จั๊ต(ประมาณ 3,480 บาท) ส่วนฉันได้เงินเดือน 2,500 บาท มันไม่พอใช้" เธอบอกอย่างเขินอาย เมื่อถามว่าเธออยากได้เงินเดือนที่สูงขึ้นหรืออยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในอนาคต เธอบอกว่า "ฉันไม่มีอำนาจที่จะแนะนำให้เปลี่ยนแปลงอะไรได้"

KED ได้สนับสนุนเงินเดือนของครูที่ชุมชนจ้างให้สอนในโรงเรียนรัฐบาลด้วย โดยจะจ้างในอัตรา 4500 บาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่ครูของรัฐได้รับในเดือนเดืยว ด้วยงบประมาณต่อปีที่มีเพียง 3 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง KED ช่วยสนับสนุนค่าเดินทางและค่าที่พักให้กับครูของรัฐ ซึ่งไม่เช่นนั้นครอบครัวของนักเรียนต้องเป็นคนจ่ายเอง

เลขาธิการ KED กล่าวว่า ค่าตอบแทนที่ไม่เท่ากันรวมถึงการที่ครูของรัฐบาลมักจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่ ทั้งๆ ที่ประสบการณ์กว่า อาจนำไปสู่ความตึงเครียดในหมู่บ้านได้ ซึ่งครูของรัฐบาลบางคนถึงกับถูกชาวบ้านในพื้นที่บีบให้ลาออกก็มี

ถึงเวลาเจรจา

ขณะนี้สภากำลังพิจารณาร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งถ้าผ่านความเห็นชอบแล้วจะส่งผลถึงโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศ แต่ในขณะที่รัฐบาลพม่ากำลังขยับไปใกล้การหยุดยิงทั่วประเทศ ยังคงไม่ชัดเจนว่าโรงเรียนแหล่านี้จะหลอมรวมกับโรงเรียนของ KED หรือระบบการศึกษาของชนกลุ่มน้อยในรัฐคะฉิ่น รัฐมอญ รัฐฉานรัฐชินและรัฐอาระกันหรือไม่

นักการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กล่าวว่า การสนับสนุนของพวกเขาถูกเพิกเฉยจากกระทรวงศึกษาธิการของพม่า

"การศึกษาในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงน่าเป็นห่วง เราจึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า การปฏิรูปการศึกษานั้นยังไม่ครอบคลุม" จายหน่อคำ ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ชนบทรัฐฉาน กล่าว "พวกเขาไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ และนักวิชาการในพื้นที่จากชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปการศึกษานี้"

"เราเห็นว่านโยบายการศึกษาในอนาคตยังคงเป็นนโยบายที่สร้างความเป็นพม่า(Burmanization policy) ซึ่งเป็นรากเหง้าของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และการเมือง(ในพม่า)นับตั้งแต่ได้รับเอกราช"

ในปี 2012 กระทรวงศึกษาธิการได้ทำการศึกษาขนานใหญ่เพื่อหาจุดอ่อนและจุดแข็งของระบบการศึกษาของพม่าเพื่อวางนโยบายการศึกษาใหม่ นักวิจัยได้ศึกษาโรงเรียนทั่วประเทศ แต่ข้อมูลจากเลขาธิการของ KED ระบุว่า พวกเขาไม่ได้พิจารณาถึงความหลากหลายทางการศึกษาในรัฐกะเหรี่ยง "งานที่เราได้ทำมากกว่าหลายสิบปีไม่ได้อยู่ในข้อมูลของพวกเขา" เขากล่าว "การศึกษาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พวกเขาหมายถึงก็คือ งานของรัฐบาลในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์"

เอทวาบอร์ ผู้อำนวยการ โครงการโรงเรียนชุมชน ที่ก่อตั้งโรงเรียน 31 แห่งในรัฐกะเหรี่ยงกล่าวว่า กระทรสงศึกษาธิการจำเป็นต้องเข้าใจว่า นักการศึกษาที่ไม่ใช่ของรัฐบาลก็กำลังทำงานที่มีคุณค่าเช่นกัน  "พวกเขาควรยอมรับโรงเรียนในหมู่บ้านเหล่านั้น และพวกเขาควรจะปฏิบัติต่อครูเหมือนๆ กันเพราะพวกเขาต่างก็ทำงานหนักเหมือนๆ กัน" เธอกล่าว

นอกจากนี้ เธอยังอยากให้ KED ร่วมมือกับรัฐบาลมากกว่านี้ เริ่มแรก เธอบอกว่า โรงเรียนของกะเหรี่ยงควรจะมีการสอนภาษาพม่า "พม่ามีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เราควรเรียนภาษาพม่า ไม่เช่นนั้น เราจะสื่อสารกันได้อย่างไร" เธอกล่าว

KED ต้องการเห็นระบบโรงเรียนที่มีการกระจายอำนาจ สอดคล้องกับระบบการเมืองแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยได้เสนอไป ซึ่งจะอนุญาตให้แต่ละรัฐมีระดับอำนาจในการบริหารจัดการโรงเรียนของตัวเอง

KED กล่าวว่า องค์กรได้เปิดรับการเจรจาในบางประเด็นเพื่อช่วยในการหลอมรวมกับระบบการศึกษาของรัฐบาล และจะเริ่มสอนภาษาพม่าให้กับนักเรียนในไม่ช้านี้ การรวมหลักสูตรของรัฐบาลนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อนีกเรียนชาวกะเหรี่ยงที่ถูกปิดกั้นไม่ให้เข้ามหาวิทยาลัยพม่าได้เพราะเรียนมัธยมของ KED

เลขาธิการ KED กล่าวว่า มีบางประเด็นที่จะไม่เปิดให้มีการเจรจา ซึ่งได้แก่ การให้มีวิชาประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ในหลักสูตร และการสอนโดยใช้ภาษาแม่

เขาเห็นว่ามีสองทางเลือกที่เป็นไปได้ ประเด็นแรก กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในพม่าสามารถออกแบบหลักสูตรหนึ่งร่วมกัน ซึ่งจะมีบทเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสัฒนธรรมของแต่ละกลุ่ม ซึ่งหลักสูตรนี้จะสามารถนำไปใช้ได้ในโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ "แต่เราทำนายได้ว่าจะต้องเกิดความโกลาหล" เขากล่าว โดยบอกว่า ทางเลือกที่สองอาจจะง่ายกว่า นั่นคือ รัฐบาลอาจจะออกแบบหลักสูตร 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทุกกลุ่มต้องนำไปใช้ ในขณะที่อีก 40 เปอร์เซ็นต์เปิดให้กลุ่มชาติพันธุ์กำหนดหลักสูตรด้วยตัวเองง หรืออาจจะแต่ละรัฐ

ซึ่งทางเลือกทั้งสอง นโยบายการศึกษาต้องไม่ได้รับการพัฒนาโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว เขากล่าว

"เรารู้สึกเหมือนพวกเขามีมือคอยควบคุมเราอยู่" เขาพูดถึงรัฐบาล "และนี่จะเป็นการจำกัดความสามารถในการจัดการศึกษาของชาติพันธุ์เรา"

"ในอดีตพวกเขาฆ่า พวกเขาเผาและทรมานร่างกาย ตลอดเวลา เราต้องฟื้นคืนกำลังกลับมาให้ได้ แต่ตอนนี้เราต้องระมัดระวัง พวกเขาอาจจะกำลังพยายามจัดการเราด้วยวิธีที่นุ่มนวล และเรากังวลว่า อัตลักษณ์ที่เราได้รักษาไว้กว่า 6 ทศวรรษจะเริ่มสูญสลายไปอย่างช้าๆ"

 

แปลจาก What Burma’s Rebel Educators Want From School Reform โดย SAMANTHA MICHAELS / THE IRRAWADDY 4 กย 57

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น