วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ชนกลุ่มน้อยชาวคะฉิ่นโหยหาสันติภาพ




ชนกลุ่มน้อยชาวคะฉิ่นจำนวนมากต้องอพยพหนีความรุนแรง ซึ่งเกิดจากการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งพวกเขาหวังว่านางอองซานซูจีจะเป็นผู้นำสันติภาพกลับคืนสู่รัฐคะฉิ่น

 

กองกำลังติดอาวุธในรัฐคะฉิ่น ถือเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่ากลุ่มสุดท้ายที่ยังคงสู้รบกับกองทัพพม่า โดยการสู้รบที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ส่งผลให้ประชาชนในรัฐคะฉิ่นกว่า 60,000 คนต้องลี้ภัยออกนอกถิ่นฐาน ไปพักอาศัยอยู่ในค่ายอพยพราว 80 แห่ง

 

ค่ายอพยพที่เมืองมิตจีนา เมืองเอกของรัฐคะฉิ่น สร้างขึ้นโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2554 ขณะนี้มีประชาชนเกือบ 600 คนหลบหนีความรุนแรงมาพักพิงในค่ายอพยพแห่งนี้

 

กลุ่มฮิวแมนไรทส์วอตช์ ให้ข้อมูลว่า กองทัพพม่าเป็นฝ่ายปฏิบัติการสังหารและการโจมตีพลเรือนด้วยอาวุธสงคราม  บังคับใช้แรงงาน รวมทั้งปล้มสะดมหมู่บ้านต่างๆ ในรัฐคะฉิ่น ทำให้ชาวบ้านต้องหลบหนีออกนอกพื้นที่

 

นางทูวัน ผู้อพยพหญิงวัย 33 ปีกล่าวว่า เธอทั้งเครียด และกลัวว่าทหารพม่าจะบุกเข้ามาถึงหมู่บ้านของเธอแล้วจับตัวเธอไป จึงตัดสินใจอยู่อพยพมาอยู่ในค่ายอพยพ

 

กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ขณะที่ผู้ชายเกือบทั้งหมดต้องพักอยู่ใกล้ถิ่นฐานเดิมของพวกเขาเพื่อคอยดูแลพืชผลทางการเกษตร

 

แม้ว่ารัฐบาลพลเรือนของพม่าจะทำข้อตกลงหยุดยิงกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น กองกำลังในรัฐกะเหรี่ยง และกองกำลังไทใหญ่ในรัฐฉาน แต่ผู้นำกองกำลังรัฐคะฉิ่นต้องการมากกว่าข้อตกลงหยุดยิง พวกเขาต้องการสิทธิในการปกครองตนเอง แต่การเจรจาในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว กลับล้มเหลว

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นางอองซานซูจีและสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเดินทางมายังรัฐคะฉิ่นเพื่อหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 1 เมษายนนี้ ได้สร้างความหวังที่จะได้พบกับสันติภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มผู้อพยพชาวคะฉิ่นอีกครั้งหนึ่ง

 

เนื่องจากนางซูจีเป็นบุคคลสำคัญที่หลายฝ่ายคาดว่าจะช่วยให้พม่าเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างราบรื่น หลังจากที่พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของทหารมากว่า 5 ทศวรรษ โดยบางคนเชื่อว่าเธอเป็นเพียงคนเดียวที่จะสามารถผนึกความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในพม่าให้อยู่รวมกันได้อย่างสันติ รวมทั้งช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางกับกองกำลังติดอาวุธคะฉิ่นด้วย

 

ทั้งนี้ ความสำเร็จในการสร้างความปรองดองระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า ขึ้นอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ร่างโดยคณะนายทหาร ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขในหมวดที่ว่าด้วยระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐที่มอบอำนาจการปกครองตนเองให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

 

โดย  VoiceTV

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น