หลังจากปิดประเทศมายาวนานภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารพม่า ที่เจียดเงินน้อยนิดให้กับการศึกษา ประชาชนไม่มีความรู้ คนหลายรุ่นจึงเติบโตขึ้นมาด้วยการศึกษาเพียงแค่ระดับขั้นพื้นฐาน แม้จนถึงขณะนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู้ประชาธิปไตย แต่หลายคนยังเห็นว่า สถานการณ์ด้านการศึกษายังคงเลวร้าย
พระอู กาวินดา ก่อตั้งโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ยากจนของปากแม่น้ำอิระวดีเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ทั้งชาวประมงและชาวนา มาหลายปีแล้ว ในช่วงฤดูมรสุม ทางเดียวที่จะเดินทางมาที่โรงเรียนแห่งนี้คือทางเรือ ในช่วงฤดูแล้งพวกเขาต้องเดินมาโรงเรียน โรงเรียนอื่นที่ใกล้ที่สุดต้องข้ามทุ่งนาที่น้ำท่วมบ่อยๆ ไปอีกหลายไมล์
"รัฐบาลควรสร้างโรงเรียน" พระอู กาวินดา ผู้สร้างโรงเรียนแห่งนี้เมื่อสามปีที่แล้ว กล่าว "แต่ที่นีไม่เคยมีโรงเรียนของรัฐเลย"
งานของพระกาวินดาและทีมงานกลุ่มเล็กๆ ได้เน้นย้ำสิ่งที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง ที่กำลังท้าทายพม่าแต่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึง นั่นก็คือ การยกเครื่องระบบการศึกษาและวัฒรธรรมการเรียนรู้ทั้งหมด
หลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลหวาดกลัวการให้การศึกษาแก่ประชาชน และได้เจียดงบประมาณประเทศเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ให้กับการศึกษา ขณะที่ทุ่มงบประมาณถึง 25 เปอร์เซ็นต์ให้แก่กองทัพ สถาบันการศึกษาระดับสูง อย่างเช่น มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ถูกมองว่าเป็นแห่งรวมผู้ต่อต้านรัฐบาล ก็ถูกปิดอยู่บ่อยครั้ง
ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่เข้ารับตำแหน่งเข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2011 ทีผ่านมานั้น ความพยายามผลักดันเรื่องการศึกษาก็กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ เมื่อปีที่แล้ว มีการเพิ่มงบประมาณสนับสนุนการศึกษาจากเดิม 340 ล้านดอลลาร์เป็น 740 ล้านดอลลาร์ แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ายังน้อยกว่าที่จำเป็นต้องใช้ อย่างไรก็ตาม ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว ในขณะเดียวกัน นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่เรียกร้องให้มีกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยออกมา
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า การต่อสู้เพื่อการยกเครื่องระบบการศึกษาเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลายาว รัฐบาลเผด็จการชุดก่อนไม่ได้แค่ไม่ลงทุนเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ในสมัยนายพลเนวิน ที่ยึดอำนาจเมื่อปี 1962 ยังมีนโยบายต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติ และยกเลิกการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นไป
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ชาวพม่าที่พูดภาษาอังกฤษได้มีจำนวนน้อยกว่าประเทนอินเดีย หรือปากีสถาน แม้ว่าพม่าจะเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า พม่าขาดแคลนแรงงานที่ผ่านการอบรม ซึ่งจะเป็นตัวถ่วงในขณะที่บริษัทต่างชาติกำลังแห่กันเข้าไปลงทุนในพม่าและดำเนินกิจการที่เคยถูกคว่ำบาตรมาก่อนหน้านี้ ส่วนในช่วงของรัฐบาลทหาร นักศึกษาที่เก่งๆ ก็ต้องอพยพหนีออกนอกประเทศไปจำนวนมาก
สถิติโดยองค์การยูนิเซฟ ระบุว่า มีเด็กกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา แต่มีเด็กที่เรียนจบทั้ง5 ปี เพียงกว่าครึ่งหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้มีเด็กนักเรียนประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ที่ได้เข้าเรียนต่อในระดับมัธยม ทั้งนี้สถิติก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละรัฐและแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจ
ในส่วนที่มีการขยับขยายอย่างเห็นได้ชัดคือโรงเรียนวัด ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล มีตัวเลขชี้ว่าจำนวนนักเรียนที่ขึ้นทะเบียนในโรงเรียนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 93,000 คนในปี 1997 เป็น 190,000 คนในปี 2009 ซึ่งเป็นสถิติล่าสุดที่มีการสำรวจ ในพม่ามีโรงเรียนประถมประมาณ 4,000 โรงเรียน และโรงเรียนวัด 1,500 แห่ง ซึ่งโรงเรียนของพระอูกาวินดา เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
"โรงเรียนประถมมีคุณภาพต่ำ ผลการศึกษาก็ย่ำแย่ ทั้งนี้เพราะขาดแคลนครูที่ได้รับการอบรมและขาดทรัพยากร" นี่คือสิ่งที่ระบุไว้ในเอกสารรายงานของยูนิเซฟ "สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือความต้องการการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในสังคมยุคใหม่ที่เชื่อมต่อกัน รวมถึงการสร้างสันติภาพด้วย"
การทบทวนในส่วนภาคการศึกษาเป็นเวลาสองปีของเต็งเส่งจะครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่โรงเรียนประถมไปจนถึงการศึกษาระดับสูง หลายคนเชื่อว่า วิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ที่ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อเสียงในระดับภูมิภาคในอดีต เป็นเสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความล้มเหลวของการจัดการกับการศึกษาของรัฐบาลเผด็จการทหาร
มหาวิทยาลัยย่างกุ้งดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากที่เคยเป็นสถานศึกษาที่มีนักศึกษาคับคั่ง ขณะนี้รับเฉพาะนักศึกษาระดับปริญญาโท ในขณะที่นักศึกษาปริญญาตรีคณะต่างๆ ต้องกระจายตัวกันไปเรียนในชานเมือง นายบารัก โอบามา ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เมื่อครั้งที่เดินทางมาเยือนพม่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ว่า มหาวิทยาลัยคือหัวใจของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในหลายครั้ง ทั้งการต่อต้านอังกฤษเจ้าอาณานิคม และต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ซึ่งรัฐบาลเผด็จการก็ได้ทำลายสหภาพนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งด้วยความโกรธแค้น
เมื่อนางอองซาน ซูจีไปเยือนอังกฤษเมื่อต้นปีที่ผ่านมาและได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นสถานที่ที่นางได้ศึกษาที่วิทยาลัยฮิวช์คอลเลจในช่วงปี 1964 - 1967 นางได้กล่าวว่า เธอรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการศึกษาระดับสูงในประเทศของเธอ
"ชีวิตในมหาวิทยาลัยต้องถูกทำลายย่อยยับเพราะต้องการวบคุมนักศึกษาให้อยู่ในระเบียบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ทุกคนรู้ดีว่าไม่มีทางที่จะควบคุมให้นักศึกษาอยู่ในระเบียบได้ เราไม่ควรใช้เวลาไปกับหน้าที่ที่เปล่าประโยชน์และไม่พึงปรารถนาเช่นนั่น ฉันต้องการเห็นชีวิตในมหาวิทยาลัยที่เคยรุ่งโรจน์กลับมาอีกครั้ง"
ช่วงบ้านวันหนึ่ง นักศึกษาพม่าสามคนได้ไปรวมตัวกันที่โรงเรียนสอนภาษา Critiker English School ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในย่างกุ้งที่สอนภาษาอังกฤษ
นักศึกษาทั้งสามคนวิพากษ์วิจารณ์การเรียนการสอนในสถานศึกษาของรัฐว่า เน้นการท่องจำและการตอบคำถามในข้อสอบมากกว่าที่จะกระตุ้นให้เด็กได้คิด แม้กระทั่งทุกวันนี้ยังมีหลายวิชาที่ไม่สามารถทำารเรียนการสอนได้ อย่างเช่น รัฐศาสตร์ เป็นต้น
"เนวินสร้างระบบนี้ขึ้นมาเพื่อล้างสมองประชาชน มันเป็นการตีกรอบความคิด ไม่มีการคิดนอกกรอบ" นานอูหล่าย นักศึกษาสาวด้านเคมี วัย 22 ปีกล่าว "มีก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงแต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย รัฐบาลก็ควรจะเปลี่ยนด้วย ไม่มีใครคิดถึงเรื่องการศึกษาผู้ใหญ่เลย ซึ่งคนทั้งรุ่นไม่มีโอกาส"
ที่โรงเรียนของพระอูกาวินดาในเมืองกาแล็กเม ท่านต้องการแค่ขอให้เด็กนักเรียนจำนวน 60 คนในโรงเรียนได้มีโอกาศเรียนวิชาภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งนักเรียนของท่านจำนวน 20 คนเรียนจบชั้นมัธยมแล้ว ท่านกล่าวว่า ท่านเข้ามาในพื้นที่ปากแม่น้ำอิระวดีหลังพื้นที่นี้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิสเมื่อปี 2008 และเห็นว่าพืน้ที่ดังกล่าวยังไม่มีโรงเรียน "การตั้งโรงเรียนเป็นเรื่องที่ยากมาก" ท่านกล่าว โดยบอกว่าไม้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล และต้องอาศัยเงินจากการบริจาค
ชาวนาที่ส่งลูกหลานมาเรียนในโรงเรียน ที่เรียนหนังสือท่ามกลางเสียงนกที่กำลังร้องเพลงในห้องเรียนที่อากาศบริสุทธิ์สดชื่น ต่างรู้สึกขอบคุณอูกาวินดาอย่างมาก ดอว์เมียะตาน เดินมาส่ง นินมอน ลูกสาววัย 5 ขวบมาที่โรงเรียนแห่งนี้ทุกวัน เธอบอกว่า "โรงเรียนอื่นต้องเดินไกล"
แปลและเรียบเรียงจาก Why Burma is going back to school โดย Andrew Buncombe
The Independent 17 กุมภาพันธ์ 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น