เรื่อง/ภาพ โดยนางยุ่มแล้ง
ท่ามกลางกระแสการเปิดประเทศของพม่าผ่านสัญญาณของผู้นำอดีตทหารที่ผ่านการเลือกตั้งที่จะนำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่ทั่วโลกจับตามองเป็นอย่างมากว่าพม่าจะเปลี่ยนเป็นเช่นไรในอนาคตอันใกล้ ฉันเองก็มีสายตาอยากรู้อยากเห็นเช่นนั้นไม่ต่างกัน เมื่อกลางเดือนตุลาคมปี 2555 ในฐานะนักท่องเที่ยวถือหนังสือเดินทางสัญชาติไทยได้ไปเยือนประเทศพม่าชั้นในเป็นครั้งที่สอง ซึ่งห่างจากครั้งแรกกว่า 6 ปี ฉันลงเครื่องบินที่ย่างกุ้งและสัมผัสความเปลี่ยนแปลงอดีตเมืองหลวงอยู่ 4-5 วัน ก่อนมุ่งหน้าสู่ตองจี เมืองหลวงของรัฐฉานหรือ “เมิงไต” ของคนไตหรือ “ไทใหญ่” ตามที่คนไทยเรียกและรู้จัก
หลังจากเที่ยวชมเมืองตองจีอยู่ 2-3 วันแล้ว ฉันได้รับอนุญาตให้เดินทางไปที่เมืองนาย (เมืองนาย) หรือภาษาพม่าเรียกว่ามูเน่ เป็นการพิเศษจากสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ตองจี ซึ่งคนที่ทำเรื่องอนุญาตเป็นญาติของเพื่อนที่ฉันรู้จักที่แม่ฮ่องสอน[i] เนื่องจากเมืองนายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ห้ามไม่ให้คนต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวเข้า โดยนั่งรถตู้ที่วิ่งระหว่างเมืองตองจีและเมืองนายร่วม 6-7 ชั่วโมง ระยะทาง 168 กิโลเมตร เนื่องจากที่ต้องข้ามผ่านภูเขาหลายลูกบนที่ราบสูงฉาน (Shan Plateau) และมีความคดเคี้ยวคล้ายกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนของเมืองไทย แต่ให้จินตนาการว่าถนนแคบกว่าและยังไม่ได้ลาดยางคุณภาพดีเท่า คนที่จะเดินทางไปเมืองนายโดยรถสาธารณะมีทางเดียวคือนั่งรถตู้สภาพเก่าของญี่ปุ่น ซึ่งออกจากท่ารถที่ตองจี โดยวันหนึ่งๆอาจมีรถตู้ออกไปเมืองนายวัน 3-4 คัน ราคาค่ารถอยู่ที่ 9,000 จัต หรือประมาณ 260-270 บาทต่อคน
หลายคนอาจจะคุ้นหูกับชื่อเมืองนาย เนื่องจากเมืองนายปรากฏประวัติศาสตร์ไทยด้วยในฐานะที่เคยเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และยังเป็นเมืองที่เคลือบแคลงว่าอาจเป็นที่ที่พระนเรศวรสวรรคต ว่าอยู่ที่เมืองงายฝั่งไทยหรือเมืองนายฝั่งพม่ากันแน่ เนื่องจากเมืองนายเป็นจุดหมายปลายทางของเส้นทางเดินทัพและการค้าทางไกลสมัยโบราณระหว่างเชียงใหม่และพม่าในอดีต และเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดหากเดินทางจากเชียงใหม่ไปยังเมืองไทใหญ่ โดยเริ่มจากเมืองแหงซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของเชียงใหม่ในเขตไทย ข้ามน้ำสาละวินที่ท่าผาแดง เข้าสู่เมืองปั่น และถึงเมืองนาย[ii]
เมืองนายอยู่ที่ไหน
[caption id="attachment_5891" align="alignleft" width="442" caption="แผนที่รัฐฉานที่แบ่งการปกครองออกเป็น 3 ส่วน เมืองนาย (ในวงกลมสีดำ) อยู่ทางตอนใต้และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน"][/caption]
เมืองนายตั้งอยู่ทางรัฐฉานตอนใต้ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินหรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “น้ำคง” หากดูจากแผนที่ที่แบ่งเขตการปกครองของรัฐฉานออกเป็นสามส่วน คือรัฐฉานตอนเหนือที่มีเมืองสำคัญคือลาเชี่ยว รัฐฉานตะวันออกที่มีเมืองสำคัญคือเชียงตุง และรัฐฉานตะวันตกที่มีตองจีซึ่งเป็นเมืองสำคัญและเมืองหลวงด้วย เมืองนายตั้งอยู่ทางตอนใต้ลงมาและใกล้กับเขตประเทศไทยทางด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดังนั้นการเดินทางไปเมืองนายจากประเทศไทย นอกจากมาจากตองจีที่ฉันเดินทางมาด้วยเส้นทางนี้แล้ว ก็สามารถออกไปเมืองนายได้ที่ชายแดน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และอ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยนั่งรถจากท่าขี้เหล็กแล้วไปแยกเข้าเมืองสาด เมืองโต๋น เมืองปั่น ลางเคอ และเข้าเมืองนาย และเส้นทางที่ผ่านชายแดนจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งได้รับความนิยมมากจากคนไทใหญ่ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในเมืองไทย มีระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตรได้ คนเดินทางส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณสองวันให้ไปถึงเมืองนาย พักค้างแรมคืนหนึ่งที่หัวเมือง จังหวัดลางเคอ เนื่องจากเส้นทางเป็นถนนขรุขระในบางช่วง ข้ามแม่น้ำสาละวินและผ่านทางเขาที่ลาดชัน
ฉันก็นั่งรถตู้เป็นพาหนะเช่นกัน ช่วงที่เดินทางไปนั้นต้องมีคนที่จะรับรองเป็นคนดูแลระหว่างที่อยู่ที่เมืองนายด้วย ถึงจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรววคนเข้าเมืองให้เข้าไปได้ พร้อมกับถือหนังสือที่ได้รับอนุญาตเพื่อแสดงให้เจ้าหน้าที่ดูเมื่อผ่านด่านตามจังหวัดต่างๆ ฉันออกเดินทางประมาณ 8 โมงกว่า หลังจากที่รถตู้ต้องตระเวนไปรับคนตามที่ต่างๆในตองจี ซึ่งเป็นบริการอันหนึ่ง ก่อนที่จะกลับไปที่คิวรถและจ่ายเงินให้เรียบร้อยก่อนรถออก การเดินทางครั้งนี้ใช้เส้นทางหลักที่ผ่านเขตจังหวัดใหญ่ถึง 4 เขต คือตองจี หัวปง หลอยแหลม และเข้าสู่เมืองนายของจังหวัดลางเคอ เมื่อออกจากตองจี ถึงด่านแรกซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจของด่านตรวจหนังสือเดินทางของฉัน แต่ก็ผ่านไปด้วยดีเพราะมีหนังสืออนุญาตมาเรียบร้อยแล้ว
[caption id="attachment_5887" align="alignright" width="409" caption="รถตู้คันที่ฉันโดยสารมา"][/caption]
รถผ่านไปยังจังหวัดหัวปง ที่นี่รถสาธารณะส่วนใหญ่ที่เดินทางไปเมืองอื่นด้วย มักหยุดสักประมาณครึ่งชั่วโมงให้ผู้โดยสารได้เข้าไปสักการะและเยี่ยมชมวัดจ๊าง หรือหมายถึงว่าช้างในภาษาไทย ซึ่งเป็นวัดในถ้ำขนาดใหญ่ที่มีพระปะโอเป็นผู้ก่อสร้างและดูแล ภายในวัดมีการนำพระพุทธรูปมาประดับไว้มากมาย และในโถงตอนในของถ้ำ มีการจำลองเหตุการณ์การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งติดกับน้ำตกที่อยู่ด้านในสุดของถ้ำ ถือว่าเป็นวัดในถ้ำที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งในรัฐฉานที่คนมาสักการะ ที่นี่เป็นจุดสุดท้ายที่รัฐบาลพม่าอนุญาตให้นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติเดินทางมาถึงด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว
ระหว่างทางสิ่งที่เห็นคือยานพาหนะทุกคนต้องจ่ายค่าผ่านทางเมื่อผ่านหรือจะเข้าเมืองไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ที่ด่านที่ตั้งก่อนเข้าเมือง ซึ่งคนขับรถจ่ายอยู่ที่ระหว่าง 200-500 จัต อันนี้ให้เป็นค่าผ่านทางและนำไปใช้เพื่อบำรุงรักษาเส้นทาง คนขับอาจจะให้กับมือคนที่เฝ้าด่านโดยตรงหรือบางครั้งโยนลงกับพื้นเลยก็มีในกรณีที่พยายามหลีกเลี่ยงแล้วขับเลยไป แต่สุดท้ายถูกตะโกนทักท้วงจากคนที่อยู่ที่ด่าน การจ่ายค่าผ่านทางตรงนี้แตกต่างจากเมืองไทยตรงที่มีกรมทางหลวงเป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียวทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น คนขับรถที่เมืองไทยจึงไม่ต้องจ่ายเงินค่าผ่านทางเมื่อออกไปยังจังหวัดอื่นๆ แต่ที่พม่านั้นเมืองแต่ละเมืองดูแลและเก็บค่าผ่านทางกันเอง ดังนั้น ภาพที่เห็นตลอดทางคือมีกลุ่มคนออกมาซ่อมถนน ซึ่งเป็นแรงงานมือเกือบทั้งหมด ฉันเห็นผู้ชายมีค้อนขนาดใหญ่ทุบหินจากหน้าผามาทำเป็นพื้นบนถนน หลายช่วงผู้หญิงและเด็กเผายางมะตอยราดลงไปบนพื้นส่งกลิ่นเหม็นคุ้งไปตลอดเส้นทางเพราะมีการซ่อมทางกันเป็นช่วงๆ แต่โดยมากจะเห็นแรงงานผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมีเด็กมาทำงานใช้แรงงานมากกว่าที่ควรจะเป็นเสียด้วยซ้ำ
[caption id="attachment_5889" align="alignright" width="393" caption="เด็กและผู้หญิงคือแรงงานสำคัญในการรับจ้างซ่อมและสร้างถนนตลอดเส้นทาง"][/caption]
ออกจากเขตหัวปงก็เข้าสู่เมืองปอน ที่นี่รถตู้ต้องจอดแวะเพื่อพักรถและให้กินอาหารที่ร้านประจำของรถตู้ ร้านค้าแถวนี้มีคนพม่าทำงานอยู่เหมือนกัน เพราะฉันได้ยินคนโดยสารสั่งอาหารเป็นอาหารพม่ามากกว่าภาษาไทใหญ่ ในขณะที่ฉันเดินทางไปเมืองนายครั้งนั้น ต้องยอมรับว่าเข้าใจภาษาไทใหญ่ได้น้อยมาก แต่การเดินทางครั้งนี้ทำให้มีแรงบันดาลใจกลับมาเรียนรู้ภาษาไทใหญ่อย่างจริงจังจนสามารถสื่อสารและเข้าใจภาษานี้ได้เบื้องต้นแล้ว หลังจากกินข้าวกลางวัน รถแล่นผ่านดอยแหลม ซึ่งเป็นเขตจังหวัดหลักที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง จากตรงนี้เป็นทางแยกไปเมืองปางโหลง ซึ่งสามารถต่อไปยังเมืองลายค่า และเมืองกึ๋งได้ และยังเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังเมืองที่ต่อไปยังเชียงตุงและท่าขี้เหล็กที่เชื่อมต่อกับแม่สายที่จ.เชียงราย ที่ดอยแหลมแห่งนี้มีโรงพยาบาลขนาดที่ใหญ่ระดับจังหวัดตั้งอยู่ รถแวะรับคนไข้ที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลที่ต้องการจะกลับบ้านไปเมืองนาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่รถตู้จะรับคนเพิ่มระหว่างทาง แม้ว่าที่นั่งในรถจะเต็มแล้วก็ตาม
จากดอยแหลมเข้าสู่น้ำจ๋าง ที่นี่รถไม่ได้แวะพักใดๆ ยกเว้นกรณีที่มีคนต้องการโดยสาร ถือว่าเป็นเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่ง เพราะเส้นทางมีร้านค้ามากมายตั้งอยู่สองข้างถนน รถแวะไปจอดที่เมืองไฮพักที่ร้านค้าแห่งหนึ่งให้ผู้โดยสารเข้าห้องน้ำอีกรอบหนึ่ง คนในรถตู้หลายคนซื้อโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวที่ทำจากร้านนี้ ซึ่งเห็นคนขายแล้วก็ไม่แปลกใจว่าทำไมของถึงขายดี เพราะเป็นคนพม่าเชื้อสายอินเดีย ฉันได้ซื้อกินกับเขาด้วยถุงหนึ่ง คนที่นี่ทำโยเกิร์ตไม่ใส่น้ำตาลลงไปผสม แต่คนขายจะใส่น้ำตาลทรายเพิ่มให้ เป็นโอกาสดีที่ฉันได้ควบคุมปริมาณน้ำตาลตามที่ต้องการได้ พอได้ชิมคำแรกก็รู้รสเลยว่าเป็นโยเกิร์ตคุณภาพดีด้วยความข้นและความสดใหม่
[caption id="attachment_5893" align="aligncenter" width="596" caption="เสาหินซึ่งเป็นประตูเมืองเก่า ส่งสัญญาณว่าเราได้เข้าสู่ตัวเมืองนายแล้ว"][/caption]
ไม่นานรถออก คนนำทางบอกว่าอีกไม่นานก็จะถึงเมืองนายแล้ว รถยังคงวิ่งบนไหล่ภูเขาไปเรื่อยๆ ภูมิศาสตร์ของรัฐฉานตอนใต้คล้ายกับแม่ฮ่องสอนบ้านเราที่มีภูเขาจำนวนมาก เพียงแต่ว่ามีที่ราบมากกว่า ทำให้เห็นว่าพื้นที่ที่ราบสูงของรัฐฉานนั้นกว้างใหญ่ ตลอดเส้นทางฉันเห็นเสาไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ผลิตไฟฟ้าให้กับคนใช้ ได้ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการคือที่เมืองนายและใกล้เคียงเพิ่งมีไฟฟ้าพื้นฐานใช้เมื่อ 3 ปีที่แล้วนี่เองจากการลงทุนของเอกชน ไม่ใช่รัฐบาลจากส่วนกลาง ก่อนหน้านี้คนใช้มอเตอร์ปั่นไฟมาตลอด หลังจากมีไฟใช้ ทำให้เปิดไฟได้ตลอดคืน
ราวบ่ายสามโมงของวันนั้น รถตู้วิ่งผ่านเสาหินสองต้นสองข้างทาง ป้าที่นั่งมาด้วยกับฉันก็เอ่ยขึ้นมาว่า “เรามาถึงเมืองนายแล้ว” และเสาที่ว่าก็คือประตูเมืองที่เป็นหลักประวัติศาสตร์บ่งบ่อกอาณาเขตของเมืองนายในอดีต
รถวิ่งผ่านเข้าสู่พื้นที่รอบนอกของเมืองที่เป็นเขตหมู่บ้านที่ยังไม่หนาแน่น ไม่นานก็ถึงตัวเมืองนาย ที่มีบ้านตั้งอยู่สองข้างทางหนาแน่นกว่าจุดนอกเมือง รถจอดส่งคนเป็นระยะที่หน้าบ้านหรือทางเข้าบ้านของผู้โดยสาร เมืองนายอาจเทียบเท่าได้กับอำเภอของบ้านเรา ขึ้นอยู่กับจังหวัดลางเคอ จากการให้ข้อมูลของปู่ก้างหรือผู้ใหญ่บ้านของหย่อมบ้านในเขตตัวเมืองที่เล่าว่า ในเขตเมืองของเมืองนายแบ่งออกเป็น 5 หย่อมบ้าน คือ 1.หย่อมนาห่อง มี 182 ครัวเรือน ประชากร 967 คน 2.หย่อมอู่เย็น มี 400 ครัวเรือน 3.หย่อมปอเมือง 600 ครัวเรือน 4.หย่อมหนองแจง 182 ครัวเรือน และ 5.หย่อมหลอยเบ 800 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีตำบลรอบนอกอีก 11 ตำบลซึ่งไม่ถือว่าเป็นเขตเมือง รวมถึงประชากรบนดอยทั้งไตดอย (ไทใหญ่บนพื้นที่สูง) ลีซู กระเหรี่ยง และอื่นๆ
เมื่อถึงเมืองนาย ฉันได้เข้าพักที่โรงแรมในตัวเมือง ซึ่งห่างจากบ้านเพื่อนไปราว 2 กิโลเมตร และอยู่คนละหย่อมบ้าน ที่นี่ฉันยังต้องปฏิบัติตามกฎของพม่าที่ห้ามนักท่องเที่ยวหรือคนต่างชาติเข้าพักในบ้านชาวบ้าน ขณะเดียวกันคนพม่าในเมืองนายหากมีบ้านอยู่ที่นี่ก็ไม่สามารถพักโรงแรมได้เช่นกัน โรงแรมมีไว้สำหรับคนเดินทางที่มาจากเมืองอื่นแล้วไม่มีญาติหรือคนรู้จักในเมืองนั้น ซึ่งก็ดูเป็นกฎที่แปลกประหลาดเอามากๆ แต่คนก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โรงแรมที่นี่ก็เหมือนกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยส่วนใหญ่ที่คิดราคาระหว่างคนพม่าและชาวต่างชาติแตกต่างกัน แน่นอนว่าฉันก็ต้องเสียมากกว่าคนพม่าอยู่แล้ว และจ่ายเงินมากกว่าที่ควรจะจ่ายกับสภาพกับโรงแรมที่เป็นอยู่
[caption id="attachment_5896" align="aligncenter" width="561" caption="เมืองนายได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพุกามแห่งที่สองของพม่า"][/caption]
สิ่งแรกที่สัมผัสได้ด้วยตาก็คือ เมืองนายเป็นเมืองที่วัดและเจดีย์จำนวนมาก แค่ในตัวเมืองที่ฉันเห็นเท่านั้นเห็นเจดีย์รายรอบทั่วไปกว่า 4-5 ที่ ชาวบ้านคนหนึ่งให้ข้อมูลว่าเมืองนายในเขตเมืองน่าจะมีวัดวาอารามถึง 15 แห่งได้ แต่ก็ไม่มีใครทำบันทึกไว้อย่างแน่นอน ตรงนี้ทำให้เมืองนายมีชื่อเล่นๆอย่างไม่เป็นทางการว่า “พุกามแห่งที่สองของพม่า”
[i] ในการเขียนเรื่องราวครั้งนี้ ฉันในฐานะของผู้เขียนขอสงวนนามของเพื่อนและผู้คนต่างๆที่ใกล้ชิดหรือมีส่วนช่วยเหลือในการเข้าไปที่นี่ เพื่อความปลอดภัยและเคารพในความเป็นส่วนตัวของคนทั้งหมด โดยอาจชื่อเอาไว้ เพราะยังไม่แน่ใจสถานการณ์ในยามที่ประเทศพม่าระหว่างเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่มีอะไรแน่นอน
[ii] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ชัยยง ไชยศรี.2550. การศึกษาเส้นทางเดินทัพและการค้าสมัยโบราณ: เชียงใหม่ เมืองกื้ด เมืองคอง เมืองแหง เมืองนาย (พม่า).รายงานการวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติประจำปี 2549.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น