วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ร้านน้ำ : ทานแห่งไมตรี ต้อนรับผู้มาเยือน

หากใครที่มีโอกาสได้เดินทางไปเที่ยวประเทศพม่าแล้วมีโอกาสแวะเวียนไปเยือนบ้านชาวพม่าแท้ (Burman) จะพบว่าชาวพม่าแท้มีวัฒนธรรมการต้อนรับผู้คนมาเยือนทั้งคนรู้จักและไม่รู้จักอย่างเอื้ออารีสะท้อนให้เห็นถึงไมตรีจิตของเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี

 

วัฒนธรรมการต้อนรับอันดับแรกเริ่มต้นที่หน้าเรือนชาน โดยบริเวณหน้าบ้านของชาวพม่าจะมีหม้อน้ำดินเผาวางอยู่บนชั้นไม้ หรือที่เรียกว่า “ร้านน้ำ” สำหรับให้ผู้เดินทางผ่านมาได้แวะพักเหนื่อยและดื่มน้ำคลายร้อนคล้ายกับวัฒนธรรมไทยในอดีต ร้านน้ำมีคำเรียกในภาษาพม่าว่า เหย่ชานสี่น หรือ เหย่โอสี่น

 

ร้านน้ำของชาวพม่ามักจะสร้างไว้หน้าบ้านบริเวณทางเข้าบ้านหรือใต้ร่มไม้ริมรั้วบ้าน การสร้างร้านน้ำแบบง่าย ๆ จะใช้ไม้ไผ่ทำเป็นพื้นสำหรับวางหม้อน้ำ และจะทำหลังคาคลุมไว้อย่างมิดชิด ความสูงของร้านน้ำจะอยู่ในระดับที่สามารถตักดื่มได้อย่างสะดวก บนร้านน้ำจะมีหม้อดินเผาสำหรับใส่น้ำ 2 ใบ หม้อดินเผาของชาวพม่าจะทำจากดินปนทรายเนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยเก็บรักษาความเย็นเอาไว้ได้นาน

 

หลังจากเจ้าของบ้านเสร็จภารกิจประจำวันในช่วงเช้าก็จะนำน้ำมาเติมที่หม้อดินไว้จนเต็มเพื่อรอรับผู้เดินทางผ่านมาให้ได้ตักกินคลายร้อนระหว่างการเดินทาง โดยก่อนเติมน้ำลงไปในหม้อดินจะต้องนำทรายสะอาดใส่ไว้ที่ก้นหม้อก่อน หม้อดินเหล่านี้จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากเจ้าของบ้าน และมีฝาปิดมิดชิดอย่างดีเพื่อป้องกันเศษฝุ่นผงหรือใบไม้ร่วงหล่นลงไปข้างใน บนฝาปิดมีกระบวยตักน้ำดื่มทำจากกะลามะพร้าวอย่างประณีตสวยงาม

 

นอกจากนี้ บริเวณรอบ ๆ ร้านน้ำยังมีสิ่งพิเศษอีกอย่างหนึ่งที่ชาวพม่านิยมนำมาประดับร้านน้ำให้ดูสวยงามแบบธรรมชาติคือต้นข้าว ซึ่งเจ้าของบ้านนิยมหว่านเมล็ดข้าวไว้บนพื้นดินใกล้ ๆ ร้านน้ำเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศให้สดชื่นรื่นรมย์มองแล้วสบายตาสบายใจหายเหนื่อยเร็วขึ้น สิ่งนี้ถือเป็นภูมิปัญญาของชาวพม่าเรื่องการผ่อนคลายความร้อนหลังจากเดินทางมาท่ามกลางแสงแดดที่สืบทอดกันมายาวนานและปัจจุบันยังคงพบเห็นได้ตามบ้านเรือน ในเขตรอบนอกตัวเมืองและชนบทในแถบที่มีชาวพม่าแท้อาศัยอยู่ อาทิ ชานเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ เป็นต้น

 

ตามธรรมเนียมของชาวพม่าแล้ว หากผู้มาเยือนดื่มน้ำไม่หมดจะไม่เทน้ำที่เหลือทิ้งลงดิน แต่จะนำไปใส่ไว้ในหม้อน้ำอีกใบที่วางอยู่ข้าง ๆ หลังดื่มน้ำจนเย็นชื่นใจแล้ว ผู้มาเยือนจะต้องกล่าวคำอนุโมทาสาธุให้เจ้าของบ้าน และอวยพรให้กับเจ้าของบ้านอยู่เย็นเป็นสุขประดุจน้ำที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกายและยังอวยพรให้ครอบครัวเจ้าของบ้านประสบแต่ความผาสุกสวัสดีอีกด้วย

 

นอกจากไมตรีจิตต้อนรับคนผ่านทางแล้ว ชาวพม่าแท้โดยเฉพาะเขตเมืองย่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่า ยังมีวัฒนธรรมต้อนรับญาติมิตรที่ขึ้นมาเยือนถึงบนเรือนชานด้วยน้ำชา 2 แบบ คือ ชาร้อนแบบธรรมดา ในภาษาพม่าเรียกว่า ละแพะเหย่จาน   หรือ เหย่นเวจาน  อีกแบบหนึ่งคือชาร้อนใส่นมและน้ำตาล ภาษาพม่าเรียกว่า ละแพะเหย่โฉ่  นอกจากน้ำชาที่นำมารับรองแขกแล้ว ยังมีเครื่องรับรองแขกจำพวก บุหรี่มวน สำรับเมี่ยง หมากที่เจ้าบ้านมักจะยกมาเลี้ยงต้อนรับควบคู่กันด้วย และหากใครมีโอกาสเข้าไปเยือนถึงเรือนชานของชาวพม่าแถบชนบทของเมืองมัณฑะเลย์ เมืองหลวงอันดับสองของพม่าก็อาจจะได้สัมผัสกับความฉ่ำเย็นของน้ำที่เจ้าบ้านตักมาจากแม่น้ำเอยาวดีหรืออิระวดีมาพักเก็บไว้ในโอ่งสำหรับต้อนรับผู้มาเยือนอีกด้วย

 

วัฒนธรรมการต้อนรับผู้มาเยือนดังกล่าวเป็นผลมาจากความศรัทธาทางพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดของชาวพม่าซึ่งเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นบุญกุศลต่อไปถึงชีวิตภายภาคหน้า รวมทั้งสร้างความสุขสงบทางใจ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้สัมผัสกลิ่นหอมของดอกไม้และเห็นควันธูปลอยคละคลุ้งไปทั่วบริเวณศาสนสถาน โบสถ์ วิหาร สถูป เจดีย์ ต่าง ๆ รวมทั้งการทำบุญกุศลในวิถีชีวิตประจำวันของชาวพม่า ดังเช่นการตั้งร้านน้ำเพื่อต้อนรับผู้ที่เดินทางผ่านมา ซึ่งชาวพม่าเชื่อว่าร้านน้ำเป็นเสมือนศาลาพักร้อน แสดงถึงความห่วงใยเพื่อนมนุษย์ เป็นบุญกุศลที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติ โดยการทำทานด้วยน้ำนั้น ชาวพม่าเชื่อว่าจะได้รับผลบุญ 10 ประการ คือ 1. มีอำนาจวาสนา 2. มั่งมีศรีสุข 3. แวดล้อมด้วยบริวาร 4. ผิวกายนุ่มนวล 5. คลาดแคล้วภยันตราย 6. มีเกียรติระบือไกล 7. ไร้รอยมลทิน 8. มีรูปงาม 9. ค้าขายราบรื่น 10. มีความสุขสงบทางกายและทางใจ

 

นอกจากร้านน้ำจะสะท้อนให้เห็นความเชื่อเรื่องบุญกุศลของคนพม่าแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการปรับตัวของชาวพม่าต่อสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว เนื่องจากบริเวณประเทศพม่าตอนกลาง (อะหย่าเดตะ - tnma'o) ซึ่งมีประชาชนชาวพม่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่มีสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ในอดีต ประชาชนสัญจรไปมาโดยใช้เกวียน ต้องหยุดพักเป็นระยะ ร้านน้ำเหล่านี้จึงเป็นสิ่งมีค่าสำหรับผู้เดินทางไกลที่ไม่มีเสบียงน้ำสำรองไว้หรือดื่มหมดแล้วระหว่างทาง นอกจากผู้เดินทางจะตักดื่มกินจนหายเหนื่อยที่ร้านน้ำแล้วยังสามารถเติมน้ำใส่ในภาชนะที่มีอยู่เพื่อเก็บสำรองไว้ดื่มกินระหว่างการเดินทางต่อไปเช่นกัน

 

ปัจจุบัน แม้ว่าสภาพการเดินทางในพม่าจะเปลี่ยนไปโดยเฉพาะในเขตเมือง แต่ในชนบทยังคงใช้เกวียนเป็นพาหนะหลัก ร้านน้ำจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นบุญกุศลที่ชาวพม่าแท้ในเขตชนบทยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน และอาจค่อย ๆ ลดลงไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับร้านน้ำในสังคมไทยที่ปัจจุบันมีให้เห็นน้อยลงทุกที

 

โดย จายจ๋อมเมิง


คอลัมน์วัฒนธรรม
สาละวินโพสต์ ฉบับที่ 26
1 ตค - 15 พย 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น