ข้อมูลจากรายงานฉบับล่าสุด โดย องค์กรสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง หรือ KHRG (Karen Human Rights Group)ระบุว่า การลงนามในสัญญาหยุดยิงเบื้องต้นระหว่างรัฐบาลพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู เมื่อเดือนมกราคม 2012 ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิด "การละเมิดในรูปแบบใหม่" โดยชาวบ้านในพื้นที่เป็นกังวลเรื่องความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม
รายงานฉบับดังกล่าวมีการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 13 พค. ที่ผ่านมา โดยได้รวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทางภาพตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยระบุว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนบางอย่าง เช่น การบังคับใช้แรงงาน ได้ลดลงไปอย่างมาก และเดินทางไปมาสามารถทำได้สะดวกขึ้น
"นักวิจัยของ KHRG และชาวบ้านทั้ง 7 ตำบลในรัฐกะเหรี่ยง ที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ระบุว่า พวกเขาสามารถเดินทางและทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีข้อเดียวจากการลงนามหยุดยิง" รายงานยังระบุว่า "ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเพราะการสู้รบที่ยุติลง บวกกับการจำกัดเรื่องการเดินทางที่น้อยลง รงมถึงการข่มขู่คุกคามจากกองทัพพม่าที่ลดลงด้วย"
ทว่า ในบางพื้นที่ แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยังมีการใช้กับระเบิด มีการประกาศเคอร์ฟิว การเรียกเก็บภาษีตามอำเภอใจ โดยกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อยู่
ซอว์ อัลเบิร์ต มู ผู้อำนวยการภาคสนามของ KHRG เปิดเผยว่า แม้การสู้รบจะหยุดชะงักลง แต่ชีวิตของชาวบ้านหลายคนยังไม่ดีขึ้นมากนัก " ชีวิตของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบก็ยังเหมือนเดิม ตัวเลือกในชีวิต สภาพชีวิต การจัดกำลังทหารที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านบางส่วนที่พลัดถิ่นไปเป็นเวลานานยังไม่สามารถกลับไปยังหมู่บ้านได้" เขากล่าว
การค้ายาเสพติดพุ่ง
รายงานของ KHRG ระบุว่า การลงนามหยุดยิง ได้เอื้อประโยชน์ให้กับการค้ายาบ้า ซึ่งรวมถึงกองทัพพม่า และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) นำไปสู่การละเมิดทางเพศและการฆาตกรรมที่มีสาเหตุมาจากยาเสพติด
"ชาวบ้านได้รายงานว่ามีการผลิตและการค้ายาบ้าเพิ่มมากขึ้นโดยทหาร BGF ในตำบลพะปุนและตำบลพะอัน และได้มีการร้องเรียนเรื่องผลเสียจากการผลิตยาบ้า การจำหน่าย และการเสพมามากขึ้น รวมไปถึงการฆาตกรรมและการละเมิดทางเพศด้วย นอกจากนี้ยังมีผลกระทบไปถึงเยาวชนและความสัมพันธ์ของคนในสังคมด้วย" รายงานดังกล่าวระบุ ทั้งนี้ การเดินทางที่สะดวกขึ้นหลังการลงนามหยุดยังยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การค้ายาบ้าระบาดเพิ่มมากขึ้นด้วย
ฐานทัพพม่าผุด
รายงานฉบับดังกล่าวของ KHRG ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการก่อสร้างค่ายทหารแห่งใหม่ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย อีกทั้งยังมีการปรับปรุงและเสริมกำลังค่ายทหารเก่าด้วย
"มีการสร้างฐานทัพของกองทัพพม่าหลายแห่ง ส่วนฐานทัพเก่ามีการปรับปรุงและเสริมให้แข็งแรง ในช่วงปี 2012 - 2013 การเสริมสร้างกำลังทหารที่ยังคงมีการดำเนินการอยู่เช่นนี้ ทำให้ผู้พลัดถิ่นภายในยังคงต้องอาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว และไม่ต้องการที่จะกลับไปที่หมู่บ้านจนกว่ากองทัพพม่าจะปิดตัวลง"
นายพลเนอดาเมียะ ผู้นำจากองค์กรพิทักษ์กะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNDO) ได้เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนมกราคมว่า ในพื้นที่เขตปกครองของกะเหรี่ยง ที่มีฐานทัพพม่าราว 300 แห่ง
หนึ่งในนักวิจัยภาคสนามของ KHRG กล่าวว่า ชาวบ้านบางส่วนมีความรู้สึกว่า การลงนามในสัญญาหยุดยิงนั้นเป็นแค่ข้ออ้างของรัฐบาลพม่าในการเสริมกำลังพลในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย
"ชาวบ้านเชื่อว่า สัญญาหยุดยิงที่เกิดขึ้นไม่ใช่กระบวนการที่ทำขึ้นเพื่อพวกเขา เพราะกองทัพพม่ายังสร้างค่ายทหารและมีการเพิ่มกำลังทหารมากขึ้นในระหว่างที่หยุดยิงแล้ว" เขากล่าว "พวกเขา (ชาวบ้าน) ต้องกังวลอยู่ตลอดเวลาและต้องถูกยึดที่ดินและการขู่เข็ญจากทหารพม่าหลังจากที่มีการหยุดยิง แทนที่จะถอนค่ายทหารออกไป กองทัพกลับเข้ามาสร้างเพิ่มอีกในบริเวณพื้นที่ที่เป็นภูเขา ใกล้กับพื้นที่ที่ชาวบ้านทำงาน ซึ่งชาวบ้านไม่ต้องการให้ทหารมาเจอพวกเขา"
การยึดที่ดินทำวิถีชีวิตชาวบ้านล่มสลาย
ชาวบ้านยังคงรายงานว่ามีการยึดที่ดินเพื่อก่อสร้างก่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่และสร้างค่ายทหารอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รายงานของ KHRG ระบุว่า ที่ดินของชาวบ้านที่ถูกกองทัพพม่ายึดไปยังไม่ได้มีการส่งคืนให้กับชาวบ้าน ในขณะที่รัฐบาลพม่าได้ใช้กฎหมายระบุให้ที่ดินของชาวบ้านเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการเพาะปลูก หรือไม่มีเจ้าของ โดยที่ไม่มีการปรึกษาหารือกับชาวบ้านก่อน ถือเป็นการถอนรากถอนโคนไม่ให้ชาวบ้านกลับมาได้
"นับตั้งแต่มีการหยุดยิง ชาวบ้านก็เริ่มมีการรายงานถึงการยึดที่ดินที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อการก่อสร้างเหมืองแร่ การทำไม้ การสร้างเขื่อน และการพัฒนาด้านสารณูปโภค และการปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่ดินถูกยึดไปโดยกองทัพพม่าและบริษัทหุ้นส่วนของโครงการต่างๆ"
รายงานฉบับนี้ได้ยกตัวอย่างกรณีของเขื่อนฮัตจี หนึ่งในโครงการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง "มีการสู้รบกันระหว่าง BGF กับทหารกะเหรี่ยง DKBA เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนฮัตจีเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา เป็นสาเหตุใหัชาวบ้านจำนวนมากต้องหนีสงครามและพลัดถิ่นที่อยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง" KHRG ระบุว่า "การยึดที่ดินทำให้ชาวบ้านนับหมื่นต้องพลัดถิ่นที่อยู่ (ซึ่งรวมไปถึงชาวบ้านในพื้นที่สร้างเขื่อน โตบอง ในตำบลตองอู ด้วย) ชุมชนต้องเผขิญกับปัญหาน้ำที่มีการปนเปื้อน และขยะ จากโครงการพัฒนาต่างๆ"
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรได้รายงานว่า การยึดที่ทำกินแบบเดียวกันนี้ยังปรากฎในพื้นที่อื่นของประเทศด้วย ซึ่งได้แก่ รัฐฉาน ที่มีบริษัท Asia World ที่รัฐบาลหนุนหลัง และเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดจนเป็นต้นเหตุของการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2008 มาแล้ว กำลังก่อสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเขื่อนดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้กับเมืองคุนลง และเป็นเหตุให้ชาวบ้านมากกว่า 2 หมื่นคนจาก 60 หมู่บ้าน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น
โครงการดังกล่าวไร้ความโปร่งใส ละเมิดสิทธิของชาวบ้านในพื้นที่ และอยู่ในพื้นที่ที่ยังมีความขัดแย้งอยู่ การดำเนินโครงการขนาดยักษ์ก่อนที่จะมีการตกลงกับชนกลุ่มน้อยเรื่องการควบคุมทรัพยากรนั้น อาจส่งผลให้กระบวนการเพื่อสันติภาพของรัฐบาลพม่าหยุดชะงักได้
แปลจาก Groups Report That ‘Peace’ in South-East Burma Brings Its Own Dilemmas
Karen News 14 พค 57
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น