ตัวแทนขององค์กรอิสระคะฉิ่นThe Kachin Independence Organisation (KIO) องค์กรการเมืองของกองทัพคะฉิ่นได้พบหารือกับคณะทีมเจรจาสันติภาพพม่า นำโดยนายอองมิน ในวันนี้ (13 พฤษภาคม ) ที่เมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น เพื่อหาทางยุติสงครามที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในรัฐคะฉิ่น และทางภาคเหนือของรัฐฉาน
มีรายงานว่า ทาง KIO ได้ส่งตัวแทนจำนวน 10 คนเข้าร่วมประชุมกับตัวแทนฝ่ายพม่า 9 คน ซึ่งนำโดยอูอองมิน นอกจากนี้ มีประชาชนเข้าร่วมประชุมด้วย 200 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากยูเอ็น รัฐบาลจีน และตัวแทนจากชนกลุ่มน้อยต่างๆ มีรายงานว่า ทางตัวแทนจากกองทัพคะฉิ่นนั้นได้รับการต้อนรับอย่างดีจากประชาชนในพื้นที่
การหารือในครั้งนี้ นับเป็นการหารือกันรอบใหม่ นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ถึงแม้จะยังไม่มีการลงนามใดๆจากทั้งสองฝ่าย แต่ทั้งพม่าและคะฉิ่นเห็นด้วยที่จะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ การเคลื่อนไหวทางทหารของทั้งสองฝ่าย แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการออกมาเสนอว่าฝ่ายไหนจะจัดตั้งกลุ่มเผ้าสังเกตการณ์ ทางด้าน หน่วยโองมิ้น ผู้ไกล่เกลี่ยที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้เปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายยังคงมีท่าทีตอบสนองช้าและไม่แน่นอนในการหารือเจรจาครั้งนี้
ซัมลัท กัม ผู้นำคณะของฝ่าย KIO กล่าวว่า การสู้รบยังคงเกิดขึ้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีจุดอ่อนที่จะยึดถือและรับผิดชอบข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันก่อนหน้านี้ อีกทั้งต่างฝ่ายไม่มีความเข้าใจ เคารพและเชื่อใจกัน โดยซัมลัท กัม ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้นำ KIO เรียกร้องให้มีการหารือกับฝ่ายพม่าในอาทิตย์นี้เนื่องจากเห็นว่า การเจรจาจะสามารถแก้ปัญหาสงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ เขากล่าว
ขณะที่ทางนายอองมินก็มีความเห็นสอดคล้องกัน และระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะสร้างสันติภาพหากทั้งสองฝ่ายไม่มีความเชื่อใจต่อกัน นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เป็นเรื่องยากอีกเช่นเดียวกันที่จะสร้างความเชื่อใจหากไม่มีข้อตกลงที่จะยุติการสู้รบ ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุปะทะกันอย่างหนักระหว่างกองทัพพม่าและทหารคะฉิ่น ทางภาคเหนือของรัฐฉาน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เป็นจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนและต้องอพยพหนีสงคราม ทางด้านสำนักข่าว Kachinland News รายงานว่า เมื่อไม่กี่วันนี้ ก็ได้เกิดเหตุปะทะกันอีกครั้งในเมืองโก้ดข่าย ทางเหนือของรัฐฉาน ซึ่งมีชาวคะฉิ่นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และในเมืองลาวา ยาง ทางตอนใต้ของรัฐคะฉิ่น
ทั้งนี้ รัฐคะฉิ่นเป็นรัฐที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น หยกและป่าไม้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีประชาชนบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า การแตกหักระหว่างทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นในปี 2554 หลังรัฐบาลพม่าพยายามที่จะเข้าไปควบคุมในพื้นที่ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าตำรวจรายหนึ่งที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวได้ออกมาระบุว่า สงครามที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่นมาจากเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ
แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy /DVB
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น