วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เกษตรอินทรีย์ในค่ายผู้พลัดถิ่น

[caption id="attachment_7457" align="aligncenter" width="500"]organic farm IDP kachin PHOTO: Seamus Martov[/caption]

นะคอว์ง พา, รัฐคะฉิ่น - เกือบ 3 ปีแล้วที่การสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับองค์กรเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Organisation หรือ KIO) ได้ผลักดันให้ ละซิง ลู ต้องหนีออกจากหมู่บ้านมาทังที่อยู่ในรัฐคะฉิ่น ชีวิตของผู้หนีภัยนั้นไม่ง่ายเลย สำหรับหญิงม่ายวัย 58 ปีอย่างเธอกับแม่วัย 90 ปี ทั้งสองอาศัยอยู่ที่ค่ายพักพิงผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) นะคอว์ง พา หนึ่งในค่ายพักพิงกว่าสิบแห่งที่ตั้งอยู่ในเขตควบคุมของ KIO ตามแนวชายแดนพม่า-จีน

สำหรับ ละซิง ลู ที่เป็นชาวนามาตั้งแต่เด็ก การสูญเสียที่ทำกินถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ แม้ว่าก่อนที่สงครามจะเกิดขึ้น เธอเองไม่ได้มีเงินมากนัก แต่ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองยากจนแม้แต่น้อย "เรามีที่นา เราสามารถเลี้ยงตัวเองได้" เธอบอก ทุกวันนี้ เธอต้องพึ่งพาข้าว น้ำมันปรุงอาหาร และถั่วที่กองค์กรให้ความช่วยเหลือได้จัดหาให้เป็นรายเดือน ขณะที่องค์กรเอ็นจีโอในพื้นที่อย่าง BRIDGE (Bridging Rural Integrated Development and Grassroots Efforts) ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านการเกษตรอินทรีย์ ทำให้ ละซิง ลู ยังสามารถปลูกผักกินเองได้ที่นี่

ละซิง ลู และเพื่อนบ้านได้เข้ามาเป็นอาสามัครของโครงการ โดยจะทำงานเดือนละสองสามครั้งที่ฟาร์มซึ่งตั้งอยู่ติดกับค่ายพักพิง ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต พวกเขาจะได้ผักสด ที่สามารถนำไปแจกจ่ายคนทั้งค่าย ซึ่งมีประมาณ 1,600 คน เพื่อนำไปเสริมกับอาหารส่วนที่ได้รับแจก

"สวนผักทำให้เรามีผักกินโดยที่ไม่ต้องไปซื้อมาจากตลาด" ละซิง ลู บอก

แม้ว่าผู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการจะมีประสบการณ์ในการทำการเกษตรอยู่แล้ว แต่ก็พบว่า หลายคนเพิ่งเคยใช้วิธีปลูกพืชแบบอินทรีย์เป็นครั้งแรก ถ้าย้อนไปในอดีตไม่นานนัก ชาวคะฉิ่นก็เคยทำการเกษตรโดยที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง หรือ ปุ๋ย ทว่า กระแสความเจริญที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในจีน ประเทศเพื่อนบ้านมากว่า 30 ปี ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีเกษตรของพม่าไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตควบคุมของ KIO ซึ่งเป็นพื้นที่มีลักษณะยาวแต่แคบ ตามแนวชายแดนพม่า-จีน

ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยที่มีราคาแพงไมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต คอ ลวี ผู้ประสานงาน BRIDGE และนักสิ่งแวดล้อมที่ทำงานในรัฐคะฉิ่นมาเป็นเวลานาน กล่าว แต่ก็มีการใช้กันอย่างแพร่หลายแม้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะอ่านวิธีใช้ที่เป็นภาษาจีนบนฉลากไม่ออกก็ตาม การใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีเกินขนาดเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่เฉพาะผู้ที่ฉีดพ่นสารเหล่านี้โดยตรงเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ใกล้กับฟาร์มด้วย

นอกจากข้าวที่เป็นอาหารหลักแล้ว ยังมีการใช้สารเคมีอย่างหนักหน่วงในพืชไร่อย่างข้าวโพดและอ้อยทั่วรัฐคะฉิ่น แม้พืชทั้งสองชนิดนี้จะให้ราคาดี แต่ก็ไม่ได้มีคุณค่าทางสารอาหารมากนัก โครงการเกษตรอินทรีย์ของ BRIDGE ได้มุ่งเน้นการปลูกพืชที่จะช่วยเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ที่ค่ายนะคอว์ง พา และค่ายพักพิง IDP อีกแห่งหนึ่งที่อตั้งอยู่ใกล้กับลอย เจ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของรัฐบาลพม่า สมาชิกโครงการได้ปลูกพืชสิลกว่าชนิด เช่น หัวผักกาด กระหล่ำปลี แตงกวา หองหัวใหญ่ ขิง และถั่วต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ BRIDGE ยังได้จัดทำธนาคารเมล็ดพันธุ์สำหรับอนาคตข้างหน้า ในวันที่การสู้รบได้จบลงแล้ว โดยมีการวางแผนที่จะมอบเมล็ดพันธุ์ให้แก่ผู้ลี้ภัยนำไปเพาะปลูกหากได้กลับบ้านหรือเมื่อในช่วงเวลาที่เห็นว่าเหมาะสม

เมื่อปีที่แล้ว โครงการนี้ได้ผลิตอาหารได้ถึง 34,000 กิโลกรัมจากที่ทำการเกษตรกว่า 4 เอเคอร์ที่ค่าย นะคอว์ง พา "เราสามารถปลูกเพิ่มได้อีก" หนึ่งในสมาชิกโครงการ กล่าว เธอเป็นแม่วัย 35 ปีจากหมู่บ้านพราง คุ ดุง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสู้รบเช่นกัน เธออยากให้โครงการมีที่ปลูกพืชเพิ่ม เพื่อที่เธอและเพื่อนๆ จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพิ่ม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า BRIDGE จะสามารถหาเงินทุนมาสนับสนุนโครงการได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ที่ต้องการก็คือเงินจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากมายนัก เพื่อนำไปเช่าที่ดินเพิ่ม แต่การจะได้รับทุนเพิ่มนั้นพบว่ายากอยู่

มากกว่าสองปีที่ผ่านมา เงินสนับสนุนจากนานาชาติเพื่อโครงการพัฒนาและฟื้นฟูในพม่าเริ่มขาดแคลน เนื่องจากผู้บริจาคจะเน้นให้เงินสนับสนุนจำนวนมากแก่องค์กรที่มีขนาดใหญ่ "ผู้บริจากส่วนใหญ่แทบไม่อยากจะมองโครงการเล็กๆ" อดีตผู้ที่ทำงานในองค์กรเอ็นจีโอขนาดเล็กในย่างกุ้งกล่าว น่าเสียดายที่ความจริงที่เกิดขึ้นทำให้การขยายงายขององค์กรเล็กๆ อย่าง BRIDGE ทำได้ยากขึ้น แม้ว่าจะพิสูจน์ให้ว่าประสบความสำเร็จมากก็ตาม

โครงการฟาร์มเกษตรอินทรีย์เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการก่อนหน้านี้โครงการหนึ่งของ BRIDGE ที่ดำเนินการในเขตควบคุมของ KIO ก่อนที่การสู้รบจะปะทุขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2011 หลังจากสัญญาหยุดยิงระหว่างกองทัพพม่ากับ KIO ที่มีมายาวนานกว่า 17 ปี ต้องสิ้นสุดลง ชาวบ้านกว่า 3 ใน 4 จากหมู่บ้านทั้งหมด 36 หมู่บ้านที่ BRIDGE ได้ทำโครงการเกษตรยั่งยืนและการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม ต้องหนีออกจากพื้นที่ หมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างถูกกองทัพพม่าเข้ามาจับจองอย่างรวดเร็ว ซึ่งยังคงควบคุมพื้นที่ดังกล่าวอยู่
"ตอนที่การสู้รบเริ่มขึ้น ชาวบ้านโทรศัพท์มาที่ออฟฟิศ BRIDGE เพื่อถามว่า 'เราจะทำอะไรได้บ้าง จะหนีไปไหนได้บ้าง?' " คอ ลวี ย้อนถึงเหตุการณ์ในวันดังกล่าว ในปี 2011 เขามีบทบาทเป็นผู้นำในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้พลัดถิ่นภายใน ซึ่งในขณะนั้น เอ็นจีโอนานาชาติและองค์กรจากยูเอ็นถูกกีดกันไม่ให้เข้ามาช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นที่หลบภัยอยู่ในเขตควบคุมของ KIO

เกือบ 3 ปีแล้วที่การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลพม่าและ KIO ต้องสะดุดลง ทำให้มียอดผู้พลัดถิ่นภายในมากกว่า 10,000 คน (ล่าสุดหลังจากบทความเผยแพร่ ตัวแทนของอ KIO ได้หารือกับคณะเจรจาสันติภาพพม่า เมื่อ 13 พฤษภาคม อ่านข่าวเพิ่มเติม )

อนาคตของ ละซิง ลู กับอีกหลายชีวิตในค่ายพักพิงยังต้องพบกับความไม่แน่นอน แม้ว่า KIO กับรัฐบาลพม่าจะมีการลงนามในสัญญาหยุดยังในวันรุ่งขึ้น พวกเขาก็ยังต้องมีงานหนักสำหรับต่อสู้อีกมากเพื่อให้ได้ที่ดินกลับคืนมา ซึ่งในขณะนี้ได้ถูกกองทัพพม่าจับจองไว้หมดแล้ว อีกทั้งยังเต็มไปด้วยกับระเบิดจำนวนมาก

แม่ของละซิง ลู มาจากยุคปี 1940 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นทำสงครามกับพันธมิตรและได้สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนในแถบนี้ ที่เป็นรัฐคะฉิ่นในปัจจุบัน สำหรับหญิงชราผู้นี้ สงครามไม่ได้มีอะไรใหม่ นอกจากจะมีชีวิตรอดมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ว่าแล้ว เธอยังผ่านช่วงที่ KIO เริ่มมีความขัดแย้งกับรัฐบาลพม่าครั้งแรกที่เริ่มตั้งแต่ปี 1961-1964 ซึ่งนับเป็นอีกช่วงหนึ่งที่ยากลำบากมากสำหรับผู้พลัดถิ่นภายในที่ถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือฟื้นฟูและความช่วยเหลือทางหารแพทย์โดยสิ้นเชิง ทว่า อย่างน้อยที่แน่ๆ ผักปลอดสารของโครงการก็อาจช่วยให้หญิงชราผู้นี้ผ่านพ้นช่วงความวุ่นวายของบ้านเมืองในครั้งนี้ได้บ้างแม้จะไม่มากมายก็ตาม

 

จาก Organic farming offers Kachin IDPs vital health options
โดย SEAMUS MARTOV

DVB 4 พฤษภาคม 2557


 


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น