วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555
พม่าดีเดย์ลอยตัวค่าเงิน1เม.ย.
ทางการพม่าประกาศเริ่มใช้ระบบลอยตัวค่าเงินแบบจัดการ 1 เม.ย.นี้ เป็นย่างก้าวสำคัญในการปฏิรูป ศก.ของ ปท.ให้ทันสมัยมากขึ้น หวังให้เหลืออัตราแลกเปลี่ยนเดียว ผู้เชี่ยวชาญชี้ รบ.ใหม่จริงจังปฏิรูป เหตุปิดช่องทางหารายได้ของอดีตนายพล
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทางการพม่าประกาศวันเดียวกันนี้ว่าจะปรับปรุงระบบค่าเงินที่ล้าสมัย เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเพื่อทำให้เศรษฐกิจที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยจากการตกอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพมาเป็นเวลาหลายทศวรรษมีความทันสมัยยิ่งขึ้น โดยพม่าจะปรับเปลี่ยนมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ซึ่งจะปล่อยให้กลไกของตลาดเป็นตัวกำหนดค่าเงินจ๊าดขณะที่เว้นช่องว่างให้ธนาคารกลางสามารถเข้าแทรกแซงเพื่อชักนำราคาได้
สื่อของทางการพม่าระบุว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นก้าวแรกไปสู่การทำให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนทั้งประเทศเป็นอัตราเดียวกันหมด ชอน เทอร์เนลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจพม่าแห่งมหาวิทยาลัยแมคควอรี ในนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย กล่าวว่า "เป็นย่างก้าวในทางบวกมาก นับเป็นการสูบฉีดความมีเหตุผลเข้าไปในการกำหนดนโยบายซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าขาดไปในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของ 50 ปีที่ผ่านมาภายใต้ระบอบการปกครองก่อนหน้านี้" และว่า ยังเป็นการขจัดความยุ่งยากและมูลเหตุจูงใจในการคอร์รัปชั่นที่มีอยู่ในระบบแลกเปลี่ยน 2 อัตรา
ภายหลังสิ้นสุดช่วงเวลาการปกครองของรัฐบาลทหารที่ยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษเมื่อปีที่แล้ว ถึงตอนนี้พม่ามีรัฐบาลพลเรือนที่เต็มไปด้วยอดีตนายพลของกองทัพอยู่เป็นจำนวนมาก
รัฐบาลใหม่ของพม่าสร้างความประหลาดใจให้แม้แต่บรรดาผู้วิพากษ์วิจารณ์ ด้วยการปฏิรูปหลายสิ่งหลายอย่าง และการปรับปรุงระบบปริวรรตเงินตราเป็นย่างก้าวสำคัญก้าวแรกในการพัฒนาให้เศรษฐกิจที่อ่อนแอจากการจัดการผิดพลาดและการคว่ำบาตรของนานาชาติมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
พม่ามีระบบปริวรรตเงินตราที่ซับซ้อนโดยมีทั้งอัตราแลกเปลี่ยนแบบเป็นทางการ กึ่งทางการ และแบบไม่เป็นทางการ อัตราแลกเปลี่ยนแบบเป็นทางการซึ่งถูกปฏิเสธในวงกว้าง เป็นอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ที่ประมาณ 6 จ๊าดต่อ 1 ดอลลาร์ ขณะที่ในทางตรงกันข้าม อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดอยู่ที่ 800 จ๊าดต่อดอลลาร์ โดยหนังสือพิมพ์นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ที่เปรียบเป็นกระบอกเสียงของทางการได้ตีพิมพ์เผยแพร่แถลงการณ์ของธนาคารกลางพม่าที่ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนทางการจะถูกแทนที่ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยกลไกตลาด ผู้เชี่ยวชาญมองว่าระบบแลกเปลี่ยนเงินหลายอัตราเป็นช่องทางสำหรับบรรดาผู้ปกครองในการหารายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติโดยบันทึกไว้ด้วยอัตราของทางการ หลังจากนั้นค่อยแลกเปลี่ยนด้วยอัตราอย่างไม่เป็นทางการก่อนที่จะยักย้ายถ่ายเทไปไว้ในบัญชีธนาคารลับ
เทอร์เนลล์บอกว่า "เป็นการส่งสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลใหม่ของพม่าจริงจังกับการปฏิรูป เนื่องจากเป็นการปิดช่องทางการหารายได้ของบรรดาอดีตนายพลที่นับว่ามีขึ้นในช่วงเวลาที่เร็วเกินไป
ก่อนหน้านี้ พม่าได้ร้องขอให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ช่วยเหลือในการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในการปฏิรูปตลาดปริวรรตเงินตรา โดยไอเอ็มเอฟได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปยังพม่าเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
นายนาโอยูกิ ชิโนฮาระ รองกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ เปิดเผยว่า ไอเอ็มเอฟกำลังช่วยเหลือพม่าในการสร้างระบบการเงินที่เข้มแข็ง โดยพื้นฐานแล้วเป็นการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค สร้างศักยภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบริหารระบบธนาคารกลาง นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และสถิติต่างๆ
มติชน 29 มีนาคม 55
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น