ย่างกุ้ง –นิทรรศการศิลปะ “Amnesty Prison Art Show2012” มีบางอย่างที่แตกต่างสำหรับผู้ชม นั่นก็คือคอเล็กชันผลงานลับที่สร้างสรรค์ขึ้นในระหว่างที่ถูกจองจำของอดีตนักโทษการเมือง งานนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มอดีตนักโทษการเมือง ณ กรุงย่างกุ้งระหว่างวันที่ 9 – 15 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผลงานเหล่านี้จะมีโอกาสได้ออกมาอวดโฉมกับโลกภายนอก
“คุณอาจจะไม่ได้เห็นภาพวาดอย่างนี้ที่อื่น” ซานนี อดีตนักโทษการเมืองหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มอดีตนักโทษการเมือง บอก “รูปภาพส่วนใหญ่ถูกวาดอย่างลับๆ ในห้องขัง แต่ผลงานบางชิ้นก็ทำขึ้นหลังจากที่พวกเขาได้รับการปล่อยตัว”
นิทรรศการดังกล่าวแสดงภาพวาดจำนวน 110 ภาพ ผลงานจากฝีมืออดีตนักโทษการเมือง 36 คน ซึ่งรวมไปถึงแกนนำนักศึกษาปี 1988 อาทิ มินโกนาย, เท จเว, จิมมี่ และพโยนโช ศิลปินที่อาวุโสที่สุดอายุมากกว่า 70 ปี ส่วนเจ้าของผลงานที่อายุน้อยที่สุดอยู่ในวัยยี่สิบปลายๆ
“เราอยากให้สังคมตระหนักว่า นอกเหนือจากครั้งล่าสุดที่ประธานาธิบดีได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองไปแล้ว ยังมีนักโทษการเมืองอีกจำนวนมากที่ยังถูกคุมขังอยู่ในคุก” ทุนวินเหญ่ง หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม กล่าว
เขาบอกว่าเงินที่ได้จากการจัดนิทรรศการครั้งนี้จะนำไปใช้ในการช่วยเหลือนักโทษการเมืองที่ยังถูกคุมขังและใช้ในการกุศลอื่นๆ
ผลงานที่วาดขึ้นขณะที่ถูกจองจำเป็นงานที่ทำจากสื่อที่หลากหลาย ทั้งดินสอ หมึก สีพาสเทล สีน้ำ สีน้ำมัน เส้นด้าย และแม้แต่ถุงพลาสติกหลากสี ซึ่งเผยให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ในห้องขัง ที่สร้างสรรค์ผลงานโดยใช้วัสดุอุปกรณ์ใกล้ตัว
เรือนจำในพม่าที่ขึ้นชื่อเรื่องการละเมิดสิทธิของนักโทษนั้น เรียกว่าห่างไกลจากสตูดิโอที่จะทำให้นักโทษกลายเป็นศิลปินได้ แต่หลายคนก็ทำเพื่อฆ่าเวลา บางคนก็เป็นการย้อนอดีตงานอดิเรกที่เคยทำสมัยเด็กๆ ขณะที่บางส่วนมีความสามารถทางศิลปะอยู่แล้วก่อนที่จะถูกคุมขัง
“ในตอนนั้น ถ้าคุณถูกจับได้ว่าว่ามีแค่เศษกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ตัดมาจากห่อยาสูบอยู่ในมือแล้วล่ะก็ คุณจะถูกตีอย่างหนัก” ทุนวินเหญ่ง ศิลปินที่เคยถูกขังคุกเป็นเวลา 9 ปี บอก
มินโกนาย ย้อนเวลาไปเมื่อตอนที่เขาวาดภาพบนฝาผนังห้องขังก่อนที่จะมีโอกาสได้จับผ้าใบและสีในปี 2010
“ผมใช้เศษถ่าน หรือแม้แต่เศษอิฐ และไรหาได้ในตอนนั้น วาดลงไปบนฝาผนัง…ความพยามยามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องจริงแท้สำหรับนักโทษเบื้องหลังกรงเหล็กที่จินตนาการคุกรุ่น
“ผมใช้ถุงพลาสติกสีที่ทิ้งแล้วมาทำงานปะติดเพราะไม่มีอะไรใช้วาดภาพได้” ซานส่อทวย ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำตองอูเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา บอก
ผลงานภาพปะติดรูปนกยูงที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างประณีตและภาพสเกตช์ของผู้นำประชาธิปไตย นางอองซาน ซูจีได้รับความสนใจจากผู้ชมและได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก “ผมใช้เวลาสองสามเดือนในการทำ ผมต้องแอบทำอย่างลับๆ ไม่ให้ผู้คุมยึดไป”
หล่ายวินส่วย อดีตนักโทษการเมืองวัย 37 ปีที่เคยถูกขังอยู่ในเรือนจำมยองเมียะ กล่าวว่า เขาวาดภาพนามธรรมด้วยหมึกจากปากกาลูกลื่นลงบนที่ว่างในหน้ากระดาษนิตยสารต่างๆ ที่แอบลักลอบนำเข้าไปในเรือนจำ
ทว่า ผู้ต้องขังจะสร้างผลงานได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ผู้คุมและความเข้มงวดของกฎต่างๆ ทุนวินเหญ่ง บอกว่า เรือนจำบางแห่งเริ่มจะยกเลิกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดกับนักโทษการเมืองประมาณปี 2008 แต่ก็ไม่แน่นอน
“เรือนจำบางแห่ง นักโทษการเมืองได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือได้แต่ห้ามเขียน เพราะคุมเห็นว่าไม่ปลอดภัย แต่บางที่ก็ทำได้ทั้งสองอย่าง ถ้าคุณโชคดีได้อยู่เรือนจำที่ว่า คุณสามารถวาดรูปได้ตามต้องการ”
จิมมี่ หนึ่งในผู้นำกลุ่มนักศึกษาปี 88 กล่าวว่า ช่วงก่อนที่เขาจะได้รับการปล่อยตัว คราบครัวสามารถส่งอุปกรณ์วาดรูปให้เขาได้ในเรือนจำตองยี ซึ่งเขาถูกขังอยู่ 4 ปี เขากลับออกมาพร้อมกับภาพวาด 12 ภาพหลังจากได้รับการปล่อยตัว ซึ่งผลงานสีพาสเทลจำนวน 5 ภาพของเขาถูกแสดงอยู่ในนิทรรศการครั้งนี้
ภาพวาดส่วนใหญ่เป็นการสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ที่ศิลปินต้องเผชิญในคุก แต่หลายภาพก็ได้แรงบัลดาลใจจากคนที่รัก
ในนิทรรศกาลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หญิงสาววัยยี่สิบกว่าๆ ยืนนิ่ง จ้องไปที่รูปภาพภาพหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงร่างที่หดหู่ภายใต้เครื่องแบบนักโทษนั่งยองๆ ในห้องขัง โดยมีภาพของประภาคารเป็นฉากหลัง ในขณะที่ชายคนหนึ่งที่อยู่ห่างจากเธอไปเพียงไม่กี่เมตรกำลังใช้ ipad ถ่ายภาพผลงานรูปเหมือนของเด็กคนหนึ่งที่ชื่อ “My daughter” อีกมุมหนึ่งของห้องโถง พระรูปหนึ่งกำลังจดจ่ออยู่กับการอ่านจดหมายของนักโทษคนหนึ่งที่ถูกทำเป็นภาพปะติด
ซานนีกล่าวว่า น่าเสียดายสำหรับผู้ที่ชื่นชอบ ภาพส่วนใหญ่ไม่ได้มีเพื่อขาย เพราะมันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงห้วงเวลาอันเจ็บปวดในชีวิตของศิลปิน
เอียน ฮอลิเดย์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง นักวิชาการด้านการเมืองพม่า เป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการซื้อภาพวาดของมินโกนาย “ผมเข้าใจดี ถ้าผลงานของมินโกนายไม่ได้มีไว้ขาย ผมถามไปเพราะผมชอบผลงานของเขา”
ผู้จัดงานบอกว่า จะมีการจำนวนงานก๊อปปี้ของภาพวาดในวันสุดท้ายของนิทรรศการเพื่อเป็นการชดเชยให้กับผู้ที่ผิดหวังกับนโยบายที่ไม่ขายรูปภาพ “ผมเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาดี แน่นอน ผลงานที่สร้างขึ้นระหว่างถูกคุมขังมีค่ากับศิลปินมาก นิทรรศการกาลครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงนักโทษการเมืองที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้” หญิงสาวที่ชมงานคนหนึ่งบอก หลังจากที่เธอเสนอซื้องานปะติดรูปอองซาน ซูจี จากนั้นเธอได้เขียนลงบนกระดานสำหรับแสดงความคิดเห็นของผู้ชมว่า “ยังมีนักโทษการเมืองที่ยังอยู่ในคุก” เธอปฏิเสธเมื่อถูกถามชื่อ เธอบอกแค่ว่า
“ฉันคงบอกอะไรคุณมากไม่ได้ เพราะฉันเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ” ก่อนที่จะเดินออกไปจากนิทรรศการ.
แปลจาก บทความ Rangoon Art Show Provides Arresting Display โดย HPYO WAI THA จาก Irrawaddy วันที่ 14 มีนาคม 55
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น