อองซอว์ บรรณาธิการนิตยสารอิรวดี เล่าถึงประสบการณ์การกลับบ้านเกิดครั้งแรกในรอบยี่สิบปี--ขณะที่เครื่องบินร่อนลงจอด ณ สนามบินนานาชาติย่างกุ้ง ผมรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในจังหวะหัวใจ ผมรู้สึกสงบ แต่ก็ตื่นเต้นเมื่อรู้ว่า ผมกำลังจะกลับไปยังพม่าครั้งแรกในรอบ 24 ปี
ที่สนามบิน หนุ่มเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองยิ้มให้ผม ขณะที่ผมยื่นพาสปอร์ตให้เขา เขาเป็นคนค่อนข้างคุยเก่ง เขาถามผมเกี่ยวกับนิตยสารอิรวดีว่า เรารวบรวมข่าวจากในประเทศได้อย่างไร ออกแบบเว็บไซต์อย่างไร รอยยิ้มของเขาเผยให้เห็นฟันแดงๆ จากการเคี้ยวหมากเป็นประจำ เขาบอกว่า เขาเข้าไปดูเว็บไซต์ของเราบ่อยๆ ขณะที่คนที่ต่อแถวรออยู่หลังผมเริ่มจะทนไม่ไหวแล้วเพราะต้องมารอให้เราคุยกันจนจบ
ไม่นานนักทีมงานจากสำนักข่าว Al Jazeera ที่ตามมาถ่ายทำการเดินทางของผม ก็มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานพิเศษของรัฐถือกล้องมาสมทบด้วย พวกเขาถ่ายรูปผมสองสามรูปอย่างสุภาพ ผมยิ้มให้เขา และแกล้งหยอกไปว่าให้เขารายงานเจ้านายเกี่ยวกับข้อมูลของผมให้ถูกต้องด้วย พวกเขาก็รับปาก ถามอายุของผม แล้วก็จากไป
หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนที่สนามบินแล้วผมก็เดินทางไปยังโรงแรมที่อยู่ในตัวเมือง เมื่อมองดูรอบๆ เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ในชีวิต 20 ปีแรก ผมตกตะลึงกับความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 1988 ความคิดเกี่ยวกับวันสุดท้ายที่อยู่ที่นี่ก็แล่นเข้ามาในหัว ในเวลานั้น ย่างกุ้งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีทหารประจำอยู่ทั่วทุกที่ เสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ บนถนนเต็มไปด้วยคราบเลือด เมืองหลวงทั้งเมืองถูกปกคลุมไปด้วยความหวาดกลัวและอนาธิปไตย
แต่ตลอดเวลาที่ผมจะใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศ ผมก็ไม่เคยทิ้งพม่าไปจริงๆ มันยังอยู่ในใจของผมทุกวันทุกคืน ผมคอยติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศของผมจากเมืองไทย ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาให้กับหนังสือพิมพ์ของไทยในช่วงแรกๆ ก่อนที่จะก่อตั้งสำนักข่าวอิรวดีในปี 1993 ผมเดินทางไปยังชายแดนไทย-พม่าอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งผมได้แอบเข้าไปยังพื้นที่ของกองกำลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเป็นครั้งคราวเพื่อเสาะหามุมมองที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับประเทศบ้านเกิดของผม
ในความฝันของผมได้กลับบ้านเพื่อไปหาครอบครัวในย่างกุ้งนับครั้งไม่ถ้วน แต่สุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยฝันร้าย ที่ต้องพบตัวเองล้อมรอบไปด้วยตำรวจลับกับผู้แจ้งเหตุทุกครั้งไป
คุณยายวัย 80 กว่าของผมที่อยู่กับผมที่ประเทศไทยเป็นห่วงผมมากตอนที่ผมบอกว่าได้วีซ่าเข้าประเทศพม่าแล้ว เธอก็เหมือนชาวพม่าคนอื่นๆ ที่ไม่เชื่อใจรัฐบาลพม่า และแนะนำให้ผมสวดมนต์แผ่เมตตาให้แคล้วคลาดจากเรื่องร้ายๆ
ก่อนที่ผมจะไปถึงโรงแรม ความตึงเครียดเล็กน้อยที่เกิดขึ้นกับผมก่อนหน้านี้ก็หมดไป วิญญาณของพม่าโอบกอดผมไว้ ผมเริ่มมีความรู้สึกว่าได้กลับถึงบ้านแล้ว
แม้กระนั้น ก็มีบางอย่างที่ดูแปลกๆ อย่างเช่น เสียงของพนักงานต้นรับในโรงแรมที่ทักทายแขกผู้มาเยือนด้วยน้ำเสียงที่ร่าเริงว่า “มิงกะลาบา” ที่ฟังดูขัดหูผมเล็กน้อย สมัยเด็กๆ มันเป็นคำที่เราใช้พูดกับครูเท่านั้น แต่ตอนนี้คุณจะได้ยินคำนี้ทุกครั้งที่เข้าไปในร้านอาหารหรือโรงแรม
หลังจากพบปะพูดคุยกับกลุ่มบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ในช่วงอาหารกลางวันในใจกลางเมืองย่างกุ้ง ผมก็รีบไปหา ติ้นส่วย รองประธานของกระทรวงข่าวสาร ทีนที การต้อนรับเป็นไปอย่างอบอุ่น และไม่ต้องมัวอ้อมค้อม เราเริ่มถกกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับสื่อและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อในพม่า
มันเป็นประสบการที่ดูเหนือจริงเล็กน้อย เพราะเราเสียดสีคณะกรรมการเซ็นเซอร์สื่ออยู่บ่อยๆ ในหนังสือของเรา แต่ในตอนนั้น ผมกำลังนั่งคุยอยู่ตรงนั้นกับเจ้าหน้าที่กองเซ็นเซอร์อาวุโสในห้องทำงานของเขา ในอาคารที่นักเขียนพม่าเรียกว่าสำนักงานใหญ่ “เคมไพเท(Kempeitai)ของวรรณกรรม” เพราะเป็นอาคารที่ถูกเคมไพเท(ตำรวจลับของกองทัพญี่ปุ่น)ใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
หลังจากนั้น ผมเดินทางไปต่อที่ตลาดใกล้ๆ เจดีย์ชเวดากอง ซึ่งผู้คนต่างดึงผมให้นั่งคุยกับพวกเขา พวกเขาคุยกับผมเหมือนกับเป็นเพื่อนที่จากกันไปนาน บางคนจำผมได้จากรายการ “Dateline Irrawaddy” ซึ่งเป็นรายการทีวีรายสัปดาห์ที่ออกอากาศผ่านสถานีของ DVB พวกเขาบอกว่าได้เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของผม ที่เพิ่งจะเข้าได้หลังจากรัฐบาลพม่ายกเลิกการปิดกั้นสื่อพม่านอกประเทศเมื่อปีที่แล้ว และทราบข่าวการเดินทางมาพม่าของผมผ่านทางวิทยุ
มีคนมาทักอยู่อย่างนี้สองสามครั้งในร้านอาหาร ตลาด และสำนักงานต่างๆ
ผู้คนเข้ามาหาผมและพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ผมถามเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งที่เข้ามาคุยกับผมว่า คิดอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เธอตอบเป็นภาษาอังกฤษตรงๆ เลยว่า “มันก็เป็นแค่การแสดงเท่านั้น”
โปรแกรมต่อไปของผมในวันนั้นคือการพบปะกับนักเขียนและบรรณาธิการอาวุโส พอผมนั่งลงในวงสนทนาปุ๊บก็รู้สึกได้ถึงความไม่พอใจเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสื่อในทันที อารมณ์ความรู้สึกแย่ลงไปอีกหลังจากดื่มวิสกี้ไปเล็กน้อย ผมถามว่า ผมควรจะทำนิตยสารในพม่าหรือไม่ พวกเขาเตือนผมว่า อาจจะต้องกลายเป็นพันธมิตรชั่วคราวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผมนึกถึงสิ่งที่เจ้าหน้าที่กองเซ็นเซอร์บอกกับผมว่า ถ้าอยากทำงานในพม่า ก็ต้องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบสื่อ
นักข่าวของสื่อพลัดถิ่นหลายคนที่เข้าไปพม่าหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายการควบคุมสื่อเมื่อปีที่แล้วก็เจอเหตุการณ์เหมือนกับผมในตอนนี้ พวกเขาบอกว่า รัฐบาลอยากจะพรีเซ้นต์ตัวเองว่าเป็นมิตรกับสื่อมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ยังไม่พร้อมที่เราจะเข้าไปทำงานได้อย่างอิสระในพม่า และกฎข้อบังคับต่างๆ ก็จะยังคงมีอยู่
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องเจอเมื่อกลับไปพม่าอีกครั้งก็คือ ความจริงที่ว่า สื่อในประเทศต่างถูกครอบงำโดยญาติสนิทมิตรสหายของเจ้าหน้าที่อาวุโสในกองทัพอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะแก้ตัวว่าไม่ได้ถูกครอบงำแต่อย่างใด หลายรายฉวยโอกาสใช้รูปของนางอองซาน ซูจีเพื่อเพิ่มยอดขาย พูดสั้นๆ พวกเขาไม่มีศีลธรรมจรรยาอะไร เห็นสื่อเป็นเพียงแค่เครื่องมือหาเงิน ก็อย่างที่ดร.โพนวิน ผู้ก่อตั้งองค์กรเอ็นจีโอที่ชื่อมิงกลาเมียนมาร์ เคยเตือนผมไว้ว่า เราจะถูกกลืนในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ถ้าเราเข้ามาในวงการนี้โดยไม่มีการเตรียมพร้อม
เช้าตรู่ของวันถัดไป ผมได้รับข้อความด่วน “มาที่เนปีดอว์ให้เร็วที่สุด” เรารีบกระโดดขึ้นรถตู้และรีบออกเดินทางในทันที ถนนที่มุ่งหน้าไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่ช่างว่างเปล่าและเป็นคลื่น หลังจากขับไปได้ไม่กี่ชั่วโมง เราก็จอดแวะที่จุดพักรถและรับประทานอาหารกลางวันที่ยอดเยี่ยมที่นั่น
หลังจากเดินทางต่ออีกไม่กี่ชั่วโมง ในที่สุดเราก็เห็นป้าย “ยินดีต้อนรับสู่เนปีดอว์” ช่างเป็นภาพที่น่ายินดี เพราะตอนนั้นบ่ายสามโมงครึ่งแล้ว เรากลัวว่าจะมาถึงช้าไป เมื่อเข้าไปในตัวเมือง ผมนึกถึงเรื่องต่างๆ หลายเรื่องที่ผมได้เขียนเกี่ยวกับความลับต่างๆ นานารอบๆ เมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่า สิ่งที่ลี้ลับที่สุด นอกเหนือไปจากเหตุผลของการสร้างเมืองหลวงแห่งนี้ก็คือ จำนวนเงินหลายพันล้านที่หมดไปกับอนุสรณ์สถานของอำนาจทางการทหารแห่งนี้
หลังจากจับมือทักทายกับรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารจ่อซาน ที่กำลังจะออกจากไปจากกระทรวงตอนที่ผมไปถึง ผมก็ตรงไปที่ห้องทำงานของนายเยทุต ผู้อำนวยการของกระทรวงทันที
อดีตนายพันท่านนี้เป็นคนที่รอบรู้ เขาเขียนบทความหลายชิ้นและเขียนหนังสืออยู่สองสามเล่ม ในจำนวนนั้นคือ ผลงานการแปลหนังสือ “Decision Points ” ซึ่งเป็นอัตตชีวประวัติของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู บุช เราคุยกันอยู่ประมาณสองสามชั่วโมง ผมรู้สึกประทับใจในนิสัยใจคอที่เปิดเผยของเขา แม้มันจะไม่ได้ทำให้ผมเชื่อว่ารัฐบาลกำลังจะนำพาไปสู่ยุคใหม่ของเสรีภาพสื่อก็ตาม ตอนที่ออกไปจากอาคาร ผมได้พบกับเจ้าหน้าที่หลายคนอย่าง รัฐมนตรีช่วยคนหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นแฟนตัวยงของนิตยสารอิรวดี
ค่ำวันนั้น ผมได้พบกับผู้อำนวยการสำนักประธานาธิบดีส่อเท เราคุยกันถึงหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับประเทศพม่า อย่าง บทบาทของอาเซียน อิทธิพลของจีน การคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ และเรื่องนางอองซาน ซูจี เราเห็นไม่ตรงกันในหลายๆ เรื่อง แต่นั่งก็ไม่ใช่จุดประสงค์ ผมแค่อยากเสนอมุมมองของผมในฐานะนักข่าวคนหนึ่ง และรู้สึกว่าการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนั้นคุ้มค่า
เวลาตี 4 วันรุ่งขึ้น เราออกจากเนปีดอว์เพื่อเดินทางกลับย่างกุ้ง เราถูกจัดตารางให้เข้าพบกับนางอองซาน ซูจีในช่วงกลางวัน ความสวยงามของทิวทัศน์ยามเช้าตรู่ขณะที่ขับรถผ่านตอนกลางของประเทศพม่าทำให้ผมไม่อยากหลับ
เมื่อไปถึงสำนักงานใหญ่ของพรรคเอ็นแอลดี เร้าต้องฝ่าฝูงชนจำนวนมากเพื่อเข้าไปพบผู้นำคนสำคัญข้างใน ระหว่างการประชุมสั้นๆ ที่ต้องทำเวลาให้พอดีกับตารางการหาเสียงที่แน่นเอี้ยดของนางอองซาน ซูจีเธออธิบายถึงเหตุผลที่พรรคฯ ตัดสินใจลงชิงชัยในเลือกตั้งซ่อม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งในปี 2010 ว่า เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในพม่ามีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน นอกจากนี้เราได้พูดถึงท่าทีของนานาชาติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่าด้วยเช่นกัน
ก่อนที่จะแยกกัน เธอบอกว่า เราต้องทำงานเพื่อประเทศของเราต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
ก่อนอกจากสำนักงานใหญ่ของพรรคเอ็นแอลดี ผมได้พบกับผู้นำอาวุโสสองท่าน คือ อูวินติ่น และอูติ่นอู แต่โชคไม่ดีที่การสนทนาที่กำลังออกรสของเราก็ต้องถูกขัดจังหวะด้วยโทรศัพท์ที่เข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ว่าจะเข้าสู่วัยแปดสิบแล้ว แต่พวกเขายังคงเฉียบแหลมและเปี่ยมไปด้วยพลัง ผมสังเกตเห็นว่า อูวินติ่นจะคิดถึงเรื่องการรื้อฟื้นพรรคและอนาคตของพรรคในระยะยาวอยู่ตลอดเวลา
ระหว่างที่คุยกัน อูติ่นอูเอานิตยสารอิรวดีฉบับหนึ่งให้ผมดูแล้วบอกว่า เขาได้มันมาตอนที่ถูกควบคุมตัวในบ้านพัก และอ่านสนุกมาก เขาบอกด้วยรอยยิ้มกว้าง “ถ้าเป็นเมื่อก่อน ฉันจะติดคุกกี่ปีเนี่ย ถ้าถูกจับได้ว่ามีนิตยสารเล่มนี้”
จากนั้นผมได้พบกับโกโกจี อดีตนักศึกษาวัย 50 ปี ผู้นำกลุ่มนักศึกษาปี 88 เขาเป็นนักวางยุทธศาสตร์คนหนึ่งที่ทันต่อเหตุการณ์ เขาได้รับการปล่อยตัวจากการคุมขังเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาร่วมกับนักโทษหลายพันคน เขาบอกว่าไม่อยากกลับไปถูกในห้องขังอีกและอยากไปต่างประเทศเพื่อไปดูโลก และเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2015
เวลา 5 วันของผมผ่านไปอย่างรวดเร็วมากจนแทบไม่มีเวลาสังเกตเมืองที่ผมเติบโตขึ้น ขณะที่ผมผ่านมหาวิทยาลัยย่างกุ้งที่เคยเรียนอยู่เมื่อปี 1988 หอพักมีแต่ความว่างเปล่า มีพุ่มไม้ขึ้นรอบ ๆอาคาร ความโรยราเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปกครองของทหาร บรรดาอดีตนายพล รวมไปถึงอดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองอย่างขิ่นยุ้นต์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคณะกรรมการการศึกษา ได้ทำลายความภาคภูมิใจในสถานศึกษาระดับสูงเพราะกลัวการลุกฮือของนักศึกษา
ผลผลิตของยุครับบาลทหารครองประเทศอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเพิ่มขึ้นของผู้ร่ำรวยที่เป็นพรรคพวกของนายพลทั้งหลาย นักธุรกิจที่ผมได้พูดคุยด้วย บอกว่า เศรษฐีเหล่านี้ที่เติบโตในเศรษฐกิจที่ปิดตัวของพม่า กำลังกลัวว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะถูกยกเลิก เพราะนั่นหมายถึงการเปิดประตูให้คู่แข่งไหลทะลักเข้ามาในประเทศ
ระหว่างการเดินทางของผมครั้งนี้ ผมยังสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าจะพูดคุยถึงเรื่องอะไร ก็มักจะมีเบื้องหลังฉากที่แตกต่างกันออกไปอยู่เสมอ แม้แต่เรื่องการแตกแยกระหว่างนักปฏิรูปกับเผด็จการ อิทธิพลของนายพลตานฉ่วยกับหม่องเอ และเรื่องอื่นๆ คนที่ผมสนทนาด้วย ไม่ว่าจะเป็น บรรณาธิการ นักการทูต หรือคนที่มีความรู้ แต่ละคนต่างก็มีการตีความ “เรื่องจริง” ที่แตกต่างกันออกไป
สิ่งเดียวที่ทุกคนพูดได้อย่างมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในพม่าปัจจุบันก็คือ สถานการณ์ดูเหมือนมีอะไรใหม่ๆ ที่จะสามารถนำพาประเทศไปในหลายทิศทาง อย่างที่นักธุรกิจบอกผม เราต้องเตรียมแผนสำรองไว้ ถ้าอยากกลับประเทศ เพราะ “คุณไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป”
ในวันสุดท้าย ผมได้ติดตามนางอองซาน ซูจีไปหาเสียงที่เมืองกอมู ซึ่งเป็นตำบลที่แร้นแค้นในปากแม่น้ำอิระวดี ไม่แลปกใจเลยที่สำหรับชาวพม่าหลายคน เธอคือความหวังของการเปลี่ยนแปลงของพวกเขา ทุกๆ ที่ ต่างก็มีผู้สนับสนุนมาคอยทักทางและให้การต้อนรับตลอดทาง แม้กระทั่งโลงศพที่กำลังจะถูกนำไปสุสานก็ยังมีธงของพรรคเอ็นแอลดีประดับอยู่ด้วย
ก่อนที่จะขึ้นเครื่องกลับประเทศไทย ผมได้พบกับ ลูดุเส่งวิน ซึ่งเป็นนักข่าวที่น่านับถือท่านหนึ่ง เป็นวิธีที่ดีในการรวมรวมและประเมินความคิดของผมเกี่ยวกับส่งที่ผมได้พบและได้ฟังมา เพราะผมรู้ว่าเขาจะต้องวิเคราะห์อะไรออกมาได้อย่างจริงใจและหลักแหลม
สำหรับเรื่องเต็งเส่งกับนางอองซาน ซูจีนั้น เขาเตือนว่า การให้ความศรัทธาต่อคนๆ เดียวไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่ ซึ่งเป็นคำแนะนำที่เคยบอกกับนางอองซาน ซูจีที่ดูเหมือนจะเชื่อใจประธานาธิบดีเต็งเส่งมาก เขายังบอกว่า ผู้นำในกองทัพนั่นเหลี่ยมจัดและคงไม่ยอมเสียอำนาจไปง่ายๆ
เขาตอบคำถามที่สำคัญมากคำถามหนึ่งว่า นิตยสารอิรวดีควรย้ายไปพม่าหรือไม่ เขาบอกว่า สิ่งที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดคือ ควรจะมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศไทยเพื่อผลิตสื่ออิสระต่อไป เขายังโจมตีพวกนักวิเคราะห์และบรรดาตัวแทนรัฐบาลจากต่างประเทศที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ที่รีบเข้าพม่าอีกด้วย เขาบอกว่า บทความของเขาหลายชิ้นยังคงถูกเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์อยู่
ผมอยากจะใช้เวลากับเขาให้มากกว่านี้แต่ผมต้องไปแล้ว ก่อนจากกัน ผมบอกเขาว่า หวังว่าจะได้พบกันอีกในไม่ช้า แต่ผมก็หยอกเขาไปว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผมจะเขียนเกี่ยวกับการเดินทางของผมในครั้งนี้เมื่อไปถึงประเทศไทย
เครื่องบินค่อยเคลื่อนตัวขึ้นเหนือเมือง ผมมองลงไปข้างล่างเห็นวัดเล็กๆ รอบเจดีย์ชเวดากอง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ปกคลุมไปด้วยแสงเจิดจ้า ผมหวังว่าจะได้เขียนเรื่องนี้ลงในสื่อท้องถิ่น แต่ผมรู้ดีว่าคงต้องรอโอกาสหน้า
20 ปีที่จากไป ผมเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในพม่า แต่บางทีมันอาจจะยังไม่มากพอ ความหวังเพียงอย่างเดียวเมื่อไปถึงประเทศไทยคือ หวังว่าครั้งแรกของการกลับบ้านเกิดของผมในรอบ 20 ปี จะไม่เป็นครั้งสุดท้าย
แปลจาก Five Days in Burma จาก irrrawaddr.org 23 กพ 55
อองซอว์ บรรณาธิการนิตยสารอิรวดี เล่าถึงประสบการณ์กลับบ้านเกิดครั้งแรกในรอบยี่สิบปีในฐานะสื่อพลัดถิ่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น