วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556
แรงงานเด็ก กับช่วงชีวิตที่สูญเสีย
"ลิตเติลคิง"อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ เขาไม่รู้ว่าประธานาธิบดีของเขาชื่ออะไร แต่เขาแข็งแรงพอที่จะแบกของหนักๆ ไว้บนศีรษะได้ และแข็งแรงพอที่จะลากเรือเล็กที่บรรทุกกล้วยมาเต็มลำเข้าฝั่งแม่น้ำย่างกุ้งในช่วงล้ำลดได้
ที่ท่าเรือ สถานที่ที่แรงงานชายทำงานเยี่ยงลา "ลิตเติลคิง" ได้ค่าแรงวันละ 90 บาท เขาเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว เขาดูแลผู้หญิงที่เขารักและลูกอีก 2 คนของเธอ
ผู้หญิงที่ว่านี้ คือแม่ของเขา ส่วนเด็ก 2 คนคือน้องสาวของเขา และ "ลิตเติลคิง" ก็เป็นแค่เด็กคนหนึ่ง
"ผมไม่เคยสนใจผู้หญิงที่ไหน" ลิตเติลคิง บอก ชื่อจริงของเขาคือ นาตี วาย หลังจากที่พ่อเสีย เขาก็ต้องออกจากโรงเรียนและเข้ามาทำหน้าที่แทนพ่อ โดยการเป็นคนงานที่ท่าเรือตั้งแต่อายุได้ 11 ปี ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านไป 4 ปีแล้ว "ผมมีผู้หญิงที่ต้องดูแลแล้ว แม่ของผมไงหละ" เขาบอก
แรงงานเด็กในพม่า
ในโลกนี้เต็มไปด้วยเด็กชายและเด็กหญิงที่สูญเสียช่วงชีวิตในวัยเด็กไปกับการถูกใช้แรงงานหนัก ข้อมูลจากองค์กรแรงงานสากล หรือ ILO คาดว่ามีแรงงานเด็กกว่า 215 ล้านคนทั่วโลก แรงงานเด็กมากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานที่ ILO ระบุว่าเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย
ใครที่ติดตามข่าวก็มักจะได้ยินข่าวการใช้เด็กเป็นแรงงานทาสในเหมืองแร่ที่ประเทศคองโก หรือโรงงานเย็บผ้าในบังกลาเทศ แต่สำหรับพม่า หรือ เมียนมาร์ การใช้แรงงานเด็กไม่ใช้ปัญหาเล็กในสังคม แต่เป็นเหมือนเสาหลักของเศรษฐกิจในพม่า ซึ่งในขณะนี้ เศรษฐกิจในพม่ากำลังกระเตี้องขึ้นเป็นประวัติการณ์
ในการจัดอันดับต่างๆ ของโลก พม่าก็มักจะอยู่ในอันดับใกล้ๆ กับประเทศเผด็จการอื่นๆ โดย Maplecroft ของเยอรมนี ได้จัดให้พม่าเป็นประเทศที่มีปัญหาการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุดในโลก ซึ่งแย่กว่าเกาหลีเหนือ หรือ โซมาเลีย
เป็นเวลาสองปีแล้ว ที่กองทัพพม่าของรัฐบาลเผด็จการทหารได้ส่งต่ออำนาจการปกครองให้แก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งทำให้ประเทศได้สัมผัสกับเสรีภาพอีกครั้ง แต่แค่ 2 ปีคงจะยังเปลียนแปลงไปมากแค่ไหน โดย 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการรื้อระบบของกรมตำรวจ ผู้ต่อต้านรัฐบาลได้รับการปล่อยตัวจากการถูกจำคุก ขณะที่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติะวันตกก็ถูกยกเลิก ประเทศที่เคยถูกบรรดานายพลปิดกั้นออกจากโลกภายนอกมานาน ได้กลับลำอย่างกระทันหันเข้าสู่ยุคของศตวรรษที่ 21 อย่างฉุดไม่อยู่
กลุ่มบริษัทอเมริกันต่างได้รับการสนับสนุนให้เข้าไปลงทุนในพม่าโดยมีทำเนียบขาวคอยเชียร์อยู่ข้างสนาม ซึ่งเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำมานานจากสงครามและการบริหารที่ผิดพลาด
และเมื่อเขาเหล่านี้มาถึงพม่า ก็จะพบกับกองทัพแรงงานที่เต็มไปด้วยแรงงานเด็ก จากข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า หนึ่งในสามของเด็กในพม่า( อายุ 7 - 16 ปี) เริ่มทำงานแล้ว
เหตุเกิดจากการศึกษา
การใช้แรงงานเด็กในพม่าเป็นผลมาจากความย่ำแย่ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน โรงพยาบาลทรุดโทรม โรงเรียนปิดตัว เมื่อพ่อแม่ไม่มีเงินซื้อข้าวหรือเช่าบ้าน เด็กๆ ต้องออกมาทำงาน เมื่อพ่อแม่ล้มป่วย(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่รักษาได้) เด็กๆ ก็ต้องออกมาทำงาน พอบรรดาครูทิ้งโรงเรียนไปอยู่ที่อื่นกันหมด เด็กๆ ก็ต้องออกมาทำงานอีก
"การเข้าเรียนในโรงเรียนประถมไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่โรงเรียนไม่ได้รับงบประมาณอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากรัฐ จึงเกิดค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่" ตันดา จ่อ ที่ปรึกษาอาวุโสขององค์กร Save the Children ในพม่า กล่าว "ผู้ปกครองมักจะขอให้จ่ายเงินค่าน้ำหรือค่าเฟอร์นิเจอร์ ครูต้องเรี่ยรายเงินบริจาค และเด็กที่ไม่มีเงินก็จะไม่ไปโรงเรียนเพราะอับอาย"
แล้วถ้าเงินบริจาคหมดล่ะ ? "ครูก็จะไม่มาสอน" ตันดา จ่อ กล่าว "มีโรงเรียนหลายแห่งที่ไม่มีครูมาสอนเลย" เธอยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐยะไข่ที่ผู้ปกครองต้องเอาข้าวสารมาติดสินบนครู และที่รัฐมอญหลายหมู่บ้านไม่มีใครเรียนสูงกว่าเกรด 2
ที่ชุมชนแออัดในเขตดะกงใต้ ผู้ปกครองบางส่วนไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา "พวกเขาคิดว่า การให้ลูกเข้าโรงเรีนยเป็นเรื่องเสียเวลา" ซุไวทุน ครูสาววัย 25 ปีจากโรงเรียนที่เปิดสอนฟรีของพรรคเอ็นแอลดี ของนางอองซาน ซูจี กล่าว
โรงเรียนของซุไวทุนเป็นห้องไม้กระดานที่มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะยุค 90 เป็นโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนให้เรียนฟรีจากเงินบริจาค ในขณะที่โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่เปิดเพื่อหากำไร โรงเรียนรัฐบาลมักจะมีครูที่ไม่มีคุณภาพในการสอน เด็กนักเรียนจึงสอบไม่ผ่านข้อสอบกลางถ้าไม่ได้เรียนพิเศษในเวลาหลังเลิกเรียน ซึ่งเป็นเวลาการเรียนการสอนจริงๆ เพิ่งจะเริ่มขึ้น "หลังจากเลิกเรียนในโรงเรียนรัฐ พวกเด็กๆ ก็มาที่นี่" เธอ กล่าว "เราต้องสอนทุกอย่างซ้ำอีกครั้ง"
บางวันเด็กๆ ไม่ได้มาเรียน ซุไวทุนจึงไปตามหา "เราไปตามเด็กมาที่นี่ ล้างหน้าล้างตา และสอนหนังสือพวกเขา" เธอกล่าว "เราขอร้องผู้ปกครอง บอกว่า ลองคิดดู ถ้าให้เด็กหยุดเรียนแล้วไปทำงาน คุณก็จะได้เงินแค่วันละ 1000 จั๊ตเท่านั้น แต่ต่อไปคุณจะได้มากกว่านี้เยอะถ้าเด็กๆ มีการศึกษา" ทว่า มันมักจะไม่ได้ผล
"พวกเขาบอกฉันว่า อย่าได้พาลูกๆ เขาไปอีกเชียว"
ย้อนรอยประวัติศาสตร์
ในพม่า การใช้แรงงานเด็กมีอยู่อย่างแพร่หลายในแทบทุกงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะ องค์กรยูนิเซฟ ได้รวบรวมงานที่เด็กๆ เห่ล่านั้นทำ ในจำนวนนั้นคือ งานโรงงาน งานเย็บผ้า คนส่งเอกสาร ทำความสะอาดบ้าน ขอทาน และทำนา
จะว่าไป แรงงานเด็กในพม่าเหมือนกับแรงงานเด็กในอเมริกาในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม สภาพของเด็กๆ ในโอ้กกะลาปาใต้เหมือนกับเด็กๆ ในภาพขาวดำที่ถ่ายในโรงงานและฟาร์มในอเมริกาช่วงนั้นไม่มีผิด เด็กๆ ไม่ได้สวมรองเท้า หน้าตามอมแมม และแววตาที่เหนื่อยล้า
"เด็กในพม่าจำนวนมากทำตัวเหมือนไม่ใช่เด็ก" ซุไวทุน กล่าว "พวกเขาเหมือนผู้ใหญ่ ที่มีปัญหาแบบผู้ใหญ่"
ใช่ว่าเด็กในพม่าจะยากลำบากไปเสียทุกคน คนชั้นสูงที่อาศัยอยู่ในย่านคนรวยสามารถส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอกได้ ส่วนเด็กในครอบครัวคนค้าขาย ซึ่งถือว่ายากจนตามมาตรฐานของตะวันตก ก็พอจะเก็บเงินเข้าเรียนในชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัยได้
แต่ความร่ำรวยก็จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น ปัจจุบันตัวเลขจีดีพี ของพม่าอยู่ที่ประมาณ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งข้อมูลจาก Angus Maddison นักเศรษฐศาสตร์พบว่า ตัวเลขดังกล่าวเท่ากับอเมริกาก่อนยุคสงครามกลางเมือง
ในปี 1938 หลังจากเศรษฐกิจในอเมริกาเติบโตขึ้นถึงสี่เท่า ไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานที่เสี่ยงอันตราย และห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีทำงานในเวลาเรียน มันไม่ได้ดีต่อเฉพาะระบบเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะกว่าร้อยปีที่ผ่านมา มือน้อยๆ ต้องถูกบดขยี้ในเครื่องทอผ้า ปอดของเด็กๆ ต้องแปดเปื้อนควันจากถ่านหินมาไม่รู้เท่าไหร่
ในขณะที่เศรษฐกิจของอังกฤษและอเมริกาเติบโตบนหลังของเด็กน้อยโดยที่ต่างประเทศไม่เข้ามายุ่ง แต่สำหรับพม่า ไม่เป็นอย่างนั้น
สู่บริษัทข้ามชาติ
ที่ผ่านมา พม่ารับรู้ได้ถึงความไม่พอใจของชาติตะวันตกจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ในช่วงปี 90 และต้นปี 2000 เป๊บซี่ ลีวาย บริษัทยาสูบบริติชอเมริกัน ต้องถอนธุรกิจออกจากพม่าจากแรงกดดันของนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านบริษัทที่เข้าไปดำเนินกิจการในประเทศพม่าที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร แต่ตอนนี้กลับกัน เพราะเจเนอรัลอิเล็คทริก ฟอร์ด บริติชอเมริกัน วีซา มาสเตอร์การ์ด และบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ได้กลับมาแล้ว และกำลังจะหลั่งไหลเข้ามาอีกเยอะในอีกไม่ช้า
ที่เห็นชัดที่สุดคือการกลับมาของ โคคาโคลา และเป๊บซี่ ซึ่งทั้งสองบริษัทต่างขึ้นป้ายโฆษณาทั่วย่างกุ้งโดยหวังจะเข้ามาตีตลาดในพม่าที่ยังไม่ติดน้ำอัดลมเหมือนที่อื่น สงครามน้ำดำได้บุกเข้าไปถึงจุดสำคัญๆ หลายแห่ง อย่าง ร้านน้ำชา และเครื่องแบบของเด็กที่วิ่งเสิร์ฟชานม
"เป๊ปซี่ ? ผมไม่เคยดื่ม" ซอว์ลินเท็ต เด็กชายอายุราวๆ 13-14 ปี (เขาไม่รู้วันเกิดตัวเอง) แต่เขาและเด็กเสิร์ฟหน้าละอ่อนอีกนับสิบในร้านน้ำชามอร์นิงสตาร์ ใจกลางเมืองย่างกุ้ง ต่างก็สวมเสื้อที่มีโลโกของเป๊ปซี่ติดอยู่ เช่นเดียวกับจำนวนเด็ก ที่ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่เพิ่มขึ้นทั่วย่างกุ้ง (ซึ่งเป๊ปซี่ปฏิเสธไม่แสดงความเห็น)
ซอว์ลินเท็ตและเพื่อนๆ ต้องทำงานตั้งแต่เช้ามืดจนถึง 3 ทุ่ม โดยได้ค่าจ้างเดือนละ 750 - 900 บาท เด็กๆ ต้องจากบ้านมาอยู่รวมกันในห้องเดี่ยวที่ตั้งอยู่นอกร้าน "โรงเรียนไม่มีประโยชน์สำหรับผม ผมอยากทำงานที่นี่มากกว่า" เขา ล่าว ซอว์ลินเท็ตและเพื่อนบอกว่าตัวเองโชคดี เพราะมีตัวเลือกว่าจะทำงานที่โรงงานหรือทำนา "แต่ผมคิดถึงพ่อแม่" ซอว์ลินเท็ต บอก
------------------
จาก Youth Interrupted: Myanmar's Underage, Illiterate Workers โดย PATRICK WINN
GlobalPost 19 กันยายน 2556
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น