วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

ASEAN AND I ; เราต่างเดินทางหาคำตอบ


เสียงดังอึกทึกของรถราน้อยใหญ่ที่ต่างโฉบเฉี่ยวไปมาบนถนนสันทราย-เชียงใหม่เริ่มจางลับไป หลังจากมอเตอร์ไซค์ พาหนะเดินทางคันเก่งของพวกเราเลี้ยวเข้าบริเวณซอยลูกรังเล็กๆ แห่งหนึ่ง “เมียวอ่อง” ผู้นำทางชาวไทใหญ่ของผมถอดหมวกนิรภัย พลางบอกวิธีการปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อถึงที่หมาย ซึ่งเขาเปรยว่า มันเป็นศูนย์รวมความหวังในการมีอยู่ของชาวไต หรือไทใหญ่พลัดถิ่นทุกคน



แสงอาทิตย์อัสดงเริ่มลาลับขอบฟ้า กิ่งใบและพุ่มไม้น้อยใหญ่กวัดไปมาตามแรงลมสุดท้ายของวัน ป้ายแสดงใบหน้าและชื่อเหล่าลูกแก้วที่จะเข้าพิธีปอยส่างลอง หรือการบวชสามเณร ถูกประดับเหนือร้านโชว์ห่วยสังกะสี เป็นสัญญาณให้เรารู้ว่าแคมป์ก่อสร้างที่พักชาวไทใหญ่อยู่ไม่ไกลนับจากนี้


บ้านไม้ไผ่ก่อตัวเรียงรายไร้ระเบียบสุดลูกหูลูกตา เสียงเจี้ยวจ้าวของลูกเด็กเล็กแดง และพ่อค้ารถกระบะขายของดังขึ้นเป็นระยะ ขณะที่ผมและเมียงอ่องเดินเข้าไปซอยนี้ รอยยิ้มและเสียงทักทายภาษาไตจากหนุ่มสาววัยรุ่นต่อเมียงอ่องผุดขึ้นไม่ขาดสาย ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ ก็ต่างปริยิ้มอย่างเขินอาย เสมือนต้อนรับผู้มาเยือนอย่างผมไม่เกี่ยงเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าชนใด


3 วันก่อนนี้ ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ “เมียวอ่อง” จากคำแนะนำของพี่ผึ้ง อดีตบรรณาธิการ


สาละวินต์โพสต์ รุ่นพี่มหาวิทยาลัยที่เคารพรัก และพี่หญิง ผู้ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อชาวไทใหญ่ ผมทราบเบื้องต้นว่า เขาเป็นหนุ่มชาวไทใหญ่วัย 26 ปี ทำงานเป็นอาสาสมัครด้านการศึกษา และวัฒนธรรมไทใหญ่สำหรับลูกหลานคนไทใหญ่จากรัฐฉานที่ย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่จากภัยสงคราม มาเป็นแรงงานทั่วพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทำงานร่วมกับเพื่อนพ้องน้องพี่ในนามกลุ่มฉาน ยูธ พาวเวอร์


ผมแจ้งเหตุผลการเดินทางครั้งนี้ต่อพี่ผึ้ง และเมียวอ่องว่า ต้องการเก็บข้อมูลสำหรับงานเขียนเกี่ยวกับอาเซียนเพื่อส่งประกวด ในประเด็นการศึกษา และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ แม้ลึกๆแล้วจะไม่แน่ใจเลยว่าจะเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วจะผลิตผลงานได้สมความตั้งใจแค่ไหน แต่ด้วยความเป็นนิสิตสื่อสารมวลชนที่ตรากตรำบ่มเพาะวิชาความรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยเกือบ 4 ปีก็น่าจะถึงเวลาอันสมควรที่ต้องกล้าเดินออกมา และมุ่งหน้าด้วยตนเอง ท่ามกลางสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพวกเราอนุชนคนสื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



ความท้าทายสำคัญที่ครูบาอาจารย์ และสื่อมวลชนรุ่นพี่แขนงต่างๆมักกล่าวถึง คือ การเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนที่จะถึงในอีกสามปีนี้ ว่ากันว่าจะเปิดมิติความก้าวหน้าของประเทศผ่านความร่วมมือของภูมิภาค เรื่องนี้ถูกพูดถึงอย่างมากกับเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชนที่ศึกษาด้านสื่อสารมวลชนซึ่งถูกตั้งคำถามถึง บทบาทและหน้าที่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงผ่านความร่วมมือ และพัฒนานี้อย่างไร แน่นอน ผมเคยตอบไปว่า เป็นสื่อที่ต้องประสานความเข้าใจ และร่วมมือของภูมิภาคแห่งความหลากหลายนี้ เพื่อประโยชน์สุดท้ายแด่ประชาคมในอนาคต ตามต่อด้วยตำราการทำหน้าที่อีกเป็นชุด แต่ยิ่งคิดถึงการตอบครั้งนั้นมากเท่าไร ก็เกิดรู้สึกบนความอึดอัดที่ว่า ทำไมคำตอบนั้นมันช่างสวยหรู แต่ไร้น้ำหนัก และทิศทางเสียเหลือเกิน การพิสูจน์ผ่านการเดินทางนี้จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีในระดับหนึ่ง ไม่เพียงคำตอบต่อตัวเราเท่านั้น หากหมายถึงสังคมที่ผูกพันกับหน้าที่เราในอนาคตด้วย


การแปลความหมาย “อาเซียน” หรือ “ประชาคมอาเซียน” ในอนาคต อย่างทื่อๆว่า “ทุกคนในอาเซียน” ทำให้เราเห็นมุมมองความสัมพันธ์ที่หลายคนอาจลืมเลือน เรารู้ว่า มีคนไทย มาเลย์ และอื่นๆประกอบเป็นชนชาติในภูมิภาค หากแท้จริงแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่มีเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ผู้ซึ่งมีความหวังความฝันไม่ต่างจากพวกเรา แม้พวกเขาจะไม่มีแผ่นดินแห่งที่เป็นของตนอย่างชัดแจ้ง แต่หากเรามีโอกาสช่วยสานความหวังของเพื่อนมนุษย์ มันก็เป็นสิ่งที่สมควรทำยิ่ง


ความท้าทายของภูมิภาคซึ่งเปี่ยมไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย การเรียนรู้และสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ นำมาสู่การให้เกียรติต่อกันและกัน มันจึงเป็นภาระของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ พลังแห่งตัวอักษรในการเดินทางเก็บข้อมูลครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในตัวแทนความหวังของพี่น้องชาวไทใหญ่ ในการหาคำตอบในการคงอยู่ในอนาคตกับประชาคมที่โอบล้อมด้วยรัฐชาติอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร นี่คือภาระของเรา ...


เราเดินเข้ามาถึงใจกลางหมู่บ้าน ท่ามกลางตะวันที่เริ่มลับขอบฟ้า ความมืดค่ำของชนบทอาจดูวังเวงในที่อื่นๆ แต่ที่นี่กลับปรากฏเสียงหัวเราะโห่ฮาของเด็กๆจากเรือนไม้ไผ่กลางหมู่บ้าน ลูกเด็กเล็กแดงน้อยใหญ่ร่วม 30 ชีวิตต้องมาเรียนภาษาของตน กลุ่มตัวน้อยฝึกอ่านเขียน ส่วนเด็กโตก็เรียนรู้การสนทนาขั้นสูง พร้อมสอดแทรกภาษาอังกฤษตลอดการเรียนเพื่อพร้อมปรับตัวต่อสังคม โดยเฉพาะนิมิตหมายสำคัญของภูมิภาคในอีกสามปี แสงไฟนีออนจึงไม่เพียงทำหน้าที่ประคับประคองให้การเรียนการสอนภาษาไทใหญ่ และอังกฤษดำเนินไปเท่านั้น หากยังส่งมอบความรู้สึกดีๆที่ทำให้ผม กับ เมียงอ่องซึ่งตอนนี้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นครู ได้พูดคุยกันท่ามกลางบรรยากาศท้องนาเบื้องหลังเรือนไม้ไผ่นี้


เมียวอ่องเกิด และโตที่รัฐฉานในครอบครัวฐานะปานกลาง พ่อและแม่ทำอาชีพเกษตรกร พออยู่ พอซื้อ และพอขายบนความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน เขาเข้าเรียนในโรงเรียนประจำอำเภอ หมายมั่นตั้งใจว่าในชีวิตนี้ต้องได้ปริญญาจากมหาวิทยามัณฑะเลย์ ที่ซึ่งหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยในรัฐฉานใฝ่ฝัน ควบคู่กับการเป็นนักดนตรีพื้นบ้านตระเวนเล่นเพลงทั่วขุนเขา หากน่าเสียดายที่โชคชะตาไม่ได้นำพาความสำเร็จมาให้ หากกลายเป็น สงครามสู้รบของพม่าและไทใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวยิ่ง


เมืองไทยจึงเป็นทีพึ่งสำหรับเมียวอ่องเมื่อเขาอายุได้ 17 ปี ไม่ต่างจากพี่น้องไทใหญ่ทั่วทุกสารทิศที่ต่างหลบหนีเอาชีวิตรอด ความบีบครั้นกดดัน กลายเป็นตัวสนับสนุนให้เขาไม่ย่อท้อต่อความฝัน แรกเริ่มเดิมทีก็มารับจ้างเป็นแรงงานพอได้ตั้งตัว พลันได้เจอเพื่อนฝูงที่เรียนมาด้วยกันก็ชักชวน รวมกลุ่มหาอะไรทำจากความรู้ที่ติดตัวมา และที่สำคัญคือความคิดถึงบ้าน การสำนึกแห่งความเป็นไทใหญ่ในแผ่นดินไทยจึงเริ่มต้นก่อตัวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาในนาม ฉาน ยูธ พาวเวอร์ กรุ๊ป ที่ซึ่งใครหลายคนฝากความหวังไว้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ก็ตาม


เมียวอ่องเท้าความว่า ทาวน์เฮ้าส์เล็กๆในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นสถานที่ทำงานของพวกเขา โดยจะรวมตัวกันในตอนเย็นหลังเสร็จสิ้นงานประจำ ที่นี่เป็นทั้งสำนักงาน โรงเรียนภาษาไทใหญ่ อังกฤษ และคอมพิวเตอร์ เด็กที่มาที่นี่เกิดจากการที่พวกเขาตระเวนชักชวนให้ชาวไทใหญ่ส่งลูกเข้ามา ด้วยความหวังเดียวกันคือ การมีอยู่ของไทใหญ่ของอนุชนรุ่นหลัง และพร้อมปรับตัวในเมืองไทยบ้านใหม่อย่างแข็งแรง


แน่นอนว่า ไม่ง่ายนักที่จะรวบรวมเด็กไทใหญ่นับแสนทั่วเชียงใหม่ แม้แต่ในอำเภอเมืองเขตหนึ่งก็มีเด็กไทใหญ่ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน และสถานที่ที่มีอยู่ก็ไม่สามารถรองรับได้ เมียงอ่องจึงต้องทำงานในลักษณะเข้าถึง โดยตระเวนไปตามแคมป์ก่อสร้างและผูกสัมพันธ์กับชาวบ้าน เพื่อจัดตั้งศาลาสำหรับการเรียน โดยใช้เหตุผลข้อเดียวที่ทำให้ทุกงานราบรื่นสำเร็จผล คือ การร่วมรักษาไว้ซึ่งเผ่าชนคนไตนั่นเอง


“ แรกเริ่มพ่อแม่เขาก็ไม่ส่งนะ เขาอยากให้ลูกช่วยทำงานมากกว่า แต่พอเราบอกว่า มาเถอะ มาเรียนไทใหญ่ ในโรงเรียนไทยไม่สอนภาษาไทใหญ่นะ แต่เราสอน มีอังกฤษด้วย อย่างน้อยก็ให้เด็กมารวมกัน จัดกิจกรรมกัน ให้มันไม่ลืมความเป็นไต และมีวิชารับมือต่อสังคมใหม่ๆ” เมียวอ่องกล่าว


อย่างไรก็ตาม แม้รัฐไทยจะเปิดโอกาสให้เด็กไทใหญ่เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐเช่นเดียวกับเด็กไทยคนอื่นๆ ทำให้เมียวอ่อง และผู้เฒ่าผู้แก่รู้สึกหายห่วงได้เปราะหนึ่ง หากขณะเดียวกันก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ลูกเด็กเล็กแดงจะยังคงความเป็นไทใหญ่ทั้งวัฒนธรรม และประเพณีที่ทรงคุณไว้ได้หรือไม่ ยิ่งกรอบป้องกันเราไม่มีเหมือนกับประเทศที่มีอธิปไตยของตน คนไทใหญ่ต้องพึ่งกันเอง เรื่องนี้จึงน่าห่วงกว่าเรื่องใดๆ


“เราห่วงนะ แม้ความหวังในการกู้แผ่นดินจะเป็นเรื่องไกล แต่ไม่เป็นไรนี่ เรากู้ชาติผ่านวัฒนธรรมได้ สังคมที่เปลี่ยน เราไม่ได้ยึดว่าต้องของเก่าเท่านั้น แต่ถ้ามันเป็นเกราะป้องกันได้ ก็ควรส่งเสริม ให้พวกเขาไปปรับเอา ตอนนี้อาเซียนจะมา เราไม่ขออะไร เราขอให้เราเป็นหนึ่งในความหลากหลายก็พอ ”


ดังนั้นการปลูกฝังความรู้เผ่าชนให้คงอยู่คงไม่พอ การถ่ายทอดสหวิชาสากลเพื่อการปรับตัว จากการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะการเป็นประชาคมอาเซียนจึงเป็นสิ่งจำเป็น การติดอาวุธทางปัญญาจากประเพณีและวิชาการร่วมกัน จึงเป็นสิ่งที่พอทำได้ท่ามกลางข้อจำกัดที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่นี้


สอดคล้องกับคำกล่าวของ น้องห่าน สาวน้อยวัย 14 ปี ผู้มีฝันในอาชีพมัคคุเทศก์ เธอเล่าหลังจากเสร็จสิ้นจากการเรียนว่า นอกเหนือการเรียนที่โรงเรียน ความรู้พิเศษด้านภาษาอังกฤษ และไต รวมถึงประเพณีดั้งเดิมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันจะช่วยเติมเต็มไม่เพียงความฝันของเธอให้สำเร็จ แต่รวมถึงเผ่าชนคนไตด้วย เธอจึงคาดหวังจะได้รับโอกาสมากขึ้นจากการร่วมมือของภูมิภาค และใช้โอกาสนั้นแสดงความเป็น “ไต” ให้อาเซียนยอมรับ เพราะเธอเชื่อว่าอาเซียน คือ ความเป็นหนึ่งอย่างหลากหลาย


นี่ความพิเศษของอาเซียนในการร่วมเป็นหนึ่งโดยไม่ละทิ้งความหลากหลาย โจทย์ของอนาคตเหล่านี้จำต้องอาศัยการร่วมมือทุกส่วน ไม่ใช่แค่กฎบัตร หรือปฏิญญาระดับโครงสร้าง หากรวมถึงคนในทุกเชื้อชาติ ทุกสังคม บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งความแตกต่าง อันเป็นสิ่งสวยงาม



แม้คนทั้งสองจะต่างอายุ ความหวังและความฝัน หากมีจุดร่วมเหมือนกันคือ ความเป็นห่วงอนาคตเผ่าชนคนไทใหญ่ ที่อาจสูญสิ้นกลายเป็นอื่น ท่ามกลางการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในอนาคต อย่างไรก็ตาม พวกเขายังเชื่อและมอบความหวังกับประชาคมอาเซียนที่จะไม่ทอดทิ้งพวกเขา ในฐานะพี่น้องร่วมบรรพบุรุษ และหวังว่าอาเซียนจะมีวิธีการในการเป็นหนึ่ง ท่ามกลางการคงอยู่ของความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ วัฒนธรรม และความคิด เพราะเขาก็ต่างรักประเพณี วัฒนธรรมของเผ่าชนเช่นเดียวกับเรา


สำหรับผม การเดินทางเก็บข้อมูลในครั้งนี้ ไม่เพียงจะพอตอบคำถามตัวเอง และอาจารย์ได้ในระดับหนึ่งว่าบทบาทของเราจะอยู่ในลักษณะไหน เราได้ทำหน้าที่เพื่อทุกคนจริงหรือไม่ เหนือสิ่งอื่นใดการได้สัมผัสกับพวกเขาทำให้รู้ว่า ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการมีอยู่ของเผ่าชนที่ตนรัก และแม้ผมเองจะเป็นคนไทย แต่แท้จริงแล้ว เราต่างเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดที่ยากจะหาความต่างได้


ทั้งไทใหญ่ และผม เราต่างต้องเดินทางหาคำตอบ บนความท้าทายที่ไม่เหมือนกัน อาเซียนนับเป็นโจทย์นึงที่เราทั้งสองต้องเผชิญ พวกเขาจะคงอยู่ซึ่งความเป็นไทใหญ่ และปรับตัวให้เหมาะสมกับโอกาสอาเซียนนี้อย่างไร เป็นเรื่องที่เราคงตอบแทนไม่ได้ ส่วนคำตอบของผมแม้จะชัดเจนขึ้น หากมันก็ไม่มีถูกผิด สั้นและยาว การตามหาและเพิ่มพูนความหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินต่อไป


I จาก โจทย์ ASEAN AND I ของผม จึงไม่ได้แปลความแค่ผมคนเดียว หากหมายถึงประชาคมอาเซียนทุกคน เพราะหน้าที่นิสิตด้านสื่อสารมวลชน ถึงอย่างไรก็แยกไม่ออกจากเพื่อนร่วมสังคมอยู่ดี


เมื่อดวงจันทร์ประดับอยู่เวิ้งฟ้า เป็นสัญญาณเวลาแยกย้ายระหว่างผมและเมียวอ่อง เราต่างออกจากหมู่บ้าน เขามาส่งผมที่ห้างแห่งหนึ่งเพื่อต่อรถเดินทางกลับ เมื่อหันหลังจากไปไม่ทันไร ก็ได้ยินเสียงของร่ำลาที่ไม่คุ้นหูนักว่า “ ไว้จะสอนภาษาไตให้นะ” เราต่างเดินทางหาคำตอบ โดยไม่มีพรมแดนมาขวางกั้น เพราะพรมแดนมันมีแต่แผนที่เท่านั้น ไม่มีไว้สำหรับระหว่างหัวใจ – ASEAN AND I


โดย นิติธร สุรบัณฑิตย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น