วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555
“เยียวยา” หรือ “ซ้ำเติม”ทาสยานรกภายใต้นโยบายปราบยาเสพติดของ KIO
เด็กผู้หญิงคนหนึ่งปรากฏตัวจากห้องมืดๆ ที่รายล้อมไปด้วยหน้าต่างลูกกรง ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งนั่งเบียดเสียดกันอยู่บนพื้นสกปรกในห้องนั้น บางคนอุ้มลูกน้อยไว้ในอก พวกเธอดูเหมือนคนติดยา แก้มตอบและตาโหล
จางมา ดอยบู คือหนึ่งในจำนวนนั้น สายตาว่างเปล่าของเธอจ้องมองลงที่พื้นขณะที่กำลังอธิบายว่า แม่ของเธอเป็นผู้ทำให้เธอรู้จักกับเฮโรอีน เธอกับน้องชายของเธอลักลอบขนส่งยาเสพติดตามแนวชายแดนพม่า-จีนในสมัยเด็ก จนกระทั่งแม่ของเธอถูกเจ้าหน้าที่บังคับให้ไปบำบัดเพื่อเลิกยาเสพติด ในขณะที่แม่ของเธอไปบำบัด ไม่มีใครดูแล คนค้ายาของแม่ได้พาเธอและน้องชายไปอยู่ด้วยที่เมืองจีน ที่นั่น เธอและน้องชายถูกเธอบังคับให้ทำงานแลกอาหาร
“มีอยู่วันหนึ่ง เธอเอายามวนใส่ในกระดาษและสอนวิธีจุดด้วยแช็คให้ฉันดู เธอบอกว่า ถ้าฉันใช้มัน ฉันจะทำงานได้มากขึ้น ฉันไม่รู้ว่ามันคืออะไร จนกระทั่งสามีของเธอบอกฉันตอนหลัง”
หนึ่งเดือนผ่านไป แม่ของเธอรู้ว่าเธอและน้องชายได้หายตัวไป จึงได้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ให้ตามหา และในขณะนี้ เธอและน้องชายเป็นผู้บำบัดที่อายุน้อยที่สุดในศูนย์บำบัดยาเสพติดที่ก่อตั้งขึ้นโดย องค์กรอิสรภาพคะฉิ่น (KIO) ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์บัญชาการใหญ่ ณ เมืองไลซา
ศูนย์บำบัดยาเสพติดแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปราบปรามการใช้ยาเสพติดของ KIO ในพื้นที่รับคะฉิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเยาวชนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ที่ติดยาเสพติด โดยที่ผ่านมามีเยาวชนเข้ามาบำบัดแล้วกว่าหนึ่งพันคน คนที่ถูกจับกุมพร้อมยาเสพติดจะถูกจับกุมและคุมขังตั้งแต่ 15 วันถึง 6 เดือน ซึ่ง 28 คนจากจำนวนผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 118 คนในขณะนี้เป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่ติดเฮโรอีน ฝิ่น หรือ ยาบ้า ซึ่งสามารถหาได้ทั่วไปในพม่า
“บางคนก็สมัครใจเข้ามา บางคนก็ถูกจับ” ร้อยเอก ฟอว์ดอว์กัม หัวหน้าหน่วยงานเผย “เราจับกุมทั้งคนขายและคนเสพ เพราะถ้าไม่มีคนขายก็จะไม่มีคนเสพ”
ผู้ที่ถูกจับกุมจะถูกควบคุมตัวไว้ในห้องคอนกรีต ภายในมีเสื่อและแผ่นกระดาษสำหรับใช้เป็นนอน อาคารถูกล้อมไปด้วยรั้วลวดหนาม ห้องขังห้องหนึ่ง ชายคนหนึ่งถูกตรวนโซ่เหล็กตั้งแต่หัวจรดเท้า
“เขาพยายามที่จะหนี” เจ้าหน้าที่ KIO คนหนึ่งกล่าว “นานาชาติไม่เข้าใจอะไรอย่างนี้หรอก”
คนที่เข้ามาใหม่จะถูกขังเดี่ยวเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อล้างพิษ ร้อยเอก ฟอว์ดอว์กัม รีบเสริมว่า ปกติจะขังไว้เป็นกลุ่มเพราะมีคนพยายามที่จะฆ่าตัวตาย “วิธีนี้พวกเขาสามารถช่วยดูแลกันได้ คนที่มาที่นี่บางคนคลุ้มคลั่งเพราะเสพยาบ้ามากเกินขนาด พวกเขาจะเอาแต่ร้องตะโกนเสียงดัง แต่ตอนนี้หายแล้ว”
มะรัน จาไม หญิงวัย 31 ปี ยอมรับว่าเธอเสพเฮโรอีนตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์และคลอดลูกก่อนกำหนดหลังจากถูกจับกุม
“หมอแนะนำให้เธอเสพเฮโรอีนบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้คลอดก่อนกำหนด ซึ่งเราก็อนุญาต นานาชาติอาจจะตำหนิที่เราทำอย่างนี้ แต่ที่นี่เราไม่มียาที่ทันสมัย” ร้อยเอก ฟอว์ดอว์กัม กล่าว
มะรัน จาไม กลับมาเสพเฮโรอีนอีกครั้งหลังจากถูกปล่อยตัวและสุดท้ายก็ต้องกลับมาที่นี่อีกครั้ง ครั้งนี้เธอยืนยันที่จะพยายามบำบัดเพื่อลูกสาวของเธอ
ในขณะที่มะรัน จาไมกำลังพูดอยู่นั้น ร้อยเอก ฟอว์ดอว์กัม ออกจากวงสนทนาเข้าไปยังห้องติดกันและออกมาพร้อมกับถุงบรรจุผงสีขาวและสีน้ำตาลหลายถุง เขาวางไว้บนโต๊ะต่อหน้าผู้บำบัดและหัวเราะออกมาเบาๆ เขาบอกว่า KIO สามารถยึดยาเสพติดได้จำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งยาเสพติดเหล่านั้นจะถูกเก็บไว้ที่ศูนย์แห่งนี้ โดยจะนำออกมาเผาทำลายในวันสาเสพติดโลกทุกปี
“โครงการนี้เป็นโครงการที่มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จอย่างมาก” เขากล่าวด้วยความภาคภูมิใจ “ขณะนี้แทบจะไม่มีคนติดยาแล้วในไลซา ถึงแม้เราจะพยายามค้นหา แต่ก็ไม่พบคนติดยาอีกเลย”
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ประณามการคุมขังผู้ติดยาเสพติดโดยเฉพาะเยาวชน โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาสหประชาชาติได้กล่าวแสดงความเป็นห่วงศูนย์บำบัดยาเสพติด ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสุขภาพของผู้ถูกกักขัง ซึ่งรวมไปถึง ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
แม้ว่า KIO จะดำเนินงานร่วมกับองค์กรเอ็นจีโอระหว่างประเทศที่สนับสนุนยาต้านเชื้อสำหรับผู้ป่วยเอชไอวี แต่กลุ่มเอ็นจีโอที่ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่เผยว่า เจ้าหน้าที่ผูกขาดการรักษา นอกจากนี้นโยบายของ KIO ทำให้ไม่ให้สามารถใช้วิธีการลดความเสี่ยงอย่าง โครงการแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยาได้
“ในพื้นที่นี้ (ไลซา) เราไม่สามารถติดตั้งจุดทิ้งเข็มฉีดยา หรือ แจกจ่ายยาได้ เพราะ KIO กำลังทำโครงการกวาดล้างยาเสพติดอยู่ ทำให้กิจกรรมลดความเสี่ยงหลายอย่างไม่สามารถทำได้” บอว์ก คุณ จากองค์กรพัฒนาคะฉิ่น เผย
ลาริบ จากองค์กร RANIR ที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในไลซากล่าวว่า “นโยบายการปราบปรามยาเสพติดของ KIO จะทำให้การติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มมากขึ้น เพราะคนที่ติดยากลัวที่จะถูกจับและต้องแอบลักลอบเสพในสถานที่ลับ ซึ่งมีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และยากต่อการค้นหาเพื่อช่วยเหลือพวกเขา”
ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า อาชญากรรมลดลงมากในไลซานับตั้งแต่มีโครงการปราบปรามยาเสพติดของ KIO ในขณะที่ร้อยเอก ฟอว์ดอว์กัม ยอมรับว่าได้ผลักดันให้เยาวชนที่มาเรียนที่ไลซาและเรียนจบแล้วกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม โดยมีค่าเดินทางให้ด้วย จึงไม่สามารถวัดผลที่แท้จริงของโครงการได้
นอกจากนี้กองกำลังของรัฐบาลที่เข้ามาประชิดกองกำลังชนกลุ่มน้อยทำให้ความสามารถในการเข้าตรวจสอบผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ยังเป็นที่กังขา ขณะที่เจ้าหน้าที่ไปเจอจางมา ดอยบูและจังมา ไคแซง น้องชาย ขณะนั้นไม่มีใครดูแลพวกเขา เพราะแม่ถูกกักขังอยู่ที่ศูนย์บำบัดยาเสพติดแห่งนี้ และเมื่อครบกำหนดพวกเขาจะได้กลับไปอยู่กับแม่อีกครั้ง ถึงแม้ว่า มีความเป็นไปได้ว่า พวกเขาอาจจะต้องกลับมาที่นี่อีกในอนาคต.
จากบทความ Drug addicts face abuse in Kachin state โดย HANNA HINDSTROM วันที่ 24 สิงหาคม 2555
จาก DVB
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น