วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

หยาดเหงื่อหลังคราบน้ำตา : ชาวโรฮิงยาถูกบังคับใช้แรงงานหลังความขัดแย้ง

เหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอาระกันจากความขัดแย้งกันระหว่างชาวโรฮิงยากับชาวพุทธเพิ่งจะผ่านพ้นไปได้ไม่นาน ล่าสุดมีรายงานว่าชาวโรฮิงยาได้ถูกบังคับใช้แรงงานในการฟื้นฟูบ้านเมืองที่เสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

 

รายงานของ Arakan Project กลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า กองกำลังทหารพม่าและกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF ได้บังคับเกณฑ์ชาวโรฮิงยาจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่เด็ก เพื่อใช้แรงงานในการก่อสร้างซ่อมแซมหมู่บ้านที่ถูกเผาทำลายในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

“ในพื้นที่ที่เคยมีความขัดแย้งในเมืองมงดอว์ ไม่มีการบังคับใช้แรงงานมากว่าสองเดือนแล้ว แต่ตอนนี้ค่อยๆ เริ่มมีให้เห็นแล้ว” คริส เลวา กล่าวกับสำนักข่าว DVB

 

นับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม กองทัพพม่าได้เริ่มฟื้นฟูก่อสร้างอาคารในหมู่บ้านสองแห่งคือใน บากอนนา และ ญองชอง ที่ได้รับความเสียหายโดยใช้แรงงานชาวโรฮิงยาและให้ค่าตอบแทนเป็นข้างสารครึ่งกิโลกรัมต่อวัน

 

“เราไม่มีความสุขเลยและเราก็ไม่ได้สมัครใจมาทำงานที่นี่ด้วย แต่ถ้าเราปฏิเสธไม่รับข้าวสารที่แจกให้ ทหารก็จะตีเรา นี่คือสาเหตุที่ทำให้เราต้องรับข้าวจำนวนน้อยนิดนี้ เราต้องทำงานที่นี่เพราะไม่มีทางเลือก” ชาวโรฮิงยาคนหนึ่งเปิดเผย

 

เลวายังกล่าวอีกว่า มีการหยุดบังคับใช้แรงงานไปช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ทีมสืบสวนเหตุการณ์ความไม่สงบที่จัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจสำหรับตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว มาลงพื้นที่รัฐอาระกันพอดี

 

ภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ทำให้สถานการณ์การบังคับใช้แรงงานยิ่งเลวร้ายลง ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่ตอนเหนือของเมืองมงดอว์และตอนเหนือของเมืองบูทิดองที่มีการจัดกำลังทหารไปดูแลเขตแดนที่ติดกับบังกลาเทศด้วย

 

“ผลที่เกิดขึ้นคือ มีความต้องการลูกหาบและคนนำทางเพิ่มขึ้นจำนวนมากในพื้นที่ตอนเหนือของเมืองมงดอว์และตอนเหนือของเมืองบูทิดอง เพื่อลำเลียงเสบียงให้กับทหารที่ลาดตระเวนอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว”

 

เลวาย้ำว่า การบังคับใช้แรงงานเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่เป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา  ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีความไม่พอใจของชาวโรฮิงยาที่อยู่ในสถานะคนไร้รัฐ และถูกปฏิเสธความเป็นพลเมืองรวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานจากรัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว

 

“การบังคับใช้แรงงานส่วนหนึ่งของการเลือกปฏิบัติที่ชาวโรฮิงยาเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ยังไม่มีใครพูดถึง ภาคเหนือของรัฐอาระกันเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีอัตราการบังคับใช้แรงงานมากที่สุดแห่งหนึ่งในพม่า แต่เฉพาะชาวโรฮิงยาเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ”

 

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์กรแรงงานสากล หรือ ILO ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับรัฐบาลพม่า โดยให้คำมั่นว่าจะยุติการใช้แรงานทั่วทั้งประเทศพม่าให้ได้ภายในปี 2015 และแผนการดำเนินงานเพิ่งได้รับความเห็นชอบเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งรวมไปถึงการสร้างความตระหนักและการเข้าถึงการร้องเรียนสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับใช้แรงงาน

 

แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องยากสำหรับชาวโรฮิงยาเพราะถูกจำกัดความเคลื่อนไหว ปัจจุบันชาวโรฮิงยาพลัดถิ่นต้องอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวที่มีสภาพซอมซ่อ แยกจากประชาชนส่วนใหญ่และโดดเดี่ยวจากโลกภายนอก

 

“เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายดูเหมือนจะลืมนึกถึงข้อตกลงร่วมกันระหว่าง ILO กับรัฐบาลพม่า เพราะยังมีการบังคับใช้แรงงานอยู่อย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม ทั้งโดยฝีมือกองทัพเองและกองกำลังพิทักษ์ชายแดน”

 

สตีฟ มาร์แชล โฆษกของ ILO กล่าวว่า ILO กำลังอยู่ในขั้นตอนของการติดตามรายงานล่าสุดจากรัฐอาระกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เขายอมรับว่าเข้าถึงได้ยาก

 

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ILO ได้ยกเลิกมาตรการลงโทษพม่าที่ใช้เมื่อปี 2000 ในรายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์การบังคับใช้แรงงานในประเทศ ซึ่งเลวากล่าวว่าเป็นเรื่องที่ “น่าผิดหวัง” ขณะที่มาร์แชลยืนยังว่า ILO จะไม่ล้มเลิกที่จะต่อสู้กับการบังคับใช้แรงงานในรัฐอาระกัน และพื้นที่อื่นๆ ในพม่า

 

“เลวาอาจจะรู้สึกผิดหวัง  มันก็ไม่ใช่การตัดสินใจของ ILO แต่เป็นสมาชิก 186 ประเทศทั่วโลกที่ติดสินใจเรื่องนี้ และก็เป็นการตัดสินใจในระดับสูง ”

 

“ความจริงก็คือ สถานการณ์ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยแม่แต่น้อย สำหรับการยุติการใช้แรงงานซึ่งเป็นความรับผิดชอบของ ILO และรัฐบาลพม่า”

 

จาก บทความ Forced labour flourishes in post-conflict Arakan state โดย HANNA HINDSTROM 14 กันยายน 2555 www.dvb.no

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น