เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลพม่าได้ประกาศถอนรายชื่อกว่าสองพันคนออกจากบัญชีดำหรือ แบล็คลิสต์ ที่มีทั้งนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ทนายความ ผู้ที่เคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยและนักการเมือง รวมอยู่ด้วย
คิมแดจุง อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และแซม เรนซี นักการเมืองกัมพูชา ดร.ชีซูนจวน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากสิงคโปร์และอดีตเลขาธิการ เมเดลีน เค ออล์ไบรท ที่เคยมีชื่ออยู่ในลิสต์ก็ถูกถอนชื่อออกไปแล้ว ขณะที่หลายคนที่รัฐบาลไม่ได้ประโยชน์จากการลบรายชื่อออกก็ยังคงมีชื่ออยู่ในบัญชี อาทิ นางโคราซอน อาควิโน อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ผู้ล่วงลับไปแล้วและนายอูตอง นักข่าวพม่าที่เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว นอกจากนี้ ชื่อของซอนนี่ โบโน นักร้องดังชาวอเมริกันที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ 5 มกราคม 1998 ก็มีชื่อในบัญชีดำฉบับอัพเดทอยู่กับเขาด้วย
น่าประหลาดที่หน่วยข่าวกรองพม่าจะไม่รู้กันเลยหรือว่า คนที่พวกเขาจับตามองอยู่ตายไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว หรือไม่ก็อาจจะสับสนกับ โบโน นักร้องนักดนตรีชาวไอริชที่แต่งเพลง “Walk- on” ให้กับนางอองซาน ซูจี
ด้วยเหตุนี้บัญชีดำฉบับอัพเดทจึงบ่งบอกได้ถึงความล้มเหลวและขาดการประสานงานกันระหว่างกระทรวงต่างๆ ในรัฐบาลพม่า นอกจากนี้ ในรายชื่อยังพบข้อผิดพลาดอย่างการสะกดผิดๆ และรายชื่อลึกลับแปลกๆ ที่โผล่มา อย่าง “Mr. Nick” ชาวอังกฤษ “Lee (Buyer)” จากเกาหลีใต้เป็นต้น ในส่วนของผู้เสียชีวิตที่มีอยู่ในรายชื่ออาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ที่รวบรวมรายชื่อไม่เคยมีการอัพเดทเลย หรือคอมพิวเตอร์อาจจะเสียหรืออย่างไร
บรรดาชาวพม่าที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศที่ตัดสินใจกลับบ้านในปีนี้ ทางกระทรวงมหาดไทยก็บอกว่า รัฐบาลจะยังคงเก็บชื่อพวกเขาไว้ในบัญชีดำ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศและสำนักประธานาธิบดีกลับบอกว่า รายชื่อของพวกเขาถูกลบไปแล้ว สร้างความสับสนงงงวยไปตามๆ กัน
เรื่องสนุกยังไม่หมดเพียงแค่นี้เพราะรายชื่อบัญชีดำฉบับเต็มยังไม่ได้ประกาศออกมา ซึ่งหลายคนคาดการณ์ว่า อาร์คบิช็อป เดสมอนด์ ตูตู และองค์ทะไลลามะ เจ้าของรางวัลโนเบล อาจมีชื่อในบัญชีดำในฐานะอาชญากรด้วย เมื่อปีที่แล้ว องค์ทะไลลามะ มีความประสงค์ต้องการมาสักการะเจดีย์ชเวดากอง แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังรอวีซ่าอยู่ อาจเป็นเพราะท่านเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตคู่แค้นกับรัฐบาลจีน
แล้วอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู บุชกับนางลอร่าหละทั้งสองได้ส่งเรือรบบรรทุกสิ่งของเพื่อช่วยเหลือชาวพม่าที่ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กิสเมื่อปี 2008 รวมทั้งเคยพบปะกับผู้ลี้ภัยและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวพม่าที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยมาแล้ว อย่างนี้คงรอดพ้นบัญชีดำของทางการพม่าไปได้ยาก
ส่วนคนที่รอดพ้นบัญชีดำอย่างบรรดาเจ้าพ่อค้ายาเสพติดก็รอดไปได้อย่างน่าฉงน อย่าง นายเว่ยเซียะกังและอีกหลายๆ คนไม่มีใครกล้าแตะ แถมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็เข้าไปนั่งในสภาได้เฉย ย้อนไปในอดีต ขุนส่า เสียชีวิตอย่างสงบอยู่ในบ้านพักของรัฐบาลพม่า เขาไม่เคยถูกจับกุมแม้ปปส.ของยูเอ็น จะตั้งค่าหัวไว้ถึง 2 ล้านดอลลาร์
พ่อค้ายาเสพติดเหล่านี้ฟอกเงินโดยผ่านธนาคารและการทำธุรกิจในพม่า มีหลายคนกล่าวเสียดสีว่า “อันธพาล อาชญากร และมือสังหารที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบร่มรื่นในย่างกุ้งและเนย์ปีดอว์ไม่เห็นมีชื่ออยู่ในบัญชีเลย !”
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายซอว์เท แห่งสำนักประธานาธิบดีบอกกับสำนักข่าวอิรวดีว่าบัญชีดำและบัญชีเฝ้าระวังจะยังคงมีอยู่ต่อไป รัฐบาลจะตรวจสอบ ทบทวน และอัพเดทรายชื่อต่อไป นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงในพม่า ประธานาธิบดีได้ออกโรงเชิญชวนชาวพม่าที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่นอกประเทศให้กลับพม่าแต่พวกเขาก็ยังคงถูกจับตามองอยู่ พวกเขาไม่รู้สึกหรือว่าขัดแย้งอยู่
ดูเหมือนว่า เรื่องของแบล็กลิสต์จะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน.
ปล.ผู้เขียนไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากเกรงว่าจะถูกขึ้นชื่อในแบล็คลิสต์ของทางการพม่า
จาก บทความ Who’s Next for Burma’s Blacklist? โดย IRRAWADDY 7 กันยายน 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น