วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เสียงจากริมทาง ณ "ย่างกุ้ง"

12311459_805183692944517_1446485729_o

รถแท็กซี่ (ยานพาหนะที่ครองพื้นที่ส่วนใหญ่บนท้องถนนย่างกุ้งในเวลานี้) พาเราฝ่าการจราจรที่ติดขัดมุ่งหน้าไปยังจุดหมายปลายทางแถบชานเมืองย่างกุ้ง ซึ่งตลอดทางจะได้ยินเสียงเพลงแด๊นซ์ ตึบๆๆ กระหึ่มออกมาจากลำโพงตัวเขื่องบนล้อเข็น รถสามล้อ หรือรถกระบะ ที่เปิดเสียงกันเต็มแม็กซ์ เล่นเอาลูกเด็กเล็กแดง หรือคนที่ไม่คุ้ยชินอาจถึงกับใจสั่นได้ ขบวนดิสโก้เธคเคลื่อนที่ขนาดย่อม ค่อยๆ เคลื่อนไปข้างหน้าโดยมีคนร่วมขบวน บ้างก็เป็นชายแต่งหญิง หรือสวมชุดรูปสัตว์ต่างๆ หรือนางรำ คอยร่ายรำกันอย่างสนุกสนานคึกครื้น

ใครที่มีโอกาสไปเยือนประเทศพม่าหลังออกพรรษาอย่างช่วงเวลานี้ จะพบว่า ย่างกุ้ง และเมืองต่างๆ ทั่วประเทศต่างคึกคักไปด้วยเสียงเพลงจากขบวนแห่ตามท้องถนน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการฉลองชัยชนะของพรรคเอ็นแอลดีในการเลือกตั้งแต่อย่างใด แต่เป็นขบวนแห่เรี่ยรายเงินเข้ากองกฐิน หรือที่ภาษาพม่าเรียกว่า "กะเฐ่ง" เพื่อถวายวัดนั่นเอง

ขบวนกฐินมีทั้งขนาดใหญ่อลังการ มีนางรำร่ายรำบนรถหกล้อเรียกความสนใจจากผู้คน และแบบกะทัดรัดขนาดย่อม ซึ่งมีให้เห็นกันแทบทุกซอย แตะละขบวนจะมีคนถือขันสีเงินที่คอยเรี่ยรายเงิน เขย่าเหรียญเสียงดังก๊องแก๊ง ขณะที่โฆษกประกาศร้องเรียกให้ผู้ที่พบเห็นร่วมกันบริจาคเงินทำบุญบ้างครั้งขบวนเรี่ยรายก็มาจ๊ะเอ๊กันบ้าง จึงต้องมีการเจรจาเพื่อเลี่ยงเส้นทางไม่ให้ทับกันก็มี

ในส่วนของข้างทาง ตามบ้านเรือน โรงเรียน ร้านค้าต่างๆ จะเห็นต้นกฐิน หรือซุ้มเครื่องกฐิน ที่ประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ หรือธนบัตร จัดวางตกแต่งอย่างสวยงาม

12311767_805183826277837_1449357901_o

ดอว์ซานติ้นท์ วัย 59 ปี ชาวบ้านแถบยานขิ่น ในย่างกุ้ง เผิดเผยในสื่อหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทมส์ว่า "ตอนสมัยที่ยังเป็นเด็ก แทบจะไม่มีลำโพงแบบนี้ให้เห็น ผู้คนจะเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านกันสดๆ แต่งตัวชุดพื้นบ้าน เห็นแล้วเพลิดเพลิน" เธอเล่าย้อนถึงอดีต

แต่ตอนนี้เหรอ "บางที กำลังนั่งดูทีวี อยู่ๆ ก็ได้ยินเสียงดังจากลำโพงบนท้องถนน มันทำให้เสียอารมณ์" จี เปีย วัย 27 ปีจากเขต ตาร์มวย กล่าวในหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทมส์

อูโองขิ่น วัย 56 ปี จากเขตบาฮาน บอกว่า "บางทีคุณจะเห็นคนหนุ่มๆ ออกเรี่ยรายเงิน และก็เต้นไปด้วย บางคนก็เมาเหล้า มันไม่ถูกต้อง สงสัยว่าจะเป็นการหาประโยชน์จากประเพณี เป็นการเรี่ยรายเงินเพื่อความสนุกสนานเสียมากว่า ซึ่งน่าละอายใจ" เขากล่าว

ด้าน โกซินโก หนุ่มวัย 22 ปี ที่มักจะร่วมขบวนเรี่ยรายเงินกฐินอยู่บ่อยครั้งกล่าวว่า "เราแค่อยากสนุกบ้าง เราคิดว่าผู้คนก็อยากฟังเพลงที่สนุก เราไม่ได้เปิดเพลงที่ใช้คำไม่สุภาพ และทุกคนในกลุ่มของเราไม่มีใครเมาเหล้าตอนที่เรี่ยรายเงิน เหมือนอย่างบางคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัย"

เมียวแซต คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทมส์กล่าวในบทความว่า มันเป็นประเพณีที่มีเสียงเพลงได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำบุญ ซึ่งก็ไม่ได้ต้องการให้เปลี่ยนแปลงอะไรถ้าทำอย่างถูกต้อง "เพราะบุญ ถ้าได้มาด้วยการทำบาป มันก็คือบาป"

----------


อีกฟากหนึ่งของถนน บริเวณเจดีย์ชเวดากอง กลุ่มคนหนุ่มสาวไทใหญ่กลุ่มหนึ่งก็กำลังออกมาเรี่ยรายเงินจากผู้ที่สัญจรไปมาเช่นกัน ในมือของพวกเขามีกล่องรับบริจาคเงิน ในขณะที่ปากก็ต่างป่าวร้องให้คนร่วมทำบุญ คนต่างภาษาอาจไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขากำลังสื่อสาร และอาจคิดไปว่า คงไม่ต่างจากขบวนกฐินที่เพิ่งเดินผ่านมา หากไม่เห็นข้อความ "STOP WAR" "PRAY FOR OUR SHAN STATE" บนป้ายไวนิลที่มีรูปแผนที่รัฐฉาน ที่หญิงสาวคนหนึ่งในกลุ่มถืออยู่ ซึ่งตอนนี้ทำให้เราทราบว่า นี่ไม่ใช่ขบวนกฐิน และปลายทางของเงินทำบุญเหล่านี้ก็ "ไม่ใช่วัด"

ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ทั่วโลกต่างเฝ้าจับตามองปรากฎการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของพม่า นั่นคือการเลือกตั้งทั่วไป ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และผลการเลือกตั้งก็คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า พรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ในระหว่างนั้น น้อยคนจะทราบว่า กองทัพพม่าได้โจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ยอมลงนามหยุดยิงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกองกำลังไทใหญ่เหนือ SSPP/SSA ที่การโจมตีของกองทัพพม่า ทั้งโจมตีทางอากาศ และการคุกคามชาวบ้าน ตั้งแต่ต้นเดือนตุลามคมเป็นต้นมา ไม่เว้นแม้แต่วันที่มีการเลือกตั้ง จนถึงขณะนี้ทำให้ประชาชนเรือนหมื่นต้องหนีออกจากหมู่บ้านไปหลบภัยอยู่ตามวัด ตลาด ฯลฯ ในหมู่บ้านอื่น ซึ่งสถานการณ์ยังคงคุกรุ่น และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงหลังการเจรจาครั้งล่าสุด (24 พฤศจิกายน)ไม่เป็นผล ในขณะที่ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรภาคประชาสังคม เป็นไปอย่างจำกัดและถูกเพิกเฉยจากรัฐ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://goo.gl/enSKgS) ซึ่งขณะนี้ กำลังขาดแคลนอาหารอย่างหนัก หนุ่มสาวไทใหญ่เหล่านี้จึงออกมารวมตัวกันเพื่อรับบริจาคอย่างที่เราเห็น

ในอดีตเราอาจไม่มีทางเห็นภาพการออกมาชุมนุมกันเช่นนี้ยุครัฐบาลทหาร และนี่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เรารับรู้ได้ ทว่า สิ่งที่พวกเขากำลังเรียกร้องอยู่นั้นก็ทำให้รู้อีกเช่นกันว่า ยังมีอีกหลายอย่างในพม่าที่ยัง "ไม่เปลี่ยน"

เสียงป่าวร้องของพวกเขาค่อยๆ จางลงเมื่อรถแท็กซี่ค่อยๆ พาเราแล่นออกจากสถานที่แห่งนั้น และถูกแทนที่ด้วยเสียงเพลงจากขบวนกฐินในเวลาต่อมา

และนี่คือสิ่งที่ปรากฎบนท้องถนนของกรุงย่างกุ้งในยามนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น