วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559

จากดินสู่ดาว เปิดใจ "แสงเมือง"อดีตอาสาสมัครเพื่อชุมชน สู่การเป็นว่าที่ส.ส.อายุน้อยแห่งเมืองกึ๋ง รัฐฉาน



การเลือกตั้งปี 2558 ครั้งประวัติศาสตร์ของพม่าได้ผ่านพ้นไปแล้ว และเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลชุดใหม่นำโดยพรรค NLD ของนางซูจีจะเข้ามาบริหารประเทศในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หลายคนเฝ้าจับตามองศักราชใหม่การเมืองของพม่าที่ดูเหมือนจะสดใสแม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามก็ตาม การเลือกตั้งที่ผ่านมา นักการเมืองหน้าใหม่หลายคนได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจชาวบ้าน และกลายเป็นความหวังใหม่ของบ้านเมือง หนึ่งในนั้นคือ จาย (นาย)"แสงเมือง" วัย 34 ปี นักการเมืองคลื่นลูกใหม่ และเพิ่งเป็นบัณฑิตจบจากคณะ English Communication ภาคอินเตอร์ จากมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2557 หลังเรียนจบได้ตัดสินใจกลับรัฐฉาน และในปี 2558 ตัดสินใจลงแข่งขันเลือกตั้งในฐานะผู้สมัครจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan Nationalities League for Democracy -SNLD) หรือพรรคหัวเสือ ในเขตเลือกตั้งเมืองกึ๋ง โดยสามารถคว้าชัยชนะเลือกตั้งเข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ โดยหวังจะเอาความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากต่างประเทศมาพัฒนาบ้านเกิด เมืองกึ๋ง ทางใต้รัฐฉาน



อยากให้เล่าย้อนถึงชีวิตก่อนที่จะมาสมัครลงเลือกตั้งเป็น ส.ส.เมืองกึ๋ง

ผมเกิดที่เมืองเกซี แม่เป็นคนเมืองเกซี พ่อเป็นคนเมืองกึ๋ง พ่อผมเสียตั้งแต่ตอนผมเด็กๆ ตั้งแต่ผมอายุแค่ 10 เดือน จากนั้นก็ย้ายมาอยู่เมืองกึ๋ง เรียนที่เมืองกึ๋งตั้งแต่ ป.4 ป.5 ช่วยเหลืองานสมาคมภาษาและวัฒนธรรมไทใหญ่มาโดยตลอด เช่นงานปีใหม่ไทใหญ่ งานบุญงานต่างๆในเมือง พอผู้ใหญ่เห็นว่าตั้งใจทำงาน ทางผู้ใหญ่ก็เลยให้การสนับสนุนเรื่อยมา พอจบชั้น 10 (เทียบเท่าม.6) ผมก็ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ไปโน่นไปนี่ ไปย่างกุ้ง ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยเหมือนคนอื่น ชอบพยายามด้วยตัวเอง ที่บ้านก็ไม่ได้สนับสนุนทางการเงินได้ แต่ผมก็ไปอยู่ย่างกุ้ง ไปเรียนคอมพิวเตอร์เมื่อปี 2544 แต่ก็ไม่รู้เรื่อง จากนั้นปี 2545 ก็กลับมาเรียนที่มหาวิทาลัยที่เมืองตองจี เรียนคณะประวัติศาสตร์พม่า ช่วงเวลานี้ไม่ค่อยได้อยู่กับที่ หากมีสอนพูดภาษาอังกฤษเราก็ไป ช่วงหน้าร้อนก็ไปเป็นครูอาสาสมัครสอนภาษาไทใหญ่ให้กับเด็กๆ แต่สิ่งที่ทำให้มีแรงบันดาลใจเกิดขึ้นก็คือในปี 2546 ที่ได้ไปสอนหนังสือที่เมืองเหยน เมืองหม่อ ทางเหนือรัฐฉาน ในพื้นที่ซึ่งเป็นสงครามกันอยู่ตอนนี้นะ ไปๆมาๆ ระหว่างเป็นครูอาสาแล้วก็กลับมาเรียน ก็ทำอยู่อย่างนี้ ช่วงเวลานั้นก็ยังไม่รู้อะไร ก็คิดแต่เพียงว่า ทำอะไรได้ก็ทำไป จากนั้นในปี 2548  ก็ได้ไปเข้าอบรมเรื่อง การเป็นผู้นำ การพัฒนาความสามารถ เรื่องสิทธิมนุษยชนและพื้นฐานเรื่องการเมือง การศึกษาทางเลือกเป็นต้น ซึ่งเข้าอบรม 10 วัน  โดยมีการคัดเลือกตัวแทนเข้าร่วมอบรมเมืองละ 2 คน ในรัฐฉาน มีการอบรมทั้งเรื่องสหพันธรัฐ การปกครองตนเอง วิทยากรเป็นคนอินโดนีเซีย ในการอบรม มีทั้งการสาธิตเรื่องเลือกตั้ง จุดเริ่มต้นสนใจในการเมืองจึงเริ่มต้นขึ้นตอนนั้น

หลังอบรม ผมก็เข้าหากลุ่มที่ผมให้ความสนใจ ผมก็ไม่รู้นะตอนนั้นผมอยากทำอะไร แต่ผมก็เข้าหาสิ่งที่ผมสนใจเรื่อยมา ก็ไปเป็นอาสาสมัรที่โน่นที่นั่นบ้าง ก็มีพี่ๆคนรู้จักคอยติดต่อประสานงาน เช่นไปเป็นอาสาสมัครที่บ้านเด็กกำพร้าเด็กยากจน ที่นี่เหมือนทิ้งทุกอย่างไปเลยนะ อยู่ในนา นอนคนเดียว กลัวก็กลัว มีผมกับแมวอีกหนึ่งตัวอยู่ในกระท่อมในนาตามลำพัง แล้วก็ไปเข้าอบรมเรียนรู้ตามที่ต่างๆ

IMG_3101

ทำไมถึงตัดสินใจไปประเทศไทยในที่สุด มีเป้าหมายอะไรในตอนนั้น

ตอนนั้นผมรู้แต่เพียงว่า ผมไม่ต้องการชีวิตที่เป็นอยู่ในขณะนั้น รู้แต่ว่าผมต้องไปเมืองไทย เพื่อที่จะได้เรียนรู้อะไรสักอย่าง ซึ่งก็จริง พอผมไปผมก็ได้เรียนรู้จริงๆ ไปแรกๆก็ลำบากนะ เพราะไม่มีที่อยู่ ก็อาศัยอยู่กับคนนั้นคนโน้นที ทำงานตอบแทนที่เขาให้ที่อยู่อาศัย เช่นทำกับข้าวให้เขากิน พิมพ์งานให้ ผมตั้งใจอยากเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยพายัพ แต่ก็ยังไม่มีเงินส่งตัวเองเรียน จึงตัดสินใจยื่นขอทุนที่มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก (Child's Dream) แล้วก็ได้ทุนการศึกษาเรียน 4 ปี จาก Child's Dream ผมเรียนคณะ English Communication ผมเรียนจบปริญาตรีที่มหาวิทยาลัยพายัพและรับปริญญาเมื่อเดือน พ.ย.2557 ที่ผ่านมา

อยากให้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเรียนที่พม่าและประเทศไทย

ผมได้ใบปริญญาตรีมาใบหนึ่งแล้วที่เมืองตองจี คณะประวัติศาสตร์พม่า เมื่อปี 2547 ผมเรียนในระบบที่เรียนด้วยตัวเอง ที่เรียกในภาษาพม่าว่า "อเวติ่น" ปีหนึ่งก็ไปเรียน 1 ครั้ง เรียนจริงๆก็ประมาณ 10 วันก่อนหน้าสอบ ก่อนที่จะมาเรียน 10 วันที่ว่านี้ ทางมหาวิทยาลัยก็จะให้หนังสือและซีดีให้เราไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง พอถึงเวลาสอบก็ไปสอบ ก็เหมือนไปเรียนๆเล่นๆ แตกต่างตรงที่ไม่ไปเรียนก็ได้ แต่ต้องไปเรียนพิเศษกับอาจารย์ที่สอนวิชานั้นๆ เช่นไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์กับอาจารย์มหาลัยที่สอนประวัติศาสตร์ ซึ่งแน่นอนยังไงก็สอบผ่าน จะไปเฮฮากินๆเที่ยวที่ไหนเป็นเดือนก็ได แล้วก็กลับบ้าน

ก็ได้เรียนอยู่บ้างเกี่ยวกับประศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์พม่า ตอนอยู่ ป.5 - ป.6 ก็ได้เรียนเกี่ยวกับกษัติย์พม่าอย่าง บุเรงนอง อโนรธา พอมาเรียนระดับมหาลัยก็ได้เรียนเรื่องเหล่านี้เหมือนเดิม แต่เรียนเป็นภาษาอังกฤษ พอมาดูประวัติศาสตร์โลก วิธีการสอนก็คือให้นักศึกษาท่องจำ ในข้อสอบก็จะมีคำถามประมาณ 5-6 คำถาม ถ้าตอบได้ 3 คำตอบก็ถือว่าสอบผ่านแล้ว ทางอาจาร์ย์ก็จะให้นักศึกษาท่องจำสัก 5 บท และบอกนักศึกษาว่า ใน 5 บทนี้แหล่ะมีคำตอบในข้อสอบ นักศึกษาก็สอบไปแบบไม่รู้เรื่อง พวกเขาสอนเพื่อให้เราสอบได้แค่นั้นเอง ถ้าหากสอบไม่ได้จริงๆก็ให้ไปหาอาจารย์ที่เรียนพิเศษด้วย ซึ่งเป็นอาจารย์คนเดียวกับที่สอนในมหาลัย ในเมื่อให้ตังค์เรียนพิเศษกับอาจารย์แล้ว สุดท้ายยังไงก็สอบผ่าน นี่ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าระบบการศึกษาในพม่าและในไทยแตกต่างกันยังไง คือเรียนแบบไม่ได้เรียนรู้อะไร ไม่ได้ทำรายงาน ไม่ได้ค้นคว้าด้วยตัวเอง เป็นระบบที่ไม่ให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ ผมเชื่อว่า ตอนนี้การศึกษาในพม่าก็ยังเป็นอย่างนั้น ท่องจำตลอด พอสอบเสร็จสิ่งที่ท่องจำก็หายไปจากหัวหมด สิ่งนี้ทำให้เราตกต่ำจริงๆ

พอมาเรียนที่ไทย เรียนภาคอินเตอร์ด้วย ก็ได้มารู้จักกันเพื่อนนักศึกษาชาวต่างชาติ มาอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่ว่าผมโปรโมตให้มหาวิทยาลัยพายัพนะ แต่ผมอยากบอกว่าแตกต่างกันยังไง ที่พายัพก็เรียนแบบห้องเรียนเล็กๆ มีนักศึกษา 20 - 25 คน อาจารย์สอนเป็นอาจารย์ชาวต่างชาติ ผมได้ค้นคว้า ผมได้ทำรายงาน ได้ออกความเห็นวิเคราะห์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันแตกต่างมากกับระบบการศึกษาในพม่าที่เป็นแบบท่องจำ แต่ไม่ได้อะไรเลย ถึงแม้่รัฐบาลใหม่ขึ้นมา ผมก็ยังเชื่อว่า เพื่อปฏิรูปการศึกษาของพม่าทั้งระบบ และเพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ผมคิดว่ายังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

IMG_2970

อะไรที่ทำให้ลงเล่นการเมือง อะไรคือสิ่งที่ทำให้อยากเป็นตัวแทนและทำงานให้กับคนเมืองกึ๋ง

เป็นเพราะสังคมที่ผมอยู่ อย่างที่เมืองกึ๋ง (ทางใต้รัฐฉาน) ตั้งแต่เล็กจนโต ผมได้รับรู้เกี่ยวกับสงคราม เสียงปืนมาโดยตลอด บ้านเมืองถูกกดขี่อย่างหนัก อย่างตอนกลางวันก็มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ห้ามออกจากบ้าน 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า บางคนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางก็ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกทุบตีโดยไม่มีเหตุผล เรื่องแบบนี้ผมได้เห็นได้ยินมาตลอด ทางกลุ่มโน้นกลุ่มนี้บ้างล่ะ ที่ชาวบ้านต้องช่วยเหลือให้ข้าวน้ำ กลุ่มนี้ก็ทิ้งไม่ได้ กลุ่มนั้นก็ทิ้งไม่ได้ ขนาดผมอยู่ในเมืองผมยังได้รับผลกระทบขนาดนี้ แล้วคนที่อยู่แถวบ้านนอกล่ะ จะได้รับผลกระทบมากแค่ไหน การเดินทางไปมาหาสู่ก็ยากลำบาก  อย่างตอนเรียน ป.5 - ป.6 โรงเรียนต้องปิดกะทันหันและให้นักเรียนกลับบ้าน เนื่องจากจะเกิดสงคราม กลัวกับเหตุการณ์เช่นนี้อยู่ตลอดเวลา

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจการเมืองก็คือ สิ่งที่ผมเคลื่อนไหวและทำงานในสมาคมภาษาและวัฒนธรรมไทใหญ่ รวมไปถึงการอ่านหนังสือเยอะๆ การเข้าร่วมอบรมตามที่ต่างๆ ได้เรียนรู้ว่า อะไรยุติธรรม อะไรไม่ยุติธรรม เรื่องสิทธิมนุษยชน สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นสิ่งที่หนุนผมให้สนใจการเมืองและมีความมั่นใจมากขึ้น จึงเลือกที่จะเดินบนเส้นทางสายนี้ จริงๆการทำงานทางการเมือง มีความกดดันอยู่มาก และผมเข้าใจดีว่า ไม่ใช่แค่ว่าเป็น ส.ส.แล้ว จะเป็นเป็นสิ่งเดียวที่ทำงานให้กับคนหมู่มากได้ แต่สิ่งที่ผลักดันผมจริงๆก็คือ คนที่บ้านเกิดผมมักพูดกันว่า คนที่ไปอยู่ที่อื่นกลับมา ไม่เห็นมาทำอะไรให้บ้านเกิด ทำให้ผมตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.      

เห็นความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างเลือกตั้งปี 2553 และปี 2558 มีความก้าวหน้าอย่างไรบ้าง

อาจกล่าวได้ว่า มีความก้้าวหน้า ประชาชนก็มีความกล้าหาญและเข้าใจมากขึ้นมากกว่าการเลือกตั้งปี 2553 ก่อนหน้านี้ ความหวาดกลัวมันฝังอยู่ในจิตใจของเราทุกคนโดยที่เราไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะถูกกระทำจากฝ่ายไหนก็ตาม ชาวบ้านมีความหวาดกลัวไว้อยู่แล้ว ตัวผมก็เคยเป็น แม้แต่จะเข้าสำนักงานราชการ ประชาชนชาวสวนชาวไร่ก็ยังกลัวๆเกรงๆ อย่าพูดถึงเลือกตั้งเลย การเลือกตั้งปี 2553 ก็เช่นกัน จู่ๆทหารก็เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ประชาชนก็ไม่มีความเชื่อถือ ประชาชนหวาดกลัว ประชาชนไม่ได้คิดถึงสิทธิของตัวเอง กลัวอย่างเดียว กลัวว่าจะถูกทุบตีทำร้าย ปี 2534 ประชาชนก็เคยถูกหลอกมาแล้วครั้งหนึ่ง ประชาชนก็เลยคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไรในการเลือกตั้งปี 2553 และอยู่ในช่วงที่ประชาชนกำลังสับสน

แต่การเลือกตั้งปี 2558 ผมเชื่อว่า ประชาชนมีความกลัวน้อยลง มีการเปิดกว้างมากขึ้น และมีช่องทางสื่อมากขึ้น เมื่อปี 2553 ประชาชนพึ่งแต่วิทยุเพียงอย่างเดียว แต่ปี 2558 มี Social Network อย่าง Facebook ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม สำหรับความเห็นผม ผมว่า Social Network สื่อทางทีวี ช่วยให้ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น ประชาชนเข้าหาในสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ ผมเห็นว่า การเลือกตั้งในบางพื้นที่ก็มีความเป็นธรรม แต่บางส่วนก็ไม่เป็นธรรม อย่างในรัฐฉาน มีหลายกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ มีหลายเขตพื้นที่ ดังนั้นใครมีอำนาจเหนือประชาชนก็สามารถสั่งให้เลือกใครก็ได้ ประชาชนบางส่วนจึงเลือกเพราะความไม่รู้ หรือเลือกเพราะความกลัวก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะกองทัพสามารถสั่งได้ เพราะฉะนั้น เราจะบอกได้หรือไม่ว่านี่บริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นสิ่งที่ต้องชั่งน้ำหนักดู

IMG_4108

ตอนที่ลงรณรงค์หาเสียง เห็นปัญหาอะไรของประชาชน

อันดับแรก เห็นปัญหาภายในของเราเอง อย่างการเลือกตั้งปี 2553 ต่างคนก็ต่างกลัว ก็เลยไม่มีใครอยากลงเล่นการเมือง ก็เลยไปมอบหน้าที่ให้คนที่ไม่มีพื้นฐาน ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการเมือง พอมาเป็น ส.ส.สุดท้ายแล้วคนๆนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรเลยให้กับประชาชนและก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เละ พอมาปี 2558 พอรู้ว่า การเลือกตั้งเปิดกว้าง พอรู้ว่าจะไม่ถูกจับกุม จะไม่ทุบตีทำร้าย ใครๆก็อยากลงเล่นการเมืองมากกว่าปี 2553 ดังนั้นจึงต้องมาคัดสรรกันว่า ใครจะเข้ามาทำหน้าที่ ก็ต้องมีการพูดคุยกันอยู่พอสมควร สำหรับปัญหาของชาวบ้านก็คือ การที่มีพรรคการเมือง 2 พรรค อย่างพรรคหัวเสือ (SNLD) และพรรคเสือเผือก(SNDP) ชาวบ้านเห็นว่า 2 พรรคการเมืองนี้ทะเลาะกันอยู่

ในตอนแรกนั้นชาวบ้านไม่เข้าใจ พอเห็นว่ามีการสร้างสะพาน สร้างถนน ชาวบ้านก็มักคิดว่า นี่คือความก้าวหน้า ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ต้องการอะไรนอกเหนือจากนี้แล้ว ซึ่งจริงๆเรื่องการพัฒนาเหล่านี้ไม่ว่ารัฐบาลไหนขึ้นมาก็ตาม นั่นเป็นหน้าที่ซึ่งรัฐบาลต้องทำ หากพรรคหัวเสือขึ้นมาบริหาร ก็แน่นอนอยู่แล้วที่พรรคต้องพัฒนาสิ่งเหล่านี้ แต่สำหรับนโยบายของพรรคหัวเสือก็คือ ต้องปฏิรูปการเมืองก่อน แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจ นี่คือสิ่งที่ท้าทายสำหรับพรรคของเรา และทางพรรคต้องอธิบายให้กับชาวบ้านซ้ำๆครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงต้องอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญปี 2008 (2551) นั้นไม่มีความเป็นธรรมนะ

แล้วมองว่าคนหนุ่มสาวในรัฐฉานตื่นตัวกับการเมืองมากน้อยแค่ไหน คนหนุ่มลงสมัคร ส.ส.เยอะมากน้อยแค่ไหน 

ในความเห็นของผม ผมมองว่า ยังไม่สามารถพูดได้ว่า ปี 2558 นี้ คนหนุ่มตื่นตัวกับการเมืองนะ จะมีลักษณะที่ว่า คนที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหว คนเหล่านี้แหล่ะที่ได้คะแนนเสียงเยอะ ผมมองว่า คนหนุ่มเล่นการเมืองน้อยมาก คนหนุ่มที่อยากเป็น ส.ส.มีน้อยมากจริงๆ ผมมองว่า คนอายุเยอะที่ประชาชนตั้งความหวังว่าสามารถทำงานได้ เล่นการเมืองเยอะมาก แต่การเมืองในปี 2563 อาจจะไม่แน่ แต่เพื่อให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในการเมืองเยอะขึ้น จำเป็นต้องเตรียมพร้อม โดยจะต้องเริ่มตั้งแต่ปี 2558 นี้เป็นต้นไปจนถึงปี 2563 ไม่เช่นนั้น ผมมองว่าคนหนุ่มจะเข้ามามีบทบาทในการเมืองนั้นเป็นไปได้ยาก อีกอย่างมันมีเรื่องอื่นอย่าง การทำธุรกิจได้หันเหความสนใจในการเมืองของคนหนุ่ม ผมมองว่า คนหนุ่มสาวที่จะให้ความสนใจการเมืองมีน้อย นอกจากคนหนุ่มที่มีพื้นฐานและสนใจการเมืองไว้อยู่ก่อนแล้ว

IMG_3245

ตอนนี้ในฐานะว่าที่ ส.ส. อยากทำอะไรเป็นอันดับแรก

ผมอยากสนับสนุนคนหนุ่มรุ่นใหม่ เพราะระหว่างที่มีการเลือกตั้ง คนเหล่านี้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือผมอย่างดี คนเหล่านี้ทำให้ผมมีกำลังใจ และทำงานกันจริงๆจังๆ กล้าหาญที่จะแสดงความคิดเห็น ผมอยากทำงานให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เปิดพื้นที่ให้พวกเขาสามารถเกาะกลุ่มกันได้ นี่คือสิ่งที่ผมอยากทำเป็นอันดับแรก จริงๆผมเริ่มทำมาแล้วบางส่วนก่อนเลือกตั้ง ผมอยากให้ชีวิคของคนหนุ่มสาวดีกว่านี้ สนับสนุนในด้านความสามารถ ให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักเห็นความสำคัญถึงในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมืองและสิ่งแวดล้อม เพิ่มความสามารถและให้คนเหล่านี้ลงมือทำเพื่อให้มีประสบการณ์ และขยายไปยังคนหนุ่มสาวที่อยู่ตามเขตชนบท

ยกตัวอย่างโครงการณรงค์เก็บขยะของนางออง ซานซูจี พรรค NLD จริงๆผมเห็นด้วยและสนับสนุน ปัญหาขยะนี่เป็นปัญหาใหญ่จริงๆ อย่างที่เมืองของผมนะ ขยะนี่ไม่รู้ว่าจะทิ้งได้ที่ไหน คนเก็บขยะก็ไม่มี ทางการก็บอกว่าห้ามทิ้งขยะ แล้วจะทิ้งที่ไหนล่ะ การใช้ถุงพลาสติกและทิ้งกันเรี่ยราดนี่เป็นปัญหาใหญ่เลย นี่เป็นงานแรกเหมือนกันที่ผมอยากทำเพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะ รักษาความสะอาดเรียบร้อย ดังนั้นจะหากิจกรรมอะไรมาให้คนหนุ่มสาวทำดีล่ะ เพื่อให้ความรู้กับพวกเขาด้วย

คิดว่าเพราะอะไร คนเมืองกึ๋งถึงให้ใจเลือกคุณเป็นตัวแทนเข้าไปในสภา

ผมเชื่อว่า อาจเป็นเพราะติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านสม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าติดต่อกับคนในเขตเมืองกึ๋งทั้งหมดนะ ผมหมายถึงกับคนในตัวเมือง ชาวบ้านเหล่านี้เห็นความเคลื่อนไหวไปมาหาสู่ของผมตลอดเวลา เห็นชีวิตของผมเริ่มต้นจากศูนย์เป็นยังไง เห็นความตั้งใจของผม การทำงานของผม การไปร่ำเรียนหาความรู้ของผมจะมาช่วยเหลือพัฒนาเมืองได้ นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านเห็นในตัวผม

พรรค NLD เคยออกมาประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะดึง ส.ส.ชาติพันธุ์ที่ชนะเลือกตั้ง เข้าร่วมเป็นรัฐบาลด้วย จนถึงขณะนี้ทาง NLD ติดต่อมาทางพรรคหัวเสือ SNLD บ้างหรือยัง

เคยมีสัญญาณว่า พรรค NLD จะร่วมประชุมกับพรรคชาติพันธุ์เพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นทางการ

หากเข้าไปในสภาอยากเข้าไปสนับสนุนในเรื่องไหนเป็นพิเศษ

ผมอยากให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาในตอนนี้เลย ผมสนับสนุนในสิ่งที่ ดร.เต็งลวิน (หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Migrant Learning Center ศูนย์การศึกษาให้กับแรงงานข้ามชาติที่จังหวัดเชียงใหม่ ) กำลังทำ แต่ผมก็ไม่เชื่อ100 % นะว่า ดร.เต็งลวิน จะสามารถช่วยเหลือชาติพันธุ์และช่วยพัฒนาในเรื่องภาษาไทใหญ่ แต่ผมก็เชื่อว่า วิธีการที่ท่านกำลังทำอาจเปลี่ยนระบบการศึกษาพม่าได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปก็เป็นได้ สิ่งที่นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวจนถูกจับขังคุก ผมนับถือนักศึกษาเหล่านี้ที่มีความกล้าหาญและผมสนับสนุนแนวคิดของพวกเขา แต่ผมก็ไม่เชื่อนะว่า สิทธิเท่าเทียมและการพัฒนาของชาติพันธุ์จะต้องไปอยู่ในมือของคนพม่าทั้งหมด หาก NLD ขึ้นมาบริหารประเทศ เรื่องเหล่านี้จะไปมอบให้ NLD จัดการทั้งหมดก็เป็นไปไม่ได้นะ เพราะฉะนั้น พรรคหัวเสือก็จำเป็นต้องยืนอยู่ในจุดที่สามารถคัดค้านได้และเรียกร้องได้หรือกดดันเพื่อให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน นี่คือสิ่งที่ผมเชื่อ

บางส่วนอาจมองว่า พรรคหัวเสือเหมือนลูกน้องพรรค NLD หากทางพรรค NLD ดำเนินการอย่างไร ทางพรรคหัวเสือก็ทำเช่นเดียวกัน ซึ่งๆจริงแล้วไม่ใช่ เรื่องของไทใหญ่จะไปมอบให้พม่าดูแลทั้งหมดทำไม่ได้นะ เรามีระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ระบอบประชาธิปไตยในแบบพรรคหัวเสือยังคงต้องมีการต่อสู้อีกมากมาย ไม่ใช่แค่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารเท่านั้นนะครับ ยังต้องต่อสู้กับรัฐบาล NLD ด้วยเช่นกัน ผมไม่เชื่อว่า NLD จะทำงานให้คนไทใหญ่ได้ดีนะ แม้ทาง NLD ชนะการเลือกตั้ง แต่ ณ ช่วงเวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งความสุขการเฉลิมฉลองชัยชนะ แต่เป็นช่วงเวลาที่ยังต้องต่อสู้ต่อไปสำหรับ NLD ด้วยเช่นกัน นอกจากให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาแล้ว ยังมีเรื่องด้านสุขภาพสาธารณสุข และอีกหลายเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ แต่นโยบายของพรรคหัวเสือ SNLD ก็คือ ให้รัฐฉานมีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเอง ให้ใช้ระบอบสหพันธรัฐที่แท้จริง การบริหารงบประมาณใช้จ่ายเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราต่อสู้มาตั้งแต่ยุคสัญญาป๋างโหลงจนถึงปัจจุบัน และยังต้องต่อสู้ต่อไป

IMG_3087

คิดว่าพรรค NLD จะนำพาประเทศไปในทิศทางไหน แล้วการเมืองพม่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไป

ผมมองว่า พรรค NLD ให้ความสำคัญในเรื่องประชาธิปไตยมาก แต่อาจไม่ให้ความสำคัญในเรื่องความเท่าเทียมชาติพันธุ์ ผมว่า NLD อาจยังไม่ได้เข้าใจในตรงนี้ NLD อาจจะเน้นไปที่เรื่องประชาธิปไตยเป็นอันดับแรก ผมเชื่อว่า การทำงานของรัฐบาล NLD จะไม่เป็นไปอย่างราบรื่นและจะยากลำบาก เนื่องจากมีอุปสรรคติดขัดหลายอย่าง ทั้งจากกองทัพพม่า การปฏิรูปประเทศ เรื่องอื่นๆมากมาย NLD จะไม่สามารถแสดงท่าทีได้ชัดเจน จำเป็นต้องอ่อนข้อและยอมกองทัพ ยอมๆๆซึ่งทางกองทัพจะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้ ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ NLD ต้องตีตัวเข้าหาทหาร เข้าหารัฐบาลชุดปัจจุบัน ดังนั้น NLD ไม่มีเวลามาสนใจเรื่องของไทใหญ่ แม้แต่ประเด็นเรื่องโรฮิงญา ทาง NLD ก็ไม่กล้าแตะต้องเรื่องนี้

ผมเชื่อว่า ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงการเมืองพม่าอาจต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงปี 2563 หรือนานกว่านั้น ผมไม่เชื่อว่า การเมืองพม่าจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีทันที แต่ผมเชื่อว่า ความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีขึ้น การพัฒนาต่างๆอย่างการปรับปรุงถนน สร้างสะพาน ผมเชื่อว่าจะดีขึ้นในระดับหนึ่ง หาก NLD ขึ้นมาบริหารประเทศ เพราะอยู่ในช่วงที่ประเทศจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

แล้วคิดว่า กระบวนการสันติภาพในพม่าจะต้องดำเนินไปในทิศทางไหน เพื่อให้ให้สงครามในประเทศยุติได้

บางทีผมก็อยากจะบอกว่า อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดรู้แล้วรู้รอดไป เพราะเป็นปัญหาเหล่านี้คั่งค้างมายาวนาน ผมว่า มันมีความแตกแยกระหว่างภายในเราเองอยู่แล้ว ผมมองว่า แนวทางของแต่ละฝ่ายไม่ไปในแนวทางเดียวกัน ต่างคนต่างทำ เหมือนพรรคการเมืองไทใหญ่ก็แบ่งเป็นสองพรรค เพื่อที่จะมารวมเป็นพรรคเดียวกัน ผมมองไม่เห็นความหวัง ไม่ใช่ว่าผมไม่อยากให้รวมเป็นพรรคเดียวกันนะ แต่มองไม่เห็นความหวังจริงๆ แล้วจะทำยังไงให้สันติภาพเกิดขึ้นได้ ผมคิดว่า ประชาชนจะต้องรวมพลังกัน แต่จะให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องนี้ก็เป็นไปได้ยาก เพราะอย่างในหมู่ประชาชนหรือในชาติพันธุ์ด้วยกันก็ยังไม่มีความเชื่อใจกัน แม้แต่ในชาติพันธุ์เดียวกัน ก็ยังมีหลายกลุ่มติดอาวุธ หลายพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนก็มีหลายพรรคหลายฝ่ายไปด้วย เพื่อให้ประชาชนรวมเป็นหนึ่งได้ พรรคการเมืองทั้งหลายและกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มจะต้องหันมาเข้าหากันและเข้าใจกัน และจะต้องเริ่มเป็นขั้นๆไป นี่คือสิ่งที่ผมเห็นอยู่ตอนนี้

IMG_4080

                                                                  ภาพวิวทิวทัศน์ในเมืองกึ๋ง

พอกลับมาพม่า เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นไหม

ตอนที่ผมยังไม่ได้ไปเมืองไทย ประชาชนยังมีความหวาดกลัวอยู่ พอไปอยู่เมืองไทย ผมรู้สึกว่าได้สัมผัสกับเสรีภาพจริงๆ วิถีชีวิตก็ดีขึ้น แต่พอผมกลับมา ผมก็คิดว่า เราก็สามารถสร้างสังคมเองได้นี่ เราไม่ต้องงอมืองอเท้ารอใครมาสร้างให้ ผมสนับสนุนให้เดินทางออกไปต่างประเทศ ไปเปิดหูเปิดตานะ เพราะมันทำให้เราได้มองเห็นโลกที่กว้างขึ้น มันเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวของเราเอง ทำให้ความคิดสร้างสรรค์มันเกิดขึ้นมาจากตัวเองเรา สิ่งนี้จะเรียกว่า พม่าเปลี่ยนแปลงหรือว่าตัวเราเองที่เปลี่ยนแปลงไป นี่ก็เป็นคำถามเหมือนกันนะ ผมคิดว่า ประเทศพม่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงนะ แต่ประชาชนต่างหากที่เปลี่ยนแปลง

อยากฝากอะไรให้กับคนรุ่นใหม่ในรัฐฉาน

ผมอยากฝากให้คนรุ่นใหม่ในรัฐฉานออกเดินทางและมีความฝัน เหมือนตัวผม ฐานะทางบ้านผมก็ไม่ใช่ว่าดีหรือว่าทางบ้านหาทุกอย่างมาให้ แต่ผมพยายามด้วยตัวเอง ดังนั้นเมื่อมีความพยายามทุกอย่างก็สามารถเกิดขึ้นได้ อย่ามัวแต่รอว่าไม่มีเงินหรือไม่พร้อม อยากทำอะไรให้รีบลงมือทำเลย ผิดถูกก็เรียนรู้กันไป เหมือนที่ผมเคยทำมาแล้ว เช่นเดียวกันผู้ใหญ่ก็ควรให้โอกาสและให้พื้นที่กับคนรุ่นใหม่ให้สามารถเลือกทางเดินชีวิตอย่างอิสระด้วยตัวเอง ผมมักพูดเสมอระหว่างที่รณรงค์หาเสียงว่า จะต่อสู้ด้วยตัวเอง หรือว่าจะยอมรับเอาแต่สิ่งที่คนอื่นยื่นมาให้ นั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องเลือก

โดย หมอกเต่หว่า

ภาพโดย Jai Jai/แสงเมือง      

      

        

     

       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น