วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มองอนาคตมหาวิทยาลัยพม่า



ย่างกุ้ง ประเทศพม่า - โมซะ นักศึกษาเอกฟิสิกส์วัย 23 ปีจากวิทยาลัย มยิงจานใกล้กับมัณฑะเลย์เล่าว่า นักเรียนในชั้นจำนวนมากที่ไม่ได้เข้ามานั่งเรียน "นักเรียนส่วนใหญ่มาเพื่อเช็คชื่อเท่านั้นแล้วก็ไป" เขาบอกว่า การติดสินบนกับครูเพื่อแลกกับเกรดดีๆ และการโกงการสอบเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป

 

คอมพิวเตอร์มีราคาแพง นักเรียนจึงมักจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ ในขณะที่ห้องแล็บทางวิทยาศาตร์ยังคงขาดแคลนเครื่องมือ โมซะ บอก

 

และเนื่องจากไม่มีหอพัก ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่รัฐบาลทหารต้องการป้องกันไม่ให้นักศึกษารวมตัวกันเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้นักศึกษาจำนวนมากที่มาจากพื้นที่

ห่างไกลต้องเช่าห้องพักอยู่ ซึ่งไม่ปลอดภัยและไม่มีการดูแลยามป่วยไข้

 

แต่ที่เลวร้ายที่สุดที่โมซะและเพื่อนๆ รู้สึกก็คือ ใบปริญญาแทบไม่มีค่าอะไรเลย "นักศึกษาส่วนมาก หลังจากที่เรียนจบแล้วไม่มีงานทำ" โมซะ กล่าว

 

มหาวิทยาลัยหลายแห่งในย่างกุ้ง นักศึกษาจำนวนมากก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน และที่วิทยาลัยแพทย์ ร่างอาจารย์ใหญ่เพียงหนึ่งร่างต้องใช้สำหรับนักศึกษาถึง 50 คนหรือมากกว่านั้นในการผ่าตัด เยจ่อ นักศึกษาวัย 18 ปี จากสถาบันวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์กล่าวว่า นักศึกษาต้องเขียนโค้ดโปรแกรมลงบนกระดาษ

 

ขณะที่ซูซูลิน นักศึกษาปริญญาตรีจากสถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง กล่าวว่า สิ่งที่นักศึกษาต้องการมากที่สุดคือ เสรีภาพทางการศึกษา "รัฐบาลได้ปิดกั้นสิ่งที่พวกเขาไม่อยากให้เรารู้ มันเหมือนกับว่า พวกเขากำลังปิดกั้นสมองของเราอยู่"

 

"ในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ พวกเขาจะพูดเสมอว่า กองทัพได้ช่วยให้เรารอดพ้นจากอันตรายบ้าง กองทัพช่วยกู้ชาติไว้บ้างหละ" เธอบอก "แต่จริงๆ แลัวมันไม่ใช่"

 

ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของพม่าต้องพบกับวิกฤติในช่วงที่รัฐบาลเผด็จการทหารปกครองมากว่า 50 ปี จนกระทั่งสิ้นสุดรัฐบาลทหารเมื่อปี 2011

 

ในช่วงปี 1988 ที่นักศึกษาก่อการประท้วงทั่วประเทศ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ มีผู้เสียชีวิตโดยน้ำมือของรัฐบาลทหารและถูกจับกุมจำนวนหลายพันคน รัฐบาลทหารได้ผลักดันให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีไปอยู่ในเขตชนบทเพื่อป้องกันไม่ให้นักศึกษารวมตัวกันประท้วงอีก

 

บรรดานักวิชาการถูกตัดขาดจากโลกภายนอกและถูกไล่ออกหากรัฐบาลไม่พอใจผลงานวิจัย รัฐบาลทหารได้เข้ามาจัดการกับมหาวิทยาลัยให้เป็นของรัฐ หลายแห่งถูกปล่อยให้หญ้าขึ้นรกร้าง

 

"ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็เหมือนกับป่าที่สวยงามหลังจากถูกทิ้งระเบิด" ชารล์ส เอ็ม ไวเนอร์ อาจารย์จาก คณะแพทย์ศาสตร์ สถาบันจอห์นส์ฮ็อปสกิน กล่าวผ่านโทรศัพท์ เขาได้เดินทางมาสอนที่วิทยาลัยการแพทย์ในพม่าหลายแห่งโดยได้กล่วว่า บรรดานายพลได้ทำลายระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยวิธีการที่น่าเหลือเชื่อ

 

คำถามตอนนี้ก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในพม่า ที่เปลี่ยนจากรัฐบาลเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตย นางอองซาน ซูจีที่เคยถูกกักบริเวณหลายปีก็ได้กลายมาเป็นสมาชิกในรัฐสภาแล้ว และเดือนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เอกชนหลายฉบับก็ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพืเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี

 

นักศึกษาและอาจารย์กล่าวว่า ขณะนี้ค่อยมีความหวังขึ้นมาใหม่เมื่อรัฐบาลเริ่มรื้อระบบอุดมศึกษาขึ้นมา "เราอยู่ในห้องมืดๆ มาโดยตลอด แต่ตอนนี้เราพอจะมองเห็นแสงเล็กๆแล้ว" เยทุนเรน นักศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยการเดินเรือพม่ากล่าว "เรากำเลังเดินไปยังแสงนั้นด้วยความหวัง"

 

แต่ก็ยังมีข้อที่น่ากังขาอยู่ว่า รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ ที่ยังถูกควบคุมโดยอดีตทหาร ต้องการวางมือจากการเข้าควบคุมระบบการศึกษาหรือไม่

 

เต่งลวิน โฆษกพรรคเอ็นแอลดีด้านการศึกษา ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน กำลังร่วมมือกับองค์กรเอ็นจีโอหลายองค์กรและบรรดานักวิชาการยื่นเสนอนโยบายการศึกษาแห่งชาติใหม่ เขากล่าวว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้เปิดรับแต่อย่างใด

 

"ผมสงสัยว่า พวกเขาต้องการความเปลี่ยนแปลงจริงหรือไม่" ดร.เต่งลวิน กล่าว

 

ล่าสุด มีการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับปี 2013 - 2014 ในช่วงที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้กล่าวประศรัยเมื่อปี 2011 ซึ่งมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดิน

 

"เรารู้ดีว่ากระทรวงการศึกษาเป็นกระทรวงที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดในทุกกระทรวง" คาโรลา เวล์ คณบดี School of Professional and Extended Studies จากวอชิงตัน ที่เพิ่งกลับจากการไปเยือนพม่าเพื่อสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพม่า กล่าว

 

รัฐบาลพม่าได้รับเงินทุนสนันสนุนจากธนาคารโลกและองค์กรอื่นให้กระทรวงศึกษาธิการทำการศึกษาระบบการเรียนการสอน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อเสนอแนะในปี 2014 คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่นำโดยนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านกำลังทำงานเรื่องกฎหมายการปฏิรูปอุดมศึกษาและฟื้นฟูมหาวิทยาลัยย่างกุ้งอยู่ในขณะนี้

 

สิ่งหนึ่งที่จะเน้นก็คือการบริหารงานอย่างอิสระของมหาวิทยาลัย เควิน แม็คเคนซี ผู้อำนวยการของบริติชเคาน์ซิลในพม่า กล่าว ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของคณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมาร่างพระราชบัญญัติอุดมศึกษาถูกตีกลับเนื่องจากมหาวิทยาลัยยังไม่มีอิสระภาพในการบริหารมากพอ

 

มัน"ยากนิดหน่อยที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายที่มีความคิดต่างกัน ในตอนนี้ก็ยังมีบ้างที่ยังต่อกันไม่่ติด" เควิน แม็คเคนซี กล่าว

 

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การให้อิสระภาพแก่นักศึกษาในการเลือกสาขาวิชาเรียน ปัจจุบันนักศึกษาถูกบังคับให้เลือกเรียนตามคะแนนสอบ จึงได้เรียนในสาขาที่ไม่ได้สนใจหรือเป็นที่ต้องการของตลาดเลย

 

ทว่า ก็มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดอยู่ นั่นก็คือการรื้อฟื้นสหภาพนักศึกษาขึ้นมาอีกครั้งหลังจากถูกรัฐบาลห้ามก่อนหน้านี้ โดยพวกเขาหวังว่าจะสนับสนุนให้มีกฎหมายที่ออกมาเพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขา

 

"ยังไม่มีใครสั่งปิดองค์กรของเรา" ซูซูลิน สมาชิกของสหภาพนักศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ กล่าว

 

เช่นเดียวกัน บรรดาอาจารย์ก็กำลังฟื้นฟูสมาคมอาจารย์ขึ้นมาใหม่เพื่อสิทธิของพวกเขา "มันมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในช่วงสองปีที่ผ่านมา" ข่ายเมียวทุน เลขาธิการของสมาคมอาจารย์มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง กล่าว "แต่พวกเราก็ต้องระวังตัวไว้เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือจะมีการกลับลำหรือไม่"

 

ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างเชื่องช้ากว่าจะไปครบทุกมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และสถาบันการศึกษาทั้ง 163 แห่งในพม่า ในเรื่องของอิสระภาพทางการศึกษาและสิ่งที่จำเป็นที่ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรหรือทรัพยากร

 

ในขณะที่นักศึกษาระดับปริญญาโทได้รับอนุญาตให้เรียนในมหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่ๆ ได้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พักอาศัยในหอพักในเขตมหาวิทยาลัยได้ ส่วนนักศึกษาระดับปริญญาตรีก็ยังต้องเรียนในสาขาของมหาิวิทยาลัย บางส่วนก็เลือกเรียนระบบการศึกษาทางไกลที่มามหาวิทยาลัยเฉพาะวันสอบเท่านั้น "มีการการสอนผ่านโทรทัศน์ แต่บางครั้งที่บ้านของเราก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ เราจึงดูโทรทัศน์ไม่ได้" เยจ่อ นักศึกษาเอกคอมพิวเตอร์ กล่าว

 

นักศึกษาที่เรียนวิชาบัญชีและโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายคนต้องเข้าเรียนในวิทยาลัยอาชีวะเพื่อฝึกฝนทักษะหรือจ้างอาจารย์มาสอนพิเศษ ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยกล่าวว่า สถาบันการศึกษามีเจ้าหน้าที่จำนวนน้อยมากและไม่ได้รับการฝึกฝน แถมยังได้ค่าตอบแทนน้อยมาก

 

"เจ้าหน้าที่ของเราต่างมีงานล้นมือ" จ่อมินทุน อดีตอธิการบดีสถาบันเศรษฐศาตร์ย่างกุ้ง กล่าว "ที่มหาวิทยาลัยของเราไม่มีแผนกแรงงาน"

 

ระบบการศึกษาในพม่าถูกปล่อยปะละเลยมานานจึงต้องอาศัยเวลากว่าที่นักศึกษาและนักการศึกษาจะก้าวทันมาตรฐานสากล

 

เคิร์ท เมาเซอร์ท อาจารย์จากอเมริกันเซ็นเตอร์ในย่างกุ้งกล่าวว่า การคัดลอกผลงานก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้สถาบันอเมริกันเซ็นเตอร์ได้ร่วมมือกับสถานทูตอเมริกันเปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษและวิชาอื่นๆ ในย่างกุ้ง "เรากำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่คือ นักศึกษาไม่มีทักษะสำหรับงานที่ต้องการผู้ที่จบระดับมหาวิทยาลัย"

 

ปัจจุบันอเมริกันเซ็นเตอร์กำลังเตรียมยื่นข้อเสนอให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ในมหาวิทยาลัย "นักศึกษาที่นี่กระตือรือร้นและมุ่งมั่นมากที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมา แต่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเพียงพอ"

 

 

 

แปลจาก In Myanmar, Classrooms Provide Litmus Test of Change โดย LARA FARRAR จาก www.nytimes.com 5 พฤษภาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น