วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พม่า ในวันที่โอบามากำลังจะมาเยือน



กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า – ภาคตะวันตกของประเทศ ประชาชนกำลังหนีตายออกจากบ้านที่ถูกเพลิงเผาจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนา  ส่วนทางภาคเหนือ ผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองต้องอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงที่แออัดคับแคบซึ่งขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต  ขณะที่ในเรือนจำ นักโทษการเมืองจำนวนหลายร้อยชีวิตมีสภาพที่อ่อนล้าอยู่หลังกรงเหล็ก รอคอยว่าเมื่อไหร่จะได้รับอิสรภาพเสียที

 

นี่ไม่ใช่ภาพของพม่าที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาจะได้สัมผัส ในฐานะผู้นำสหรัฐอเมริกาท่านแรกที่จะมาเยือนพม่าในวันจันทร์ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ เขาต้องการที่จะเดินทางมาเพื่อตอกย้ำการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่ามาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว แต่หลายฝ่ายเกรงว่าอาจจะเร็วเกินไป

 

การปฎิรูปประเทศอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่อ่อนไหว การเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งจะเริ่มต้นก็ได้เกิดเหตุการณ์นองเลือดไปแล้ว แถมยังมีงานที่คั่งค้างหลายอย่างที่รอการสะสางอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเลิกกฎเหล็กต่างๆ ที่จะเป็นผลดีต่อกลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปไตย ไปจนถึงการรื้อโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่ยังเอื้อประโยชน์ต่อกองทัพอยู่

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาวได้ออกมาเตือนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า การเดินทางเยือนพม่าไม่ควรจะถูกมองว่าเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะ และย้ำว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องดำเนินการสะสาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองรวมถึงการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกันด้วย

 

“ในเวลานี้ ขณะที่เราเชื่อว่าบรรดาผู้นำพม่าได้เดินมาถูกทางแล้ว แต่ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ที่เราไม่พลาดช่วงเวลาที่จะสนับสนุนให้พวกเขาก้าวต่อไป” แดนนี รัสเซล ที่ปรึกษาของโอบามาเกี่ยวกับเอเชีย กล่าว

 

แต่ก็เป็นที่น่าฉงนเล็กน้อยที่การเปลี่ยนแปลงในพม่าเกิดขึ้นรวดเร็วและไปไกลกว่าที่ผู้คนที่นี่จะกล้าคิดกล้าฝัน

 

สองปีที่แล้ว พม่าคือประเทศทรราชที่ถูกรัฐบาลสหรัฐโดดเดี่ยว มีกองทัพที่เป็นที่เกลียดกลัวไว้ใจไม่ได้ในบรรดาประเทศตะวันตกเป็นผู้บริหารประเทศ มิหนำซ้ำยังปฏิเสธความช่วยเหลือจากนานาชาติแม้แต่ในช่วงที่ถูกพายุนาร์กิสพัดถล่มในปี 2008 ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากกว่าแสนคน

 

แม้ว่ารัฐบาลทหารจะยอมมอบอำนาจในการบริหารประเทศให้แก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว แต่น้อยคนนักที่จะคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งถูกพรรคฝ่ายค้านบอยคอต เป็นการเลือกตั้งที่ปราศจากความยุติธรรมและไม่เป็นอิสระ นอกจากนี้เต็งเส่ง ประธานาธิบดีคนใหม่ ก็ยังเป็นอดีตนายพล อีกด้วย

 

ทว่า รัฐบาลเต็งเส่งก็ได้ทำให้ทั่วโลกประหลาดใจ ด้วยการปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวนหลายร้อยคน แต่ก็ยังไม่ครบทุกคน และยังได้ลงนามหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกการคุมเข้มสื่อ รวมทั้งแก้ไขกฎหมายการเงินและการลงทุนใหม่อีกด้วย

 

นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันได้รับการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในผู้บัญญัติกฎหมายอยู่ในสภา

 

ในวันนี้ ความปรองดองที่เกิดขึ้นเป็นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเดินหน้า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า อนาคตจะสดใสเสมอไป นี่คือคำกล่าวของตั้นมิ้นอู นักประวัติศาสตร์พม่า หลานชายของนายพลอูตั้น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติหนึ่งเดียวชาวพม่า

 

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้นำทางการเมืองในระดับสูงแต่อยู่ที่ความท้าทายอันยิ่งใหญ่ในประเทศนี้หลังจากผ่านสงคราม การปิดกั้น และการถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติมายาวนานหลายทศวรรษ

 

พม่าเป็นประเทศที่ประชาชนยังคงใช้วัวเทียมเกวียน อาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่ ไม่ต่างจากศตวรรษที่ผ่านมา ระบบการศึกษาและระบบบริการสุขภาพยังคงถูกละเลยและย่ำแย่ แม้ว่าประเทศจะสามารถส่งออกไฟฟ้าไปยังต่างประเทศ แต่โครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศยังคงขาดแคลนและขาดการจัดการที่ดี มีประชาชนเพียงรอยละ 25 เท่านั้นที่มีไฟฟ้าใช้

 

บุคลากรที่มีคุณภาพต้องพลัดถิ่นอาศัยอยู่ต่างประเทศ ย้อนไปเมื่อปี 1988 มีการปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและพวกเขาเหล่านั้นถูกกดดันให้หนีออกจากประเทศ ขณะที่ผู้ลี้ภัยจากพม่าที่เข้ามาพักพิงในเขตชายแดนไทยเพียงแห่งเดียวมีจำนวนนับแสน ซึ่งปัจจุบันยังคงอาศัยอยู่ในค่ายและยังไม่สามารถกลับไปยังบ้านเกิดได้

 

แม้รัฐบาลเต็งเส่งจะได้รับความเชื่อใจจากผลงานที่ผ่านมามากแค่ไหน แต่ก็มาล้มเหลวกับสำหรับสงครามกลางเมืองในรัฐคะฉิ่นหลังฉีกสัญญาหยุดยิงที่มีมายาวนานกว่า 17 ปี ส่งผลให้เกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่องและมีผู้พลัดถิ่นมากถึง 75,000 คน

 

ขณะที่ทางภาคตะวันตกของพม่า มีประชาชนกว่า 110,000 คนต้องพลัดถิ่นจากการปะทะกันระหว่างชาวพุทธอาระกันกับชาวโรฮิงยา ซึ่งชาวโรฮิงยาจำนวนมากเกิดในประเทศพม่าแต่กลับถูกปฏิเสธความเป็นพลเมืองเนื่องจากในสายตาของรัฐบาล พวกเขาคือคนต่างด้าวจากบังกลาเทศ นอกจากนี้กลุ่มต่อต้านชาวมุสลิมยังพุ่งเป้าไปที่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มคะมานด้วย

 

“กรุณาบอกโอบามาด้วยว่า เราอยากกลับบ้าน” หญิงคนหนึ่งในเขตซินเต็ดมอว์ ชุมชนชาวคะมานที่นับถือศาสนาอิสลาม กล่าว เธอเป็นหนึ่งในบรรดาชาวคะมานกว่า 5,000 คนที่ต้องหนีไปทางเรือหลังกลุ่มคนชาวพุทธเผาทำลายหมู่บ้าน “เราไม่มีโรงเรียน ไม่มียา ไม่มีห้องสุขา เราต้องการความช่วยเหลือแต่ไม่มีใครช่วยเราเลยตอนนี้” โอมาร์ซอว์ วัย 48 ปีกล่าว

 

แม้ว่าความขัดแย้งในภาคตะวันตกจะเกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่ก็คุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้งหลังจาก เสรีภาพของประชาชน ที่สหรัฐได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาช้านาน มีมากขึ้นในประเทศ ซึ่งกระแสต่อต้านชาวโรฮิงยากำลังร้อนแรงมากในโลกออนไลน์

 

รัฐบาลพม่าได้ยกเลิกกฎหมายห้ามชุมนุมที่มีมายาวนาน เป็นการเปิดทางให้กลุ่มประชาชนนำโดยพระสงฆ์สามารถเดินขบวนต่อต้านชาวโรฮิงยาได้ทั่วประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ได้ปะทุลุกลามจนเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

“ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เสียงที่ถูกปิดกั้นมานานได้แสดงออก แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย…แต่ที่จัดเจนคือ พม่าไม่ใช่ประเทศเผด็จการทหารอีกต่อไป” อองนายอู จาก Vahu Development Institute think-tank กล่าว เขาเพิงมีโอกาสได้กลับไปยังบ้านเกิดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่จากมานานกว่ายี่สิบปี

 

ความเท่าเทียมกันในระบอบประชาธิปไตยทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งในรัฐอาระกันนั้นยากขึ้น เนื่องจากประเด็นเรื่องโรฮิงยาไม่ค่อยมีนักการเมืองคนไหนที่จะปกป้องพวกเขา ซึ่งไม่ใช่เต็งเส่งแน่ๆ รวมถึงนางออกซาน ซูจีที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยวันเลือกตั้งสมัยหน้าในปี 2015 ด้วย และสำหรับสหรัฐอเมริกาเองก็คงช่วยจะไรได้ไม่มากเช่นกัน

 

ผลประโยชน์ของสหรัฐ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจในดินแดนที่เต็มไปด้วยทรัพยากรอย่างพม่า จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการมาเยือนของโอบามาในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะขยายอิทธิพลของสหรัฐเข้ามาในภูมิภาคนี้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จีนกำลังครอบงำอยู่

 

การตัดสินใจของรัฐบาลวอชิงตันในการขยายเวลามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจก็ถูกลดหย่อนลงไปมาก อ่องดิน จากองค์กร US Campaign for Burma ในกรุงวอชิงตันกล่าว “สิ่งที่เป็นความเสี่ยง หากไม่มีแรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจ ก็คือ เราจะไม่ได้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยเดินหน้า ”

 

จาก Despite Reforms, Much Work Remains โดย TODD PITMAN  จาก irrawaddy.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น