วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ความท้าทายใหม่ของหนังสือพิมพ์พม่าหลังยุคเผด็จการ

[caption id="attachment_6873" align="aligncenter" width="650"]Myanmarnewspaper ภาพ David Hogsholt for The New York Times[/caption]

ย่างกุ้ง ประเทศพม่า - ปีนี้สื่อมวลชนพม่าได้ออกมาฉลองเมื่อรัฐบาลอนุญาตให้เอกชนทำหนังสือพิมพ์รายวันได้ จากที่เคยถูกแบนมาเป็นเวลากว่า 50 ปี แต่ทว่า 6 เดือนหลังจากนั้น สื่อรายวันนับสิบรายที่เร่งผลิตสื่อออกมา รวมถึงบรรดานักข่าวที่เคยอดทนกับความโหดของเผด็จการทหารมาก่อน เวลานี้ต่างก็ต้องประสบกับปัญหาใหม่ที่ธรรมดากว่านั้น นั่นก็คือ พลังตลาด

 

แม้จะมีความคาดหวังว่าจะมีความต้องการจากผู้อ่านหลังจากถูกปิดกั้นมานาน แต่สำนักพิมพ์หลายรายก็ประสบปัญหาเรื่องการขาดการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการแข่งขันจากอินเทอร์เน็ต

 

"สำนักพิมพ์ทุกแห่งต่างก็เจ็บตัวกันทั้งนั้น" อู ซันนี่ส่วย กรรมการผู้บริการจากมิซซิมา มิเดียกรุ๊ป ที่ผลิตหนังสือพิมพ์รายวัน กล่าว "คุณต้องพร้อมที่จะสู้ และพร้อมที่จะเสีย"

 

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์รายวัน 3 ฉบับจากจำนวนทั้งหมด 12 ฉบับที่เริ่มดำเนินการในปีนี้ได้ปิดตัวไปแล้ว ส่วนที่เหลือยังไม่มีรายงานว่าฉบับไหนที่มีกำไร

 

สิ่งที่สำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันในพม่ากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ธุรกิจหนังสือพิมพ์ทั่วโลกต่างก็ประสบมาหลายปีแล้ว อย่างเช่น จำนวนผู้อ่านสิ่งตีพิมพ์ที่ลดลงอย่างมาก แต่หนังสือพิมพ์รายวันของพม่าดำเนินการอยู่ในประเทศที่ยากจน ซึ่งสิ่งที่สืบทอดจากรัฐบาลทหารยังอยู่ หนังสือพิมพ์เอกชนกำลังแข่งขันกับหนังสือพิมพ์ของรัฐซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลที่ยังคงดำเนินการอยู่

 

การกระจายหนังสือพิมพ์ยังมีปัญหาสำหรับสื่อเอกชน โดยเฉพาะฤดูมรสุม และยังกระจายไปไม่ถึงพื้นที่ชนบท นอกจากนี้ราคาทั่วไปอยู่ที่ 20 เซ็นต์ (หรือ 6 บาท) ยังเป็นราคาที่สูงไปสำหรับหลายคน ขณะที่หนังสือพิมพ์ของรัฐราคาถูกกว่ามาก

 

ทั้งนี้ ในอดีต รัฐบาลพม่าได้สั่งห้ามเอกชนผลิตหนังสือพิมพ์รายวันมาตั้งแต่ช่วงปี 1960 จนกระทั่งรัฐบาลทหารเข้ามาปกครองประเทศเมื่อปี 1988 จึงได้อนุญาตให้เอกชนดำเนินการผลิตหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ได้ แต่ก็มีการเซ็นเซอร์อย่างหนัก ต่อมารัฐบาลพลเรือนที่ได้เข้ามาปกครองพม่าเมื่อปี 2011 ได้ยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่อแลอนุญาตให้เอกชนตีพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันได้ โดยเริ่มมีการเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนหลังจากได้รับใบอนุญาต

 

ดอว์เหญ่งเหญ่งนาย บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์เซเว่นเดย์รายวัน หนึ่งในสื่อหน้าใหม่ในวงการ กล่าวว่า การหานักข่าวที่ดีเป็นเรื่องยาก เธอบอกว่า นักข่าวหลายคนของเธอติดเฟซบุ๊ค และมักจะโพสต์เรื่องราวต่างๆ ลงในเฟซบุ๊คมากกว่าที่จะส่งเรื่องให้บรรณาธิการ เธอยังบอกว่า ผู้อ่านชอบหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ที่ลงเรื่องที่หวือหวา "ผู้คนเขาไม่ซื้อคุณภาพ" เธอกล่าว

 

"มันเป็นความฝันของเราที่จะทำหนังสือพิมพ์รายวัน บางครั้งฉันรู้สึกว่า อาจจะเร็วไปสำหรับพม่าที่จะมีหนังสือพิมพ์รายวัน เราไม่ได้มอบคุณภาพที่ดีที่สุดให้ผู้อ่าน บางที เราอาจจะยังไม่พร้อม โดยเฉพาะด้านบุคลากร"

 

เนื่องจากอนาคตของพม่ายังไม่แน่นอน และยังต้องประสบกับปัญหาเหตุการณ์รุนแรง รวมถึงข้อกังขาในอำนาจและอิธิพลของกองทัพ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรายงานข่างที่มีคุณภาพจากทั่วประเทศ

 

เรื่องดังกล่าวเห็นได้จากช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมหลายครั้งในปีนี้ อูตานทุตอ่อง ประธานกรรมการของอีเลเว่นมีเดียกรุ๊ป ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ กล่าว

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงในใจกลางเมืองเม็กทีลาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งของเขาถูกกลุ่มม็อบชาวพุทธที่โกรธแค้นตามล่า ส่วนช่างภาพอีกคนที่ถูกส่งไปจากเมื่องใกล้ๆ ก็เผชิญหน้ากับม็อบและต้องหลบอยู่ในสถานีตำรวจ ขณะที่ช่างภาพคนที่สามถูกส่งไปทำงานโดยทำทีว่าเป็นนักธุรกิจต้องทำงานอย่างระมัดระวังตัว โดยเขาได้เข้าไปถ่ายภาพในเมืองที่บ้านเรือนถูกเผาทำงายและมีผู้เสียชีวิตจำนวน 44 คน ทั้งนี้ภาพจากเดลี่อีเลเว่นเป็นหนึ่งในภาพแรกๆ ที่ถูกส่งไปจากพื้นที่หลังเกิดเหตุรุนแรง

 

อูตานทุตอ่อง กล่าวว่า เขาพิมพ์หนังสือพิมพ์เดลี่อีเลเว่นจำนวน 85,000 ฉบับ แต่ยังไม่ได้กำไรคืนทั้งๆ ที่เป็นสื่อเอกชนรายใหญ่ที่สุด เงินทุนที่ใช้ในการตีพิมพ์มาจากรายได้ของหนังสือพิมพ์กีฬารายสับดาห์ที่เผยแพร่มากว่า 13 ปี และยังคงทำเงินได้อย่างต่อเนื่อง

 

ทว่า หนังสือพิมพ์รายเล็กไม่ได้มีทุนอย่างนั้น

 

อูตีฮาซอว์ นักข่าวที่ทำงานมานานและต้องสู้รบปรบมือกับการเซ็นเซอร์มาหลายต่อหลายครั้งในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร ได้ผลิตหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ฟรีดอม ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเอกชนฉบับเดียว

 

"เราต้องประหยัดและขายอพาร์ทเม้นต์" อูตีฮาซอว์ กล่าว เขายังดำรงตำแหน่งรองประธานของสมาคมนักข่าวพม่าด้วย "ญาติสนิทมิตรสหายต่างช่วยกันลงขัน"

 

เขากำลังคิดที่จะจูงใจนักลงทุนจากภายนอกแต่ก็กังวลว่า เงินเหล่านั้นอาจมาพร้อมกับเงื่อนไขผูกมัด

 

อย่างไรก็ตาม บรรดานักข่าวต่างกล่าวว่าพวกเขากำลังเผชิญกับการต่อสู้ที่ไม่เป็นธรรมกับหนังสือพิมพ์ของรัฐ โดยเฉพาะการที่หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลวางจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่ามาก และมีโฆษณาจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่เคยเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับเดียวในประเทศมาก่อน

 

อูจ่อซวาโม บรรณาธิการภาคภาษาอังกฤษของอิระวดี ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวที่มีผู้อ่านจำนวนมากและตีพิมพ์นิตยสารรายเดือน กล่าวว่า หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลเป็นตัวถ่วงการพัฒนาสื่ออิสระในประเทศ

 

"ในสังคมประชาธิปไตย คุณไม่ได้ค่ดหวังให้กระทรวงข่าวสารออกหนังสือพิมพ์ มันเป็นตัวขวางกั้นเสรีภาพของสื่อ และขวางทางสื่อเอกชนและสื่อมวลชนอิสระ"

 

นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์รายวันหน้าใหม่บางฉบับที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แม้จะเป็นเอกชนก็ตาม

 

หนังสือพิมพ์ยูเนี่ยนเดลี่ ที่ตีพิมพ์โดยพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยอดีตรัฐบาลทหาร ซึ่งครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภา ที่มีเจตตาในการทำงานกันอย่างเปิดเผย

 

"หนังสือพิมพ์ยูเนี่ยนเดลี่สะท้อนนโยบายของ USDP " อูวินติ่น อดีตนายทหารที่ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร กล่าว "เราทำงานประชาสัมพันธ์ให้กับ USDP"

 

บรรณาธิการหลายท่ายกล่าวว่า ในระยะยาว ทั้งหนังสือพิมพ์เอกชนและสื่อรัฐบาลจะทำงานกันยากกว่านี้

 

ด้วยการพัฒนาของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และบริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่จากต่างชาติที่จะเข้ามาจัดตั้งระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถนำพาคนหลายสิบล้านเข้าไปสู่โลกออนไลน์เป็นครั้งแรก ดูเหมือนพม่ากำลังเดินตามรอยเทรนด์ของโลกที่ผู้คนต่างก็อ่านข่าวออนไลน์

 

"หนังสือพิมพ์เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศเรา เพราะเหตุนี้ใครๆ จึงออกมาตีพิมพ์" อูซันนี้ส่วยจากมิซซิม่า กล่าว "แต่คุณไม่ต้องการอยู่ในหนังสือพิมพ์เป็นสิบปีหรอก" เขากล่าว "อนาคตของเราคือในโทรศัพท์มือถือ"

 

จาก In Myanmar, Newly Free Media Struggle to Turn a Profit
โดย THOMAS FULLER New York Time 24 พฤษจิกายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น