วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

“เจ้าสาวข้ามชายแดน” การค้ามนุษย์จากรัฐฉานสู่จีน

ตาอั้ง
ล่าเสี้ยว รัฐฉาน – ลเว ไม ฟุปหน้าลงบนตัก เธอดูท่าทางเหนื่อยอ่อนเต็มทีหลังจากนั่งรถเดินทางผ่านถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อจากเมืองชายแดนหมู่เจ้ มายังล่าเสี้ยว ทางตอนเหนือของรัฐฉาน

ลุงของเธอนั่งอยู่ข้างๆ กำลังพูดคุยกับเพื่อนบ้านชาย  เรื่องเลวร้ายได้ผ่านไปแล้ว ตอนนี้เป็นเวลาที่จะคุยกันว่า มันเพิ่งเกิดอะไรขึ้น และแย่แค่ไหน

หลายชั่วโมงที่ผ่านมา ลเว ไม หญิงสาวชาวตะอั้งวัย 18 ปี และ ลเว นวย เพื่อนของเธอวัย 16 ปี ถูกนำตัวไปที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองหมู่เจ้ ทั้งสองเดินทางจากหมู่บ้านหลายชั่งโมงไปกับหญิงคนหนึ่งที่สัญญาว่าจะพาไปทำงานที่เมืองจีน

ที่โรงแรงแห่งนั้นในเมืองหมู่เจ้ ทั้งสองกลัวมาก หนึ่งในจำนวนนั้นหาทางโทรไปหาพ่อแม่ โดยที่พ่อแม่ได้ติดต่อไปยังองค์กรเยาวชนและนักศึกษาตะอั้ง (TSYO) จากนั้นองค์กรดังกล่าวจึงได้เข้าช่วยเหลือ พาหญิงสาวทั้งสองเดินทางจากหมู่เจ้ กลับมายังล่าเสี้ยว ซึ่งองค์กรฯ มีสำนักงานอยู่ที่นั่น

ไม นอว์ เมนท์ จาก TSYO สงสัยว่า เด็กสาวทั้งสองคนอาจจะโชคดีสามารถรอดพ้นจากกระบวนการค้ามนุษย์ที่มีแผนจะขายหญิงสาวให้ไปเป็นภรรยาชายชาวจีน

อัตราส่วนประชากรของจีน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายมีลูกคนเดียวของจีน และวัฒนธรรมความเชื่อของชาวจีนที่ต้องการมีลูกชายมากกว่าลูกสาว ส่งผลให้ชาวชาวจีนจำนวนหลายล้านคนไม่มีคู่ ชายชาวจีนหลายคนเลือกที่จะจ่ายเงินให้กับนายหน้าให้จัดหาภรรยาให้ ซึ่งนายหน้าจำนวนไม่น้อยได้ล่อลวงหญิงสาวจากประเทศเพื่อนบ้านโดยหลอกลวงว่าจะหางานให้ทำในเมืองจีน

ในกรณีนี้ นายหน้าได้ล่อลวงหญิงสาวชาวตะอั้งทั้งสองคนให้เดินทางออกจากหมู่บ้านโดยที่ไม่ได้บอกพ่อแม่ ซึ่งเด็กสาวมักจะไว้ใจคนที่อายุมากกว่า นอกจากนี้ นายหน้าคนดังกล่าวยังมาจากหมู่บ้านเดียวกันและแม่ของเธอก็ยังอยู่ในหมู่บ้าน เด็กสาวจึงหลงเชื่อ

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เครือข่ายกระบวนการค้ามนุษย์จะจ้างนายหน้าในหมู่บ้านเพื่อหลอกคนในหมู่บ้านเดียวกัน ไม นอว์ เมนท์ กล่าว ขณะกำลังโทรศัพท์ไปหาพ่อแม่ของหญิงสาวที่ถูกหลอกซึ่งกำลังว้าวุ่นใจ เพื่อคุยกันเรื่องแผนที่จะส่งตัวหญิงสาวกลับบ้านไปกับลุงของเธอ

ผู้ประสานงานโครงการสิทธิมนุษยชนและข่าวสารของ TSYO กล่าวว่า วิธีการเช่นนี้เริ่มมีขึ้นหลังจากที่ชาวบ้านเริ่มไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าเนื่องจากมีหญิงสาวเริ่มหายตัวไป

“ตอนนี้กระบวนการค้ามนุษย์กำลังใช้คนในหมู่บ้านที่เป็นที่รู้จักเป็นตัวกลาง” ไมนอว์เมนท์ กล่าว

หญิงสาวอาจคิดว่า” มันดูน่าสนใจมาก” เมื่อมีผู้หญิงแต่งตัวดีเข้ามาในหมู่บ้านและชักชวนให้ไปทำงานที่ประเทศจีน เขากล่าว “พวกเธอคิดว่า ถ้าตามหญิงคนนั้นไป ก็จะมีรายได้ดี”

ที่ก๊ดข่าย หมู่บ้านที่ไม นอว์ เมนท์ อาศัยอยู่ มีหญิงสาวหายตัวไป 3 คน

เขาเล่าว่า มันเกิดขึ้นหลังจากคนหมู่บ้านกลับมาจากเมืองจีนและสัญญาว่าจะหางานให้คนหนุ่มสาวในหมู่บ้าน มีคนตามเขาไปที่โรงแรมในหมู่เจ้ 6 คน เมื่อไปถึงที่นั่น จะมีการแยกหญิงกับชายให้อยู่คนละห้อง เมื่อกลุ่มผู้ชายตื่นขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น ชายคนดังกล่าวก็หายตัวไปพร้อมกับหญิงสาว คาดว่าน่าจะข้ามชายแดนไปแล้ว เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว และจนถึงตอนนี้ ครอบครัวก็ยังไม่สามารถติดต่อลูกสาวได้

หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับกระบวนการค้ามนุษย์ของยูเอ็น ประมาณการว่า การค้ามนุษย์ในพม่าที่พบในปี 2010 เป็นการขายผู้หญิงและเด็กสาวให้เป็นภรรยาชายชาวจีน ถึงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดจากหน่วยงานตำรวจพม่าพบว่ามีจำนวนมากกว่านั้น คื 80 เปอร์เซ็นต์ของกรณีการค้ามนุษย์ทั้งหมด

วิถีชีวิตที่สูญสิ้น
ชาวตะอั้ง หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ชาวปะหล่อง มีวิถีชีวิตที่พึ่งพารายได้จากการเก็บใบชา แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ชาราคาถูกกว่าจากจีนได้เข้ามาตีตลาด ราคาใบชาในท้องที่จึงตกต่ำ ซึ่งมีผลกับวิถีชีวิตของชาวตะอั้งเป็นอย่างมากที่ไม่สามารถสู้ราคากับบริษัทใหญ่จากจีนได้

ราคาใบชาเริ่มตก ในขณะที่ฝิ่นราคาพุ่ง ในหลายพื้นที่ที่ชาวตะอั้งอาศัยอยู่ กองกำลังที่มัรัฐบาลหนุนหลัง สนับสนุนให้เปลี่ยนมาปลูกฝิ่นแทน

พ่อค้ายาเสพติดที่ควบคุมกองกำลังเหล่านั้นมักจะพยายามทำให้แรงงานติดยาบ้า เพราะจะทำให้สามารถทำงานได้หนักมากขึ้นและนานขึ้น เมื่อแรงงานติดยาแล้ว ก็จ่ายค่าแรงเป็นยาเสพติดแทน ซึ่งถูกกว่ามาก ไมนอว์เมนท์กล่าว

สุดท้ายแล้ว อัตราการติดยาเสพติดของชายชาวตะอั้งจึงพุ่งสูงขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ จากรายงานขององค์กรสตรีตะอั้ง “Poisoned Hill” ระบุว่า จากการสำรวจหมู่บ้านหนึ่งในเมืองโต๋น มีชายอายุ 15 ปีขึ้นไป ติดฝิ่นเพิ่มขึ้น จาก 57 เปอร์เซ็นต์ในปี 2007 เพิ่มขึ้นเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ในปี 2009

ที่แย่ไปกว่านั้น ชุมชนชาวตะอั้งหลายแห่งถูกกองกำลังทหารพม่าโจมตี เพราะกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้ง ได้เข้าร่ามเป็นพันธมิตรกับกองกำลังเอกราชคะฉิ่น ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาลพม่าปะทุขึ้นรอบใหม่ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2011 การสู้รบได้ทำลายหมู่บ้านหลายแห่งในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานตอนเหนือ ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นภายในกว่า 1 แสนคนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกบังคับใช้แรงงานทาส และถูกลักลอบค้ามนุษย์ ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์โดยรัฐบาลสหรัฐเมื่อปี 2014

รัฐบาลเพิกเฉย

รัฐบาลพม่าและรัฐบาลจีนได้สัญญาว่าจะร่วมมือกันต่อสู้กับวิกฤติการณ์การค้ามนุษย์ที่รุนแรงขึ้น โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศเพิ่งจะร่วมลงนามใน MoU เกี่ยวกับการค้ามนุษย์เพื่อจุดประสงค์ในการแต่งงานเมื่อไม่นานมานี้

รัฐบาลจีนได้จัดตั้งสำนักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ขึ้นภายใต้กระทรวงรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ในขณะที่กระทรวงอื่นๆ และองค์กร NGO หลายองค์กรก็ได้เข้ามาทำงานเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวให้กับเหยื่อตามเส้นทางการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามเฉพาะผู้หญิงกับเด็กเท่านั้นที่จะได้รับการปกป้อง ในขณะที่ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นเหยื่อ ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าข่ายเหยื่อกระบวนการค้ามนุษย์จะได้รับการช่วยเหลือด้านการเงินและบัตรผ่านข้ามแดนเพื่อให้สามารถเดินทางกลับพม่าได้อย่างปลอดภัย

ในพม่า รัฐบาลได้จัดทำแผนปฏิบัติการต่อสู้กับกระบวนการค้ามนุษย์ระยะเวลา 5 ปี ในปี 2012 โดยได้รับงบประมาณในการดำเนินงาน 780,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากองค์กรเอ็นจีโอต่างชาติ ในส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการ พม่าได้จัดตั้งหน่วยงานต่อต้านการค้ามนุษย์ภายในหน่วยงานตำรวจ ในปี 2004 ที่จะเป็นตัวกลางในการประสานงานกิจกรรมต่างๆ กับหน่วยงานด้านกสค้ามนุษย์อื่นๆ รวมทั้งได้จัดตั้งกองกำลังต่อต้านการค้ามนุษย์ 26 หน่วย ประจำในพื้นที่เสี่ยงด้วย

ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อต้านการค้ามนุษย์มากกว่า 1 พันนาย ที่ทำงานเกี่ยวกับเคสต่างๆ ในพม่าและกำลังเสริมในต่างประเทศ ทว่า จากรายงานการค้ามนุษย์เมื่อปี 2014 กลับพบว่า การคอรัปชั่นและการขาดความน่าเชื่อถือในพม่านั้นมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายค้ามนุษย์ โดยที่ตำรวจ “ได้จำกัดการสืบสวนสอบสวนเมื่อพบว่าผู้ที่ถูกร้องเรียนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เป็นบุคคลที่มีความสำพันธ์อันดีกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวมไปถึงกรณีการบังคับใช้แรงงานและการขายบริการด้วย”

รายงานดังกล่าวระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าหญิงสาวส่งไปยังประเทศจีน โดยรายงานระบุถึง 2 กรณีว่า องค์กรแรงงานงานระหว่างประเทศ ILO ได้กล่าวหาภรรยาของเจ้าหน้าที่ในกองทัพ 2 คน ว่าอยู่ในกระบวนการด้วย แต่ก็ “ไม่มีการดำเนินการฟ้องร้องผู้กระทำผิดแต่อย่างได”

ไม นอว์ เมนท์และเพื่อนๆ สมาชิกใน TSYO ไม่รอให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ในชุมชนชาวตะอั้ง กลุ่มของเขาได้จัดทำโครงการเฝ้าระวังการค้ามนุษย์และได้จัดทีมเคลื่อนที่เพื่อเตรียมพร้อมช่วยเหลือหากเกิดเหตุอย่างกรณีของหญิงสาวชาวตะอั้งทั้ง 2 คนอีก

เมื่อปีที่แล้ว TSYO ได้เปิดโรงเรียนกินนอนหนึ่งแห่งที่ล่าเสี้ยวสำหรับเด็กชาวตะอั้งที่มีฐานะยากจน ซึ่งไม นอว์ เมนท์ หวังว่าในอนาคต การศึกษาจะทำให้เยาวชนชาวตะอั้ง อย่าง ลเว ไม และ ลเว นวย มีความมั่นใจ มีทักษะชีวิตที่จำเป็นเพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของกระบวนการค้ามนุษย์ได้

จาก บทความ Brides for Bachelors
โดย BRENNAN O’CONNOR /Irrawaddy
http://www.irrawaddy.org/magazine/brides-bachelors.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น