วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

"น้ำตาลเมา" สาโธเพื่อชีวิต

tan1

มัณฑเลย์ - เมื่อถึงหน้าร้อน ใครที่อยากกำจัดความอ่อนล้าจากอากาศร้อนก็มักจะออกไปเที่ยวชายหาดหรือขึ้นภูเขาที่อากาศเย็นๆ กัน แต่สำหรับใครที่อยากเพิ่มความกระฉับกระเฉงเล็กๆ น้อยๆ และอยากสัมผัสชีวิตผู้คนในหมู่บ้านที่บริสุทธิ์ ก็สามารถเดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่ห่างจากมัณฑเลย์ไปทางเหนือแค่ 25 กิโลเมตรได้

 

ตลอดเส้นทางถนนลูกรังแคบๆ เต็มไปด้วยหลุมบ่อ ผ่านสุสานร้างและไร่นา เมื่อมาถึงเชิงเขา ตะขิ่นมะ นักเดินทางจะได้พบกับต้นตาลสูงๆ ที่ให้ร่มเงาและผูกพันธ์กับวิถีชีวิตของหมู่บ้านแห่งนี้หลายร้อยต้น

 

ใต้ร่มสะเดาและต้นตาล มีกระท่อมหลังเล็กๆ หลายหลังเชื้อเชิญให้นักเดินทางแวะพัก บางคนแค่ได้หลบร้อนอยู่ใต้ร่มเงาไม้ก็มีความสุขแล้ว

 

หมู่บ้านแห่งนี้ชื่อว่า เอ่ง เช มิน ทาน ต่อ หรือแปลว่า หมู่บ้านราชาแห่งต้นตาล ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องต้นตาลตามชื่อหมู่บ้าน ครั้งหนึ่งที่นีเคยปกครองโดยพระเจ้ากะนอง มกุฎราชกุมารแห่งมัณฑเลย์ในช่วงศตวรรษที่ 19 ในสมัยกษัตริย์มินดง

 

น้ำตาลเมา รสหวาน หอม สีขาวขุ่น ทำจากน้ำตาลสดจากธรรมชาติที่ได้จากการตัดงวง หรือส่วนที่เป็นเดอก เมื่อตัดแล้วจะปล่อยให้น้ำหวานไหลออกมาจากต้นลงไปยังหม้อดินเผาที่ผูกติดไว้กับต้นไม้ เป็นเครื่องดื่มที่ชื่นชอบของชาวพม่ามานานหลายร้อยปี ของทุกชนชั้น ตั้งแต่กษัตรยิ์ไปจนถึงชาวนา การนำไปหมักทำให้รสชาติมีกลิ่นแอลกอฮอล์ คล้ายกับเบียร์ ซึ่งดีกรีจะแรงขึ้นถ้าทิ้งไว้ทั้งวัน ปัจจุบัน มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "Sky Beer" เพราะมาจากยอดต้นตาล

 

ร้านอื่นๆ ในมัณฑเลย์ หรือที่อื่นๆ ที่ขายน้ำตาลเมา อาจมีการนำเหล้าหรือน้ำมาผสมเพื่อให้ได้ปริมาณที่มาก แต่ที่หมู่บ้านแห่งนี้จะเสิร์ฟเฉพาะน้ำตาลเมาแท้ๆ ไม่เจือปน จึงมีลูกค้าเก่าๆ แวะเวียนมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งที่นี่มีมีกับแกล้มจากป่า ซึ่งรวมไปถึงเนื้อกิ้งก่าด้วย

 

 

เสียงสนทนาและเสียงหัวเราะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ในกระท่อมน้อยเพราะฤทธิ์ของน้ำตาลเมา ในขณะที่ ข่าย ทู ที่ครอบครัวของเขาปลูกต้นตาลกว่า 150 ต้น กำลังเตรียมตัวจะปีนขึ้นไปเก็บน้ำตาลจากหม้อดินเผาที่เขาผูกติดอยู่บนต้นตาลเมื่อตอนเช้า

 

"เรามีรายได้ประมาณ 20,000 - 80,000 จั๊ต (600-2400 บาท) ในวันปกติ แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาลหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็จะได้ถึง 2 เท่า" เขาบอก พลางยกบันไดไม้ไผ่ขึ้นพาดต้นตาล

 

สมาชิกทั้ง 6 คนในครอบครัวของ ข่าย ทู อยู่ได้ด้วยการขายน้ำตาล แต่ชาวบ้านที่นี่ก็จะปลูกพริก ถั่วลิสง และข้าวโพดด้วย

 

จนกระทั่งปี 2000 แทบไม่มีลูกค้ามาที่หมู่บ้าน ชาวบ้านจึงส่งน้ำตาลเมาไปขายในเมืองมัณฑเลย์ แต่เมื่อไม่นานมานี้ หมู่บ้านแห่งนี้ก็กลับมาเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

 

"ผมพาเพื่อมาที่นี่บ่อยๆ เพราะอยากสัมผัสกชีวิตชาวบ้าน และอยากดื่มน้ำตาลใต้ต้นตาลเหมือนที่บรรพบุรุษเคยทำมา"

 

หลายหมู่บ้านในภาคกลางของพม่ามีรายได้เลี้ยงชีพจากต้นตาลเป็นหลัก ทั้งนำไปทำเครื่องดื่มและน้ำตาลปึก แต่ไม่กี่ปีมานี้ หลายคนเลิกทำสวนตาล เพราะบางส่วนลูกหลานไปทำงานต่างประเทศ คนที่เหลือก็ไม่มีใครมีแรงปีนต้นตาลได้

 

ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ชาวบ้านมีความสุขที่ยังคงวิถีชีวิตที่พึ่งพาต้นตาลอยู่

 

"เพราะมีรายได้มากเกินพอสำหรับเลียงปากท้อง แล้วจะไปทำงานต่างประเทศทำไม" มิ้นท์ หน่าย ช่วยพี่ชายร่างอ้วนปีนต้นตาลเก็บน้ำตาลอย่างคล่องแคล่ว

 

"เราเชื่อว่า ถ้าเราดูแลเอาใจใส่ลูกค้าและบริการอย่างดีแล้ว ตราบใดที่ยังมีต้นตาล เราก็ไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นอยู่หรืออนาคตเลย"

 

แปลจาก Taste the Sky With a Juice Fit for a Prince
โดย ZARNI MANN / THE IRRAWADDY
27 มีนาคม 3557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น