วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บังกลาเทศแนะให้พม่านำผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยากลับประเทศ



มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (18 กรกฎาคม) ดอกเตอร์ดิพู โมนิ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของบังกลาเทศได้บอกกับนักการทูตพม่าว่าให้นำผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาทั้งหมดที่อยู่ในบังกลเทศกลับไปยังพม่า โดยอ้างว่า ชาวโรฮิงยานั้นเป็นพลเมืองของพม่า

 



ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของบังกลาเทศได้บอกกับนายเมียวมิ้น นักการทูตพม่าว่า พม่านั้นมีหน้าที่ที่จะต้องนำผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาทั้งหมดที่อยู่ในบังกลาเทศเกือบ 5 แสนคนกลับไปยังประเทศพม่า ทั้งนี้ก็เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้ดีขึ้น โดยทางบังกลาเทศจะให้ความช่วยเหลือในการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา ซึ่งรัฐมนตรีผู้นี้ยังกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส่วนใหญ่ยังต้องการที่จะเป็นพลเมืองของประเทศพม่า รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของบังกลาเทศยังเรียกร้องให้พม่าแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดน อย่างไรก็ตาม ทางการบังกลาเทศกล่าวชื่นชมรัฐบาลพม่าที่สามารถจัดการปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกันเมื่อเดือนที่แล้วให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย

 

ขณะที่พบว่า มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาในบังกลาเทศเพียง 30,000 คนเท่านั้น ที่มีเอกสารรับรองจาก UNHCR ขณะที่อีกกว่า 450,000 คน ยังไม่มีเอกสารรับรองใดๆ ซึ่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้ตัดสินใจเดินทางออกจากรัฐอาระกัน ทางภาคตะวันตกของพม่าข้ามมายังประเทศบังกลาเทศในช่วงปี 1990 หลังไม่สามารถทนการกดขี่และไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลพม่า โดยยูเอ็นเปิดเปิดเผยว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาเหล่านี้เป็นผู้ที่ถูกกดขี่และมีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายที่สุดในโลก

 

ขณะที่ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในรัฐอาระกันเมื่อเดือนที่แล้ว บังกลาเทศไม่ยอมให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาจากพม่าเข้าประเทศ แม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากนานาชาติให้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกัน ส่งผลให้ประชาชนในรัฐอาระกัน ทั้งชาวโรฮิงยาและชาวยะไข่กว่า 50,000 คน ต้องไร้บ้านและอาศัยอยู่ในค่ายที่พักพิงชั่วคราว

 

และดูเหมือนว่า หลังเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐอาระกัน สถานการณ์ของชาวโรฮิงยาจะยิ่งเลวร้าย เพราะล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีเต็งเส่งกล่าวว่า ชาวโรฮิงยาไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยของพม่า และชาวโรฮิงยาไม่เป็นที่ต้อนรับในพม่า โดยเต็งเส่งกล่าวว่า การแก้ปัญหาชาวโรฮิงยามีอยู่สองทาง คือ ส่งชาวโรฮิงยาไปยังประเทศที่สามและให้ชาวโรฮิงยาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย และเรียกร้องให้ทางยูเอ็นเข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้ ขณะที่ยูเอ็นปฏิเสธที่จะทำตามคำร้องขอของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ขณะที่เรื่องนี้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวโรฮิงยา

 

ที่มา Mizzima 19 กรกฎาคม 55 /ขอบคุณภาพจาก www.bengalnewz.com

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น