วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กองกำลังกะเหรี่ยงเตรียมช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งกลับประเทศ

new-refugee-3


สำนักข่าว Mizzima ออกมารายงานเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า กองกำลังกะเหรี่ยงที่เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงเตรียมที่จะให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในศูนย์อพยพในไทย หากผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องเดินทางกลับพม่า ขณะที่ไทยวางแผนที่จะส่งผู้ลี้ภัยจำนวน 1.3 แสนคนที่อาศัยอยู่ใน 9 ศูนย์อพยพในไทยกลับพม่า



สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3-5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทาง พล.อ.มิ้นอ่องหล่าย ได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการและได้เข้าพบกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะ คสช. และเมื่อวันศุกร์ที่ 11 กรกรฎาคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวในรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ ว่า ไทยและพม่าตกลงที่จะร่วมมือกันที่จะอำนวยความสะดวกในการส่งผู้ลี้ภัยจำนวน 1.3 แสนคนกลับพม่า


เกี่ยวกับการส่งผู้ลี้ภัยกล้บบ้าน ทางด้าน พันตรีหน่ายหม่องซอ จากกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) ในรัฐกะเหรี่ยงได้ออกมาเปิดเผยกับสำนักข่าว Mizzima เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า เตรียมที่จะประสานและทำงานกับกลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่นๆในรัฐกะเหรี่ยง เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ต้องกลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในพม่า


“เมื่อผู้ลี้ภัยกลับบ้าน พวกเขาไม่ใช่ผู้ลี้ภัยอีกต่อไป และไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ ดังนั้นพวกเราต้องหางานให้พวกเขาทำ เพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้” พันตรีหน่ายหม่องซอ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในเร็วๆนี้ ทางกลุ่มติดอาวุธกะเหรี่ยงหลายๆกลุ่มเตรียมที่จะร่วมหารือกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมระบุ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลพม่าอยู่อีกมาก


ทางด้าน อูล่าฉ่วย โฆษกจาก Myanmar Peace Center กล่าวว่า การส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศเป็นเรื่องที่จะต้องได้รับการแก้ไขในที่สุด และระบุว่า ในวันใดวันหนึ่งก็จะต้องพาผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับบ้าน และจะต้องพาพวกเขากลับไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่มีความขัดแย้งและสู้รบ


อีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวอิรวดีรายงานว่า แผนการส่งผู้ลี้ภัยกลับบ้านกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้ลี้ภัยชาวพม่า  นอ เด เด โพ รองเลขาธิการศูนย์อพยพแม่หละ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิรวดีว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในพม่ายังคงไม่แน่นอน โดยเปิดเผยว่า ยังไม่ควรที่จะส่งผู้ลี้ภัยกลับ หากยังไม่มีความปลอดภัย และไม่มีความมั่นคงทางอาหารและไม่มีงานทำสำหรับผู้ลี้ภัย ขณะที่ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามศูนย์อพยพเป็นผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งหนีภัยสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยงที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปี


แปลและเรียบเรียงจาก สำนักข่าว Mizzima /Irrawaddy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น